การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง และเส้นทางเชื่อมต่อจากอำเภอเมืองปัตตานี สู่ “แหลมตาชี” อ.ยะหริ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวระดับ “อันซีน” นั้น มีการพูดคุยและศึกษากันมาเนิ่นนาน
แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีบุคคลระดับรัฐมนตรีใส่ใจลงพื้นที่เพื่อแปรแผนพัฒนาบนกระดาษ สู่ภาคปฏิบัติ และรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง
“แหลมตาซี” เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว “อันซีน” ของปัตตานี มีลักษณะเป็นชายหาดที่มีปลายแหลมโค้งคล้ายรูปตัว C เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลในลักษณะสันดอนจะงอย
โดยปลายแหลมจะงอกเพิ่มขึ้นทุกปี กลายเป็นแหลมกั้นอ่าวปัตตานีที่เรียกว่า “ทะเลใน” กับอ่าวไทย ที่เรียกว่า “ทะเลนอก” โดยที่แหลมตาชีสามารถชมทัศนียภาพได้ทั้งในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
ทั้งนี้ ปลายแหลมตาชี ยื่นไปทางอำเภอเมืองปัตตานี แต่การเดินทางโดยรถยนต์กลับมีระยะทางไกล เนื่องจากต้องไปอ้อม อ.ยะหริ่ง ที่ผ่านมาจึงมีแนวคิดสร้างระบบขนส่งเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเดินทางด้วยเรือจากอ่าวปัตตานีไปแหลมตาชี ซึ่งแม้จะสะดวกกว่า แต่ก็ยังขาดแคลนท่าเรือท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ
“แหลมตาชี” ตั้งอยู่ที่ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง มีสภาพพื้นที่เป็นแหลมดินทราย ทิศเหนือติดกับอ่าวไทย ทิศใต้ติดกับอ่าวปัตตานี ทิศตะวันออกติดกับ ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง และทิศตะวันตกติดกับอ่าวไทย มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 6,860 ไร่ แยกเป็น
1.พื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี (15 ธ.ค.30, 22 ส.ค.43, 17ต.ค.43) จำนวน 2,248 ไร่
2.พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 375 ไร่
3.พื้นที่ที่ราษฎรได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว (ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์) จำนวน 4,612 ไร่ ซึ่งบางพื้นที่ทับซ้อนกับป่าชายเลนและป่าสงวนแห่งชาติ
สภาพอากาศ มีคลื่นเล็กน้อย-ปานกลางในช่วงมรสุม ต.ค.- ก.พ. ประมาณ 4 เดือน ความลึกของน้ำด้านอ่าวไทย อยู่ในระดับ 5-7 เมตร ด้านอ่าวปัตตานี ระดับ 2-4 เมตร มีสถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งด้านอ่าวไทยบางช่วงในพื้นที่ชายฝั่งบ้านบุดี
ขณะเดียวกันคลื่นได้พัดตะกอนทรายมาถมบริเวณปลายแหลมตาชี เกิดเป็นพื้นดินงอก ทำให้ปัจจุบันจากจุดปลายสุดของแหลมตาชีไปยังปากแม่น้ำปัตตานี มีระยะทาง 3 กิโลเมตร และมีความยาวเข้าไปยังพื้นที่ป่าชายเลนบางปู ระยะทาง 11.25 กิโลเมตร และมีความกว้างจากจุดกึ่งกลางแหลมตาชีข้ามอ่าวปัตตานีมายังแหลมนก มีระยะทาง 5.21 กิโลเมตร
@@ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางบก-ทางน้ำ
“แหลมตาชี” สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั้งในพื้นที่ปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทางบกและทางน้ำ มีถนนหลวงชนบทสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ตั้งแต่ ต.บานา - ตันหยังลุโละ - บาราโหม - บางปู ไล่ขึ้นไปถึงชุมชนด้านบนของอ่าวที่เที่ยวได้ทั้งทะเลนอก และทะเลในอ่าวปัตตานี อย่างตะโละกาโปร์-ดาโต๊ะ ไปจนถึงสุดปลายแหลมตาชี ดังนี้
1.ล่องเรือในแม่น้ำปัตตานีชมบ้านเรือนและชุมชนเมืองปัตตานียามค่ำคืน
2.ชุมชนเมืองเก่าปัตตานี สักการะเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ณ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง และชุมชนเก่าแก่ย่าน “กือดาจีนอ” หรือชุมชนจีนหัวตลาด
3.แลนด์มาร์คแหลมนก มีร้านอาหารทะเลขึ้นชื่อหลายแห่ง มีสะพานไม้บานา และไฮไลต์สำคัญที่ทำให้ ต.บานา เป็นที่รู้จัก คือเป็นแหล่งผลิต “เกลือหวานปัตตานี”
4.มัสยิดกรือเซะ โบราณสถานที่สำคัญ มัสยิดเก่าแก่อายุหลายร้อยปี
5.ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม บางปู และอุโมงค์ป่าโกงกาง
6.ชายหาดปลายแหลมโค้งคล้ายรูปตัว C ของแหลมตาชี เกิดจากสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเล ซึ่งจะงอกเพิ่มขึ้นทุกปี นับเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ทั้งยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกได้ในจุดเดียวกัน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแสดงถึงวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน
@@ พัฒนาระบบขนส่ง-สาธารณูปโภค หนุนการท่องเที่ยว
สำหรับการพัฒนาระบบการขนส่งเพื่อสนับสนุนและยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่แหลมตาชี มีดังนี้
1.การพัฒนาการเดินทางด้วยอากาศยานทางทะเล (Seaplane) เพื่อสนับสนุนและยกระดับการท่องเที่ยวแหลมตาชี มีพื้นที่เหมาะสม จำนวน 2 จุด คือ
จุดที่ 1 บริเวณปลายแหลมตาชี มีขนาดความยาว 2,000 เมตร ความกว้าง 300 เมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น จำนวน 395 ไร่
จุดที่ 2 บริเวณบ้านบุดี ด้านอ่าวไทย มีขนาดความยาว 1,800 เมตร ความกว้าง 230 เมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น จำนวน 300 ไร่
ทั้งสองจุดไม่มีเอกสารสิทธิ์มีความเหมาะสมที่จะพัฒนารูปแบบการเดินด้วยอากาศยานทางทะเล (Seaplane) เพื่อสนับสนุนและยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานีต่อไป
2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาทิ การขยายถนน ระบบน้ำ ไฟฟ้า และท่าเรือขนาดเล็กรองรับการพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานระดับโลก
“แหลมตาชี” ห่างจากท่าเรือปัตตานี (ท่าเรือชายฝั่งปัตตานี) ระยะทาง (ทางบก) 46 กิโลเมตร ระยะทาง (ทางน้ำ) 3 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานปัตตานี ระยะทาง 60 กิโลเมตร
สามารถเดินทางจากตัวเมืองปัตตานี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ประมาณ 12 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบท ปน.2062 ระยะทางรวมจากตัวเมืองปัตตานี ประมาณ 43 กิโลเมตร
นอกจากนี้ สามารถเดินทางทางน้ำ โดยนั่งเรือท่องเที่ยวจากปากแม่น้ำปัตตานีตรงไปยังแหลมตาชี ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
@@ เกิดเหตุรุนแรงแค่ 5 เหตุก่อนปี 60
ส่วนข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ ของแหลมตาชี มีประชากรอาศัยอยู่ จำนวน 1,450 ครัวเรือน จำนวน 10,406 คน นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รองลงมาเป็นเกษตรกรรม ร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นค้าขายและรับจ้างทั่วไป
ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เน้นไปในภาคการประมง เกษตรกรรม ปศุสัตว์ เลี้ยงแพะ แกะ ทั้งมีภาคบริการ รีสอร์ท ร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติทางทะเล
ขณะที่ข้อมูลด้านสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พื้นที่ “แหลมตาชี” ต.แหลมโพธิ์ มีเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงก่อนปี พ.ศ.2560 จำนวน 5 เหตุการณ์ แต่หลังจากได้มีการส่งเสริมเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่แหลมตาชี ได้ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพจากการท่องเที่ยว ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่มีการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในพื้นที่บ้านกำปงบูดี บ้านปาตาบูดี และบ้านดาโต๊ะ
@@ เปิดเวทีรับฟังแนวทางพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง
ช่วงบ่ายของวันพุธที่ 24 เม.ย.2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายแพทย์สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปยังมัสยิด อัล-นูร์ ปลายแหลมตาชี เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะ เพื่อสนับสนุนและยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ระหว่างอำเภอเมืองปัตตานี กับแหลมตาชี โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ก่อนหน้านั้นในช่วงเช้า พ.ต.อ.ทวี และ นพ.สุรพงษ์ จะไปรับฟังรายงานข้อมูลและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ปัตตานี ที่ห้องประชุมพญาตานี อาคาร 2 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี
โดยจะมีการรับฟังข้อมูลด้านการขนส่งทางบก โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานี กรมการขนส่งทางบก, ด้านการขนส่งทางราง โดยศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนใต้ การรถไฟแห่งประเทศไทย, ด้านการขนส่งทางอากาศ โดย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และข้อมูลสนับสนุน ตลอดจนข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
โอกาสนี้จะเปิดเวทีรับฟังประชาชน ภาคประชาสังคม และ สส.ในพื้นที่ด้วย
@@ เยี่ยมคุกปัตตานี สั่งจัดการศึกษาให้ผู้ต้องขัง
ก่อนหน้านั้น วันอังคารที่ 23 เม.ย. พ.ต.อ.ทวี พร้อมคณะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เรือนจำกลางปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้ต้องขัง พร้อมรับฟังรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานตลอดปีที่ผ่านมา เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผู้ต้องขัง
พ.ต.อ.ทวี กล่าวระหว่างพบปะผู้ต้องขังว่า อยากมาเยี่ยมและมาพูดเรื่องสิทธิของผู้ต้องขัง ซึ่งราชทัณฑ์ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทุกคน การศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้ฟรี อย่างน้อยที่สุดต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สำหรับคนที่เรียนจบ ม.6 แล้ว ก็ยังสั่งให้กรมราชทัณฑ์ช่วยพัฒนาศักยภาพเรื่องอาชีพ เรื่องความรู้ศาสนา และมีโอกาสได้เยี่ยมญาติ
“อะไรที่เป็นสิทธิของพวกเราก็จะช่วยดูแล” พ.ต.อ.ทวี ให้คำมั่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวให้กำลังใจผู้ต้องขังด้วยว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะก้าวพลาดได้ แต่การก้าวพลาดก็ไม่อยากให้พวกเราน้อยเนื้อต่ำใจ อดีตเป็นบทเรียน ปัจจุบันและอนาคตคือความรับผิดชอบ วันนี้ได้มาเยี่ยม ได้มาเห็น อยากให้มองเป็นโอกาส
“ผมอยากให้โอกาส จะทำอย่างไรให้โอกาสทุกท่านได้รับสิ่งดีๆ ขอให้กำลังใจ ขอให้สันติสุขจงเกิดแก่ทุกท่าน”