ปัญหาไฟใต้รอบปัจจุบันของประเทศไทย ดำเนินมากว่า 20 ปี แต่วันนี้เรายังตั้งกรรมการศึกษาปัญหา และแนวทางแก้ไขกันอยู่เลย
ประชาชนคนเดินถนนอย่างเราๆ ท่านๆ จะมีหวังกันตรงไหน เพราะแต่เดิมคิดว่ามียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่จะเอาชนะผู้ก่อความไม่สงบ สถาปนาความสงบสันติสุขให้ได้โดยเร็วอยู่แล้ว แต่ไปๆ มาๆ เมื่อเริ่มตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที ก็ศึกษากันที และตั้งคณะพูดคุยสันติภาพ สันติสุข กันใหม่อยู่ร่ำไป
ไม่ต่างอะไรกับพายเรือวนในอ่าง...
ล่าสุดรัฐบาลเศรษฐา 1 และสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ก็เดินย่ำรอยเก่า คือ นายกฯตั้งคณะพูดคุยคณะใหม่ และสภาก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาอีกชุด คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้”
หากสอบถามความเห็นของคนทั่วไป ก็คงอยากให้การตั้งคณะทำงาน คณะกรรมาธิการ ฯลฯ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และดับไฟใต้ให้สำเร็จลุล่วงไปเสียที
แต่ความหวังของประชาชนคนไทยจะเป็นจริงได้หรือไม่ เพราะในการประชุม กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ มีการเชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับปัญหาไฟใต้และกระบวนการสันติภาพเข้าชี้แจง
ปรากฏว่า “กูรู” ทั้งหลายแสดงทัศนะไปแทบจะทิศทางเดียวกันว่า สิ่งที่ทำมา ทำอยู่ และกำลังจะทำต่อ ดูจะผิดทิศผิดทาง ผิดฝาผิดตัว
แม้แต่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หรือ “บิ๊กเจี๊ยบ” ซึ่งรับราชการอย่างยาวนานในกองทัพภาคที่ 4 เคยมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการสันติภาพระหว่างมาเลเซีย และไทย กับขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และท่านก็ยังเป็นอดีตทหาร ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็ยังยืนยันว่า การวางบทบาทของทหารในภารกิจดับไฟใต้ยังไม่ถูกต้องลงตัวนัก
ทำนองว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่จะเสกสันติสุขได้ โดยเฉพาะในมุมที่ทหารอาจจะไม่เข้าถึง และไม่เข้าใจ ก็คืออัตลักษณ์ และวัฒนธรรม
แต่ที่ผ่านมาทุกอย่างถูกเทไปที่ทหาร กองทัพ และแม่ทัพภาคที่ 4
“ทีมข่าวอิศรา” คัดย่อเนื้อหาคำชี้แจงของ พล.อ.อกนิษฐ์ หรือ “บิ๊กเจี๊ยบ” ที่ชี้แจงของ “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” ในหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจ มาเผยแพร่ต่อสาธารณชน
@@ เจรจาให้จบต้องคุยลับ ไม่ใช่บนโต๊ะ?
