สรุปแล้ว “กลุ่มป่วนใต้” เตรียมใช้ “โดรน” เป็นอาวุธใหม่ถล่มฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่?
เพราะหน่วยข่าวกรองทางทหาร ออกมาเตือนว่ามีการฝึกบินโดรนกันในพื้นที่ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดย “อิมพอร์ต” ผู้เชี่ยวชาญมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดการฝึกอบรมกันเลยทีเดียว
แต่เมื่อสอบถาม โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กลับบอกว่าเป็น “ข่าวเก่า” ไม่ต้องตกใจ ยังไม่เคยมีการใช้โดรนจริงๆ ในพื่นที่
ทว่าเมื่อลองถามกำลังพลที่ “รบจริง - เจ็บจริง” กลับได้รับข้อมูลไปอีกทาง เพราะหลายคนบอกว่า เคยเผชิญหน้ากับ “โดรน” มาแล้ว ถึงขั้นไล่ยิงด้วยซ้ำ แต่ยิงไม่โดน
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบย้อนหลังถึงข้อมูลที่ปรากฎเป็นข่าว กรณีการใช้ “โดรน” หรือ “อากาศยานไร้คนขับ” ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้สอดแนม หรือบินวนดูฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นำข้อมูลไปวางแผนก่อนบุกเข้าโจมตี ปรากฏว่ามีรายงานว่าพบ “โดรนสอดแนม” มาแล้วหลายครั้ง
ครั้งแรก วันที่ 15 พ.ค.61 ตอนเช้ามืด คนร้ายบุกโจมตีฐานชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. ในพื้นที่ ตำบลบาโงยซิแน อำเภออยะหา จังหวัดยะลา ทำให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
โดยก่อนเกิดเหตุโจมตีประมาณ 2 วัน มีเจ้าหน้าที่พบ “โดรน” บินวนรอบๆ ฐาน เวลาประมาณตี 3 เจ้าหน้าที่จึงใช้ไฟฉายส่องดู จากนั้นโดรนก็บินหนีไป ถัดมาเพียง 2 วัน ฐานปฏิบัติการก็ถูกโจมตี
ต่อมาวันที่ 17 พ.ค.61 เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัยหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ตำบลเดียวกับฐานปฏิบัติการที่ถูกโจมตี ปรากฏว่าพบ “โดรน” 1 ลำ ในสภาพพร้อมใช้งาน เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึด และคุมตัวเจ้าของบ้านไปสอบสวน
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้ออกประกาศ เป็นมาตรการห้ามใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” ในพื้นที่ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกถึง 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท
ข่าวการพบ “โดรน” เงียบหายไปนาน กระทั่งมาปรากฎเป็นข่าวการใช้ “โดรน” ของคนร้ายอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ปีที่แล้ว เป็นเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งมีข้อมูลว่า ก่อนเกิดเหตุโจมตีฐาน เจ้าหน้าที่เห็น “โดรน” บินวนสำรวจก่อนก่อเหตุ
ถัดจากนั้น ในวันที่ 18 พ.ค.ปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจพบ “โดรน” บินสำรวจบริเวณหลังโรงพักจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่พยายามใช้ปืนยิง แต่ไม่ถูกตัวโดรน เหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์ล่าสุดที่มีการพบ “โดรน” ในพื้นที่ชายแดนใต้
@@ ตำรวจ-ทหารใต้ ฝึก-ใช้โดรนทำภารกิจ
ส่วนการนำโดรนมาใช้ในภารกิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้น พบว่า เริ่มมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในหลายๆ หน่วย โดยเฉพาะกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในการบังคับโดรน เมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 ซึ่งในครั้งนั้นมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 48-50 นาย รวมทั้งหมด 246 นาย
ปัจจุบันจะพบเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วย นำโดรนมาใช้ในการบินสำรวจในหลายๆภารกิจ ทั้งการบินตรวจสอบที่เกิดเหตุ, บินตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย หรือปิดตรวจสอบความเคลื่อนไหวของคนร้ายในระหว่างการปิดล้อม
@@ ใต้ดุ! วิฯ 2 ศพ ยึดปืนติดกล้อง สงสัยสไนเปอร์?
ความน่าสนใจของสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยังไม่จบ
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.67 มีเหตุปิดล้อม ตรวจค้น ยิงปะทะ ในพื้นที่ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 ราย แต่ละคนประวัติก่อเหตุเพียบ
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ พบอาวุธปืนในบ้านที่เป็นแหล่งกบดานหลายกระบอก เป็นอาวุธปืนสงคราม พร้อม “ท่อลดเสียง” หรือ “ท่อเก็บเสียง” และ “ลำกล้องวัดระยะ” ทำให้มีกระแสวิจารณ์ว่า นี่คืออุปกรณ์ของ “สไนเปอร์” หรือไม่ และที่ชายแดนใต้มีการฝึก “สไนเปอร์” ในลักษณะ “พลซุ่มยิง” คอยดักสังหารเจ้าหน้าที่ด้วยหรือ
ย้อนกลับไปดูจุดปะทะ เป็นบ้านเช่าในพื้นที่ตำบลน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี
ผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ
นายมะซอบรี บาเหะ อายุ 29 ปี มีหมายจับ 3 หมาย ในคดีลอบวางเพลิงร้านบิ๊กซีมินิ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ปี 65 และก่อเหตุแบบเดียวกับกับร้านบิ๊กซิมินิ พื้นที่เดียวกัน วันที่ 21 มี.ค.ปี 66
นอกจากนั้นยังมีคดีซุ่มโจมตีตำรวจ กับ อส. อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตถึง 4 นาย บาดเจ็บ 5 นาย เมื่อวันที่ 8 พ.ย.66
อีกคนคือ นายอัสฮาร์ เจะเลาะ อายุ 32 ปี มีหมายจับ 1 หมาย ในคดีวางเพลิงบิ๊กซีมินิ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ปีที่แล้ว เหตุการณ์เดียวกับนายมะซอบรี
เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้าน พบอาวุธปืนล็อตใหญ่ แต่ที่น่าสนใจคือ อุปกรณ์ประกอบปืน
-เอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก
-เอเค 47 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งทั้งหมดเป็นอาวุธสงคราม
-ปืนพกสั้น ขนาด .357 จำนวน 1 กระบอก
-ปืนพกสั้น ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก
-ถุงเก็บปลอกกระสุน จำนวน 1 ถุง
-ท่อลดเสียง จำนวน 2 อัน
-กล้องวัดระยะ จำนวน 1 อัน
-บุหรี่หนีภาษี จำนวนหลายลัง
อุปกรณ์ที่ยึดได้ เจ้าหน้าที่สันนิษฐานเอาไว้แบบนี้
1.เป็นการใช้อาวุธในลักษณะโจมตีเป้าหมายแบบมืออาชีพ ป้องกันการถูกสืบสวนไล่ล่า เพราะมีถุงเก็บปลอกกระสุน
2.มีลักษณะการก่อเหตุแบบ “ลอบสังหาร” เพราะมี “ท่อลดเสียง” ที่ติดกับปากกระบอกปืน และกล้องวัดระยะ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของ “พลซุ่มยิง” หรือ “สไนเปอร์”
3.การพบบุหรี่เถื่อนจำนวนมาก ถ้าไม่ได้มีไว้สูบเอง แสดงว่าอาจพัวพันกับขบวนการค้าของเถื่อน แล้วนำเงินมาใช้ก่อความไม่สงบหรือไม่
@@ ปืนสไนเปอร์ เจอมาแล้ว 2 ครั้งที่ชายแดนใต้
ประเด็นสไนเปอร์ ถือว่าน่าสนใจ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่พบอุปกรณ์ติดปืนลักษณะนี้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ตัวอาวุธปืน กับขนาดกระสุนที่พบ ยังไม่เข้าข่ายเป็นสไนเปอร์
แต่ที่เคยพบปืนที่ใช้ซุ่มยิงแน่ๆ พบเมื่อวันที่ 3 ก.พ.65 หลังปิดล้อม และวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุรุนแรง 3 ราย และยึดปืนได้ 3 กระบอก หนึ่งในนั้น เป็นอาวุธปืนไรเฟิล เรมิงตัน 700 ติด “สโคป” หรือ “ลำกล้องวัดระยะ” สำหรับใช้ในการซุ่มยิง ซึ่งสามารถซุ่มยิงได้ในระยะไกล และมีความแม่นยำสูง
ความต่างของ “ปืนสไนเปอร์” กับอาวุธสงครามทั่วไป คือ “ปืนสไนเปอร์” จะเป็นอาวุธปืนไรเฟิลที่กระสุนมีระยะทำการไกลกว่าปกติ เนื่องจากจะใช้กระสุนความเร็วสูงที่ออกแบบให้ใช้กับปืนยาวแบบลูกเลื่อนสไลด์ โดยปืนจะมี “สโคป” หรือ “ลำกล้องวัดระยะ” ติดกับปืน เพื่อช่วยในการเล็งแบบส่องย่นระยะทาง เพื่อให้เห็นเป้าหมายที่อยู่ในระยะไกล
นอกจากนั้นยังเคยพบอาวุธปืนแบบเดียวกันใน อำเภอระแง จังหวัดนราธิวาส มาแล้วด้วย!
---------------------
ขอบคุณกราฟฟิก จากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี