''วันนอร์'' ถอดบทเรียน ''6 ปี ประชาชาติ'' ตั้งเป้าเลือกตั้งครั้งหน้ากวาด 15 สส. - ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ล้านคะแนน จอง 3 เก้าอี้รัฐมนตรี เป็นรัฐบาลอีก 1 สมัย โชว์เก๋าเจาะรายเขตหวังชนะยกจังหวัดยะลา ปัตตานี ส่วนนราธิวาสขอ 3 ที่นั่ง เตือนสมาชิกเร่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีก่อนพ่ายก้าวไกล
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ในฐานะ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ บรรยายพิเศษ ''ถอดบทเรียน 6 ปี พรรคประชาชาติ'' ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 ของพรรค ที่โรงแรมอัลมีรอซ กรุงเทพฯ
โดยระบุตอนหนึ่งว่า “พรรคประชาชาติเติบโตขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น มีจำนวนสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้น และมีจำนวน สส.มากกว่าปี 2562 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้น 20-30% เป็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะหลายพรรค จำนวน สส.ลดลง แต่พรรคก็ยังจะต้องพัฒนาอีกใน 4 ปีข้างหน้า สส.จาก 9 คน จะต้องเป็น 14-15 คนอย่างน้อยตามสัดส่วนเดิม 20-30% ซึ่งจะทำให้พรรคประชาชาติกลายเป็นพรรคขนาดกลาง จากพรรคขนาดเล็ก”
พร้อมประกาศว่า “การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาชาติจะต้องเป็นพรรครัฐบาลอีกรอบแน่นอน และหากพรรคได้จำนวน สส. 14-15 คน ก็จะได้โควตารัฐมนตรี 3 คน เป็นรัฐมนตรีว่าการ 1 ที่นั่ง และรัฐมนตรีช่วย 2 ที่นั่ง สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับคะแนนเสียงการเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาชาติ ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 200,000 เสียง เทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคได้ 400,000 กว่าเสียง ฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคจะต้องได้ 1,000,000 เสียง หรือให้ได้ สส.บัญชีรายชื่อ ประมาณ 3-4 ที่นั่ง”
นายวันมูหะมัดนอร์ ยังวิเคราะห์แบบเจาะเขตเลือกตั้งรายจังหวัดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า
จ.ยะลา ครั้งนี้พรรคประชาชาติได้ 3 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะต้องรักษาให้ได้ 3 ที่นั่งเช่นเดิม
จ.ปัตตานี สส. 5 คน พรรคได้มา 3 ที่นั่งจากเดิม 2 ที่นั่ง ก็มั่นใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะกวาดทั้งจังหวัด 5 ที่นั่งได้แน่นอน
จ.นราธิวาส พรรคได้มา 1 ที่นั่ง แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หวังว่าจะได้ 3 ที่นั่ง ซึ่งในต้นเดือน มิ.ย.นี้ มีกิจกรรมประธานสภาพบประชาชน ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร และตนก็ได้เลือกแล้วว่า ประธานสภาพร้อมข้าราชการสภา จะไปพบประชาชนที่ จ.นราธิวาส เพื่อให้ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาสเพียงหนึ่งเดียวของพรรค ทำให้ได้ สส.มากขึ้น
และตนก็จะไปดูว่า ที่พรรคไปหาเสียงเลือกตั้งแถบชายทะเลนราธิวาส พบว่าชาวบ้านใช้ไฟฟ้าแพง และเป็นชุมชนแออัด จะสามารถแก้ไขปัญหาใดได้บ้าง รวมทั้งที่ดินบนเทือกเข้าบูโดที่รัฐบาลจะยึดไป เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มาเช่า ซึ่งตนก็จะไปติดตามปัญหานี้ด้วย เพราะประชาชนอยู่และทำกินมากว่า 50 ปี เหตุใดจึงต้องให้ประชาชนในพื้นที่ไปเช่า ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ยุทธศาสตร์พรรคประชาชาติ เป้าหมายการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความชัดเจน และกรรมการบริหารพรรคได้มีการถอดบทเรียนจากผลคะแนนรายเขตแล้ว เขตใดชนะ แพ้ หรือสูสี ดังนั้นจะต้องดูรายละเอียดเป็นรายเขตเลือกตั้ง และไปเอาหัวคะแนนที่ทำงานแต่ละหน่วยดูว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
อีกประเด็นหนึ่งคือ พรรคมีกระแสในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ในพื้นที่อื่นๆ พรรคยังไม่ได้รับการเลือกตั้ง เช่น บางพื้นที่คะแนนบัญชีรายชื่อชนะพรรคการเมืองอื่น แต่ สส.แบบแบ่งเขตแพ้ ดังนั้นหากจะให้พรรคโต จะต้องสร้างกระแส รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญในยุคปัจจุบัน คือ “เทคโนโลยี’’ ที่ผู้สมัครพูดเก่ง แต่ไม่ปรากฏในสื่อออนไลน์ ในสื่อมวลชน หรือไม่เป็นข่าว ก็จะแพ้
และถ้าหากไม่มีการชี้แจงให้ชัดเจนเหมือนปัญหาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยจะยึดคืน ประชาชนก็จะเชื่อในข่าวลือ หรือสื่อที่ไม่มีความเข้าใจ ดังนั้นจะต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะปรับคณะรัฐมนตรีกี่รอบ หรือปรับนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เกี่ยวข้องกับประธานสภาผู้แทนราษฎร
“เรื่องนี้สะท้อนว่าสื่อเทคโนโลยีปัจจุบันมีความสำคัญ หากผู้สมัคร สส.ยังไม่ทำ ก็จะแพ้พรรคการเมืองอื่นแน่นอน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคคู่ต่อสู้ของทุกพรรคการเมือง แม้ตัวบุคคลในพื้นที่ชายแดนใต้จะไม่ได้ชนะพรรคประชาชาติ หรือพรรคการเมืองอื่น แต่พรรคก้าวไกลมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยวิธีการใหม่ๆ จึงถึงเวลาแล้วที่พรรคประชาชาติจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจัง และมั่นใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาชาติจะได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง”