นักวิชาการมุสลิมที่เชี่ยวชาญปัญหาตะวันออกกลาง อธิบายปรากฏการณ์ขบวนพาเหรดส่งกำลังใจให้ปาเลสไตน์ ว่าเหตุใดจึงกลายเป็นมุมมองที่แตกต่างระหว่างคนพื้นที่ กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิม คือมีอารมณ์ร่วม และรู้สึกคับข้องใจ อึดอัดกับสถานการณ์การสู้รบที่ปาเลสไตน์ ซึ่งกลายเป็นสงครามยืดเยื้อและกำลังขยายวง
ที่สำคัญพี่น้องมุสลิมทั่วโลก รวมทั้งในไทย รู้สึกว่าคนปาเลสไตน์ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และที่ผ่านมาไม่มีใครช่วยได้ ประชาคมโลก-สื่อกระแสหลักก็ดูจะเอียงข้าง สถานการณ์แบบนี้ทำให้ชุมชนมุสลิมอึดอัด และต้องการแสดงออกบางอย่างในเชิงสัญลักษณ์ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความต้องการความเป็นธรรมให้กับพี่น้องปาเลสไตน์
อาจารย์ศราวุฒิ บอกอีกว่า คนมุสลิมไม่ได้มองว่าฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย การใส่ชุดทหารมุสลิมเป็นคอสเพลย์จึงเป็นเรื่องธรรมดา และทำกันทั่วไป หลายๆ ประเทศในโลกมุสลิมก็มีการแสดงออกแบบนี้ ไม่เฉพาะในไทย แม้แต่นักศึกษามุสลิมในอเมริกาก็แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน เป้าหมายคือต่อต้านการยึดครองปาเลสไตน์ และให้กำลังใจกลุ่มฮามาสที่ต่อสู้ขัดขวางการยึดครอง
สำหรับกิจกรรมที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อาจารย์ศราวุฒิ มองว่า เรื่องนี้กลายเป็นความละเอียดอ่อน เพราะความเข้าใจต่อสถานการณ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก
กล่าวคือการเอาใจใส่ต่อคนปาเลสไตน์ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ระหว่างเยาวชนคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับเจ้าหน้าที่รัฐไทย แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่รัฐไทยเข้าไม่ถึงความรู้สึก ความเห็นอกเห็นใจต่อชาวปาเสลไตน์ ซึ่งเป็นความรู้สึกร่วมของคนในพื้นที่ ทำให้มองอย่างไม่เข้าใจ และไม่ไว้วางใจ อาจโยงไปถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วยซ้ำ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจเป็นคนละเรื่องกันเลย
อาจารย์ศราวุฒิ เสนอว่า ทั้งฝ่ายความมั่นคง และประชาชนในพื้นที่ที่จัดกิจกรรม ควรเปิดพื้นที่สื่อสารกันมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมกันบริหารความรู้สึก จะได้ไม่เป็นปัญหาในระยะยาว
“เรื่องนี้คิดว่ารัฐเองก็ต้องเรียนรู้ ขณะเดียวกันทางเยาวชนที่พยายามจะแสดงออกก็ควรจะมีขอบเขตจำกัด แล้วก็พยายามที่จะอธิบายให้กับสังคมได้เข้าใจร่วมกันด้วย ไม่ใช่ตัวเองเข้าใจอย่างเดียว แต่ต้องอธิบายได้ว่าตัวเองกำลังเคลื่อนไหวอะไร อย่างไร อย่างน้อยก็ต้องแสดงตัวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนี้มันเป็นความรู้สึกทางด้านมนุษยธรรม เป็นเรื่องของประชาคมโลกเดียวกัน”
“เรื่องนี้ต้องระวังไม่ให้มีการแสดงออกโดยไม่ได้อธิบายอะไรเลย จนกระทั่งทำให้เกิดข้อสงสัย นำไปสู่ความเข้าใจผิด ความหวาดระแวง เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องพยายามทำงานร่วมกันให้มากยิ่งขึ้น และสร้างความเข้าใจระหว่างกัน”