พล.อ.อกนิษฐ์ เริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพ ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ซึ่งยังมองไม่เห็นแววสำเร็จ เพราะมันช่างแตกต่างกับการเจรจาที่ “จบบริบูรณ์” ในอดีต กับสถานการณ์การสู้รบของ จคม. ซึ่งตนเองมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลัง
“การวางอาวุธหยุดการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ใช้เวลาดำเนินการโดยภาครัฐราว 6 ปีครึ่ง โดยการทำงานใต้ดิน ไม่ให้ปรากฏเป็นข่าว มีการมอบตัวตลอดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการยุติการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในระยะแรกที่เกี่ยวกับมาเลเซีย”
“ต่อมาในระยะที่ 2 เรื่องการก่อการร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดสงขลาและภาคใต้ ภาครัฐใช้การเจรจาแบบทางลับเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่ง จนนำไปสู่การยุติการใช้อาวุธ มีการรายงานตัวเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ถือเป็นการยุติบทบาทการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประทศไทยในห้วงปี 2535”
“สำหรับประเด็นการพูดคุยปัญหาภาคใต้ที่ถือเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 2535 ที่ประเทศอียิปต์ ณ กรุงไคโร โดยกองทัพภาคที่ 4 พูดคุยกับขบวนการพูโล จากนั้นพูดคุยกับ BRN จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี นำไปสู่การยุบ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43) และ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้น”
“กอรปกับมีการยกเลิกกฎหมายการให้อำนาจทหารในการควบคุมจัดการพื้นที่ แล้วมอบอำนาจให้ตำรวจไปทำหน้าที่แทน ในปี 2545 ทุกอย่างจึงเหมือนจะยุติ”
“ส่วนประเด็นเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นขบวนการใดเป็นผู้ก่อเหตุและอยู่เบื้องหลัง มีการกล่าวอ้างจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่าเป็น BRN พูโล เบอร์ซาตู แต่จากการสอบถามไปยังผู้นำขบวนการ โดยความรู้จักส่วนตัว ได้รับการปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุในการปล้นปืนครั้งนั้น”
“จะเห็นได้ว่าหากหน่วยข่าวในพื้นที่มีประสิทธิภาพในการทำงานด้านการข่าวจริง จะต้องล่วงรู้ถึงกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังในการปฏิบัติการครั้งนั้น”
@@ ดึงมาเลย์ร่วมวง...หลงทาง ยกระดับไฟใต้
“การลงนามกระบวนการพูดคุยสันติภาพในปี 2556 (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นคนกลาง ผมคัดค้านกับวิธีการดำเนินการครั้งนั้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาในระดับพื้นที่ แต่การไปลงนามกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ทำให้ปัญหาขยายความขึ้นเป็นปัญหาระดับชาติ และยกระดับไปสู่สากล”
“ส่วนตัวเห็นว่าการทำงานในลักษณะนี้จะต้อง ‘รู้เขา รู้เรา’ ถึงจะทำงานสำเร็จลุล่วง การที่ประเทศมาเลเซียเสนอตนเองเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจา โดยเป็นคนกลาง อาจยังไม่สามารถยุติความรุนแรงหรือการก่อเหตุในพื้นที่ลงได้”
“เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นหลายครั้งที่ผ่านมาในพื้นที่ ในความเป็นจริงเกิดจากสาเหตหลายเรื่อง ทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องการขัดแย้งผลประโยชน์ และอื่นๆ แต่ถูกเหมารวม ไม่ได้มีการแยกแยะ”
@@ รู้เขา รู้เรา...รู้หรือยัง?
“ผมเคยซักถามไปยังผู้นำขบวนการ BRN ได้รับคำตอบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากกลุ่มตนทั้งหมด ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าประเทศไทยรู้ถึงต้นตอที่แท้จริงของสภาพปัญหาหรือไม่ เรื่องเหล่านี้หน่วยการข่าวของประเทศไทยต้องหาคำตอบให้ได้ ถึงจะเข้าหลักเกณฑ์ ‘รู้เขา รู้เรา’ ซึ่งต้องรู้และรู้ให้จริง รวมถึงการรู้ถึงประเทศมาเลเซียในเรื่องที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาเป็นคนกลางเพราะเหตุใดด้วย”
“เราประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีคนที่หลบหนีจากฝั่งไทยไปอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ทุกคนจะถูกขึ้นบัญชีไว้หมดโดยสันติบาลมาเลเซีย ส่วนอีกหน่วยจะทำงานนอกประเทศในการเจรจาลงนาม โดยมาเลเซียจะนำหน่วยข่าวกรองมาเลเซีย หรือ RD มาเป็นผู้แทน มานั่งพูดคุย ส่วนผู้จัดเป็นหน่วยสันติบาลของมาเลเซีย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นทหารเข้ามาทำหน้าที่แทนสันติบาลมาเลเซีย (ผ่านผู้อำนวยความสะดวกคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นทหาร) บทบาทของสันติบาลและ RD ในมาเลเซียถอยมาอยู่เบื้องหลัง”
“ผมเคยตั้งข้อชักถามไปยังมาเลเซียว่าทำไมไม่ออกมาอยู่เบื้องหน้าแบบเปิดเผย ในประเด็นนี้ได้รับคำตอบว่า มาเลเซียไม่สามารถช่วยเหลือประเทศไทยได้อย่างเปิดเผย เพราะชาวมุสลิมอาจจะตำหนิในเรื่องการช่วยคนต่างศาสนาในการจัดการกับพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง”
“การที่รัฐบาลไทยกลัวเรื่องแบ่งแยกดินแดนเป็นประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากหมดยุคสมัยที่จะมีแนวความคิดนี้เกิดขึ้นแล้ว เพราะประเทศมาเลเซียไม่ได้ต้องการดินแดนตรงนี้ แต่ดินแดนตรงนี้คนที่อาศัยอยู่มีขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา วัฒนธรรม รวมทั้งแนวความคิดเหมือนกับคนในประเทศมาเลเซีย ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องการดินแดน”
@@ แนะจัดบทบาทใหม่ แม่ทัพรับจบทุกมิติไม่ได้
“สำหรับสิ่งที่รัฐบาลไทยควรดำเนินการในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในความเห็นส่วนตัว คือการจัดกำลังที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่ในพื้นที่ โดยให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้นำ เพราะมองแนวคิดเป็น 2 มิติ คือมิติการทำงานของฝ่ายทหาร และตำรวจ หากเหตุที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะธรรมดา ก็ให้ตำรวจเข้าคลี่คลาย แต่หากเป็นเหตุที่ซับซ้อนหนักหน่วงรุนแรง ให้หน่วยงานทหารเข้าไปดำเนินการ”
“ส่วนประเด็นในเรื่องความต้องการทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษาของคนในพื้นถิ่นที่เรียกร้องมาโดยตลอด ขอนำเรียนว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อย่างแน่นอน แต่ในปัจจุบันกลับมอบอำนาจให้แม่ทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบดำเนินการในทุกๆ เรื่อง และในทุกมิติ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด”
@@ มีชีวิตกลางไฟใต้...ใครต้องเคลียร์ใจเยาวชน
“หากย้อนมองไปที่ชาวมุสลิมที่ยากจน มีพื้นที่ว่างเปล่ามากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุใดรัฐไม่จัดสรรให้กลุ่มคนเหล่านี้ไว้ทำกิน และรัฐควรช่วยชาวบ้านคิดในเรื่องฝึกอาชีพ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ด้วย”
“ขณะเดียวกันต้องทำความเข้าใจเยาวชนในพื้นที่ เพราะพวกเขาเกิดมาก็ได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืนอยู่แล้ว ได้ยินมา 20 ปี ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ ชีวิตพวกเขาไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สันติภาพ สันติสุข จนเกิดเป็นปัญหาความคับแค้นใจในเรื่องกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ขึ้น ใครจะเป็นผู้คิดหาทางออกให้ในประเด็นเหล่านี้”
“ส่วนเรื่องของการไว้ใจเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อคนในพื้นที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐบาลจะต้องให้ความสนใจเพื่อแก้ไขปัญหา เข่นเดียวกับประเด็นการเจรจา ฝ่ายไทยมีการเปลี่ยนตัวผู้นำในการเจรจาบ่อยครั้ง มองว่าไม่เป็นผลดี เพราะคู่เจรจาจะไม่เกิดความไว้วางใจ และจะหาแนวทางที่ชัดเจนในการเจรจาไม่ได้”