สถานการณ์การตอบโต้กันด้วยขีปนาวุธระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ออกมาเป็นบวกกว่าที่หลายฝ่ายหวั่นวิตก
เพราะการโจมตีล่าสุดของอิหร่านไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับอิสราเอลมากนัก และฝ่ายอิหร่านรีบออกมาประกาศทันทีว่าปฏิบัติการของตนจบลงแล้ว
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดอิหร่านจึงยุติการโจมตีอย่างง่ายดายแบบนี้ และทำให้หลายคนย้อนนึกไปถึงการตอบโต้หลังการลอบสังหาร นายพลกอเซม สุไลมานี่ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ เมื่อปี 2563 ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่เกิดสงครามใหญ่ มีเพียงการโจมตีจากทางฝั่งอิหร่านไปยังฐานทัพสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้ก่อความเสียหายมากมายเช่นกัน
@@ 3 เหตุปัจจัย..โจมตีจำกัดเป้าหมาย
แหล่งข่าวระดับสูงจากฝ่ายความมั่นคงไทย วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่อิหร่านใช้การโจมตีแบบ “จำกัดเป้าหมาย” เพราะไม่ต้องการให้เกิดสงครามใหญ่ เนื่องจาก
1.อิหร่านประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมานาน เพราะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกอย่างยืดเยื้อต่อเนื่อง
2.หากอิหร่านเปิดฉากสงครามกับอิสราเอลโดยตรง ย่อมเสี่ยงที่จะถูกรุมกินโต๊ะจากชาติมหาอำนาจตะวันตก นำโดยสหรัฐ และอังกฤษ เท่ากับเป็นการชักศึกเข้าบ้าน
แม้ฝ่ายอิหร่านจะมีรัสเซียเป็นพันธมิตร แต่รัสเซียก็ยังติดอยู่ในสงครามยูเครน ขณะที่จีนก็มีสงครามการค้ากับสหรัฐ และประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน
3.อิหร่านมีกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐ หรือ non-state actors จำนวนมาก โดยเฉพาะกองกำลังติดอาวุธในหลายประเทศในตะวันออกกลาง จึงน่าจะเลือกใช้การทำ “สงครามตัวแทน” หรือ proxy war กับอิสราเอลมากกว่า โดยใช้กองกำลังติดอาวุธเหล่านั้นซึ่งตัวเองสนับสนุน
@@ อดทน อดกลั้น ดีกว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”
แนววิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคงไทย สอดคล้องกับ อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง นักวิเคราะห์ และนักวิชาการอิสระจากสหรัฐอเมริกา ที่มองว่า ผู้นำอิหร่านต้องคำนวณอย่างละเอียดรอบคอบเรื่องการตอบโต้ และครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า ตัดสินใจปฏิบัติการแบบจำกัด เช่นเดียวกับครั้งที่แล้วเมื่อสหรัฐสังหารนายพลสุไลมานี่
แต่ครั้นจะไม่ตอบโต้เลยก็ไม่ได้ เนื่องจากจะเสียความเชื่อถือจากประชาชนในอิหร่าน และสูญความเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอิสลาม
เหตุนี้จึงเห็นการปฏิบัติการครั้งที่แล้วกับครั้งนี้ออกมาคล้ายคลึงกัน คือการแสดงออกเพื่อให้ประชาชนของตนเห็นว่าประเทศมีเกียรติและศักดิ์ศรี และมีความเข้มแข็งทางการทหารมากพอ แต่ขณะเดียวกันไม่ต้องการให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อคู่กรณี ครั้งที่แล้วคือสหรัฐ และครั้งนี้คืออิสราเอล
“มีหลักฐานว่ามีการแจ้งล่วงหน้าให้พันธมิตรในภูมิภาคทราบเพื่อจะส่งข่าวให้สหรัฐและอิสราเอลเตรียมตัวรับการโจมตี” อาจารย์กฤษฎา ให้ข้อมูล
“และทางอิหร่านประเมินแล้วว่าอาวุธที่เลือกใช้นั้น สหรัฐและอิสราเอลสามารถรับมือได้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการคุ้มครองพื้นที่ และขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างจอร์แดน หรืออิรัก”
@@ รักษาสถานะผู้นำชีอะห์ รักษาดุลรัฐอิสลาม
อาจารย์กฤษฎา ย้ำว่า ผู้นำอิหร่านตัดสินใจเรื่องสำคัญแทบทุกอย่างโดยความละเอียดรอบคอบ แสดงถึงความอดทนอดกลั้นเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว คือ
1.ความยั่งยืนของการอยู่ในอำนาจโดยมีศาสนาเป็นศูนย์รวม และมุ่งความเป็นผู้นำนิกายชีอะห์ของอิสลาม เพราะชาวอิหร่านประมาณร้อยละ 90 ขึ้นไปนับถือนิกายนี้ แต่เมื่อเทียบกับประชากรอิสลาม จะมีเพียงร้อยละ 15 ของชาวมุสลิมทั้งหมดเท่านั้นที่เป็นชีอะห์ ที่เหลือเป็นนิกายสุหนี่
ผู้นำอิหร่านตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า รัฐบาลของประเทศมุสลิมสุหนี่ อาจจะไม่สนับสนุนตนอย่างเต็มที่หากเกิดสงครามขยายวง
2.ปัญหาเศรษฐกิจและความเปราะบางทางการเมืองภายในอิหร่าน เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวัง เพราะเกรงว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มรัฐบาลได้
ฉะนั้นหากรัฐบาลอิหร่านทำสงครามอย่างรุนแรงกับอิสราเอล หรือสร้างความเสียหายให้กับสหรัฐอเมริกา ก็จะเป็นการเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศโดยการแทรกแซงจากหลายฝ่าย ทั้งอิสราเอล ตะวันตก และกลุ่มมุสลิมลัทธิคู่แข่ง รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ตนเองเผชิญอยู่แล้ว
3.การเลือกปฏิบัติการตอบโต้ด้วยยุทธวิธีก่อการร้ายในประเทศที่รักษาความปลอดภัยอย่างหย่อนยาน และมีผลประโยชน์ของอิสราเอลและสหรัฐอยู่ หรือใช้สงครามตัวแทนในภูมิภาค มีความเป็นไปได้
แต่หลักฐานปัจจุบันบ่งชี้ว่า รัฐบาลอิหร่านเลือกใช้วิธีการรุกทางการทูตเพื่อหาความชอบธรรมในเวทีโลก และใช้โอกาสต่างๆ ในการกล่าวโทษศัตรูอย่างอิสราเอลแทน
4.อิหร่านยังไม่มีความพร้อมในการทำสงครามแบบเปิดเผย เนื่องจากขาดเทคโนโลยี ทรัพยากร และเม็ดเงินในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมหากจะตอบโต้อย่างหนัก หรือเปิดศึกกับประเทศต่างๆ ที่รอโอกาสจะรุมทำลายอิหร่าน และเข้ามาแทรกแซงเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่ตลอด
ฉะนั้นนับจากนี้จะเห็นปฏิบัติการโดยใช้ตัวแทนในเลบานอนหรือเยเมนต่อไปอีกระยะหนึ่ง
@@ เปิดตำนาน 4 ทศวรรษ “สงครามลับ - ตัวแทน”
ขณะที่ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกมุสลิมและตะวันออกกลาง วิเคราะห์ไปในทางเดียวกันว่า อิหร่านไม่อยากขยายวงสงครามในตะวันออกกลาง ขณะที่อิสราเอลก็มีสหรัฐคุ้มครอง ฉะนั้นหากอิหร่านบุ่มบ่ามใช้ความรุนแรง หรือสร้างความเสียหายเยอะ จะนำมาสู่ความเสียหายที่เกิดกับอิหร่านเอง
“ต้องยอมรับว่าปัญหาของอิหร่านขณะนี้ คือปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่พอใจนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่อิหร่านไปช่วยเหลือขบวนการต่างๆ นอกประเทศ”
อาจารย์ศราวุฒิ บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วอิสราเอลกับอิหร่านต่อสู้กันมายาวนานเกิน 40 ปี มีทั้งที่เป็น “สงครามลับ” และ “สงครามตัวแทน”
สงครามลับ คือ แต่ละฝ่ายพุ่งเป้าสังหารบุคคลสำคัญของอีกฝ่าย เช่น อิสราเอลก็ไล่ล่าสังหารผู้นำทางทหารของอิหร่าน ส่วนอิหร่านก็ตามสังหารนักการทูตอิสราเอล ซึ่งเกิดเหตุมาแล้วหลายครั้ง
ส่วนสงครามตัวแทน คือ สงครามที่อิหร่านใช้กองกำลังที่ไม่ใช่รัฐ แต่ตัวเองสนับสนุน เข้าไปปฏิบัติการแทน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน และอีกหลายกลุ่มในซีเรีย
“อิสราเอลกับอิหร่านต่อสู้กันมายาวนาน ทั้งที่เป็นสงครามลับ และเป็นสงครามตัวแทน โดยสงครามตัวแทนที่พูดถึง ก็เช่นสงครามที่เลบานอน เมื่อปี 1982 อิสราเอลยึดเลบานอน อิหร่านก็ตามเข้าไป เนื่องจากพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอนเป็นประชากรชีอะห์ อิหร่านก็ช่วยก่อตั้งกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ เป็นตัวแทนของอิหร่านทำสงครามกับอิสราเอล จากนั้นอิสราเอลก็ถอนตัวจากเลบานอน”
“ต่อมามีการทำสงครามกันอีกในปี 2006 อิสราเอลก็ทำสงครามกับฮิซบุลเลาะห์ หรืออย่างในระยะหลัง สงครามกลางเมืองในซีเรีย อิหร่านก็ส่งอาวุธเข้าไปค้ำระบอบอัสซาด แต่อิสราเอลมองว่ากลุ่มขบวนการต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในดินแดนเหล่านี้ ล้วนเป็นภัยคุกคามของตัวเอง จึงใช้กำลังเข้าไปถล่ม และสังหารนายพลของอิหร่าน”
“ส่วนสงครามลับระหว่างกัน คือการที่อิสราเอลลอบสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่าน ทั้งนักการทหาร นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ส่วนอิหร่านเองก็ตอบโต้ พุ่งเป้าไปที่นักการทูตของอิสราเอล”
@@ เตือนไทย...ระวังโดนหางเลข
อาจารย์ศราวุฒิ เล่าต่อว่า สองประเทศนี้ต่อสู้กันมานาน ทั้งสองฝ่ายคล้ายๆ รับรู้ร่วมกันว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ล้ำเส้นในลักษณะเปิดหน้าต่อสู้ก้ันโดยตรง หรือทำสงครามเต็มรูปแบบ เพราะทั้งสองฝ่ายทราบถึงศักยภาพการทำลายล้างของแต่ละฝ่าย หรือ balance of terror จึงเลือกใช้สงครามลับ และสงครามตัวแทนต่อสู้กัน ประกอบกับอิหร่านเป็นประเทศใหญ่ มีพันธมิตร non-state actors หลายพื้นที่
“แต่ว่าครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นอะไรที่มากกว่าสงครามตัวแทน และสงครามลับที่เกิดขึ้นตลอด 40 ปี เพราะอิสราเอลโจมตีสถานกงสุลของอิหร่าน ตามด้วยการสังหารผู้นำทางทหารหลายนายของอิหร่านในซีเรีย ถือว่าเปิดหน้าเปิดศึกโดยตรงกับอิหร่าน ฉะนั้นอิหร่านจึงไม่มีทางเลือก ส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาหน้าของตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งก็แสดงพลังการปกป้องตัวเอง ถ้าไม่ทำอะไรเลย อิสราเอลก็จะกระทำต่ออิหร่านฝ่ายเดียว”
“อิหร่านไม่สามารถยอมรับได้ คงจะใช้ปฏิบัติการหลายอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าอิหร่านมีศักยภาพโจมตีอิสราเอลได้ แต่ก็ไม่ได้โจมตีหนักหนาสาหัสอะไร เพียงแต่คนอิหร่านที่รับรู้ข่าวสารจากทางการ จะรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ มีการประชาสัมพันธ์การโจมตีให้คนของตัวเองได้ทราบ คนอิหร่านค่อนข้างพอใจ เพราะเหตุการณ์มาเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตกาซาด้วย ในช่วง 6 เดือนมานี้ไม่มีใครทำอะไรอิสราเอลได้เลย ทั้งๆ ที่มีการละเมิดมนุษยธรรมร้ายแรงมาก”
อาจารย์ศราวุฒิ สรุปว่า ปฏิบัติการโจมตีของอิหร่าน เกิดขึ้นด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1.เพื่อให้ประชาชนของตนพึงพอใจ
2.ป้องปรามไม่ให้อิสราเอลกระทำกับอิหร่านในอนาคตได้ง่ายๆ อีก
3.ปฏิบัติการจบแล้ว ไม่มีการโจมตีอีกต่อไป เพื่อจำกัดวงของสงคราม เพราะถ้าไม่ตอบโต้อะไรกลับไปเลย ก็จะเสียหน้า ขณะที่ฝั่งอิสราเอลก็ประกาศทันทีว่า เสียหายเพียงเล็กน้อย แม้แสดงท่าทีเตรียมจะตอบโต้อิหร่าน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าที่ไหน เมื่อไหร่ ฉะนั้นคงไม่ตอบโต้อิหร่านในเร็วๆ นี้
“สงครามตัวแทน สงครามลับ จะเกิดต่อไป ไม่เลือกพื้นที่ เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลก เป็นพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายใช้ต่อสู้กัน ที่ต้องระวังคือทั้งสองประเทศเคยใช้พื้นที่ประเทศไทยในการต่อสู้ด้วย ถือเป็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยควรระมัดระวัง เพราะมีประวัติเคยเกิดในไทยมาแล้ว” อาจารย์ศราวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย