กระบวนการพูดคุยสันติสุขไม่ได้ยังคงเดินหน้าไปตามลำดับ ไม่ได้หยุดชะงักลง แม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในเดือนรอมฎอนปีนี้
และมีกระแสคัดค้าน JCPP หรือ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ตามที่คณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน นำโดย นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. ไปตกลงเบื้องต้นกับคณะพูดคุยฯ ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ตาม
เพราะกำลังจะมีการพูดคุยของ “คณะทำงานเทคนิค” หรือ คณะพูดคุยฯ ชุดเล็ก ในปลายเดือนเมษายนนี้
แต่ความจริงที่คณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐบาลไทยดูจะยอมรับแล้วก็คือ รายละเอียดใน JCPP บางข้อมีปัญหาจริง
คำสัมภาษณ์ล่าสุดของ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยสันติสุขฯ ได้ยืนยันเอาไว้แบบนั้น
โดย พล.ท.ปราโมทย์ ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้เอาไว้ ภายหลังประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะพูดคุยฯ ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายนที่ผ่านมา และมีทีมผลิตสื่อส่งต่อให้ผู้สื่อข่าวชายแดนใต้ ข้อมูลนี้จึงเชื่อถือได้ว่ามาจาก พล.ท.ปราโมทย์ จริงๆ
คำสัมภาษณ์ของ พล.ท.ปราโมทย์ สรุปได้แบบนี้
1.ฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยสันติสุข จะประชุมกับฝ่ายบีอาร์เอ็น ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายนนี้ ที่ประเทศมาเลเซีย โดยนับเป็นการประชุมครั้งที่ 3 ต่อจากครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม
2.คาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการหารือรายละเอียดของ JCPP
3.วงประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ที่ พล.ท.ปราโมทย์ เข้าร่วม ได้มีการรับฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในคณะพูดคุยในประเด็นที่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน รวมถึงเรื่องที่ต้องไม่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดในแผน JCPP
4.ประเด็นที่มองว่าสังคมเข้าใจผิด ถูกระบุว่ามาจากข่าวที่สร้างความสับสน ได้แก่
- ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น ที่มีข้อเสนอให้ปล่อยตัวนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ
- การให้ความคุ้มครองความปลอดภัยต่อสมาชิกบีอาร์เอ็นที่จะเดินทางเข้ามาร่วมทำกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมีการลงนามใน JCPP
5.พล.ท.ปราโมทย์ ชี้แจงว่ายังไม่มีข้อตกลงใดๆ ในเรื่องเหล่านั้น จึงขึ้นอยู่กับการหารือด้านเทคนิคในรายละเอียดจากทั้งสองฝ่าย
"ในการประชุมเราได้มาทบทวนร่วมกันมีประเด็นไหนบ้างที่ต้องมาลงรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเกิดความสับสน เช่นในเรื่องการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยต่อสมาชิกบีอาร์เอ็นที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในเรื่องของการปรึกษาหารือสาธารณะ โดยในเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัย ต้องมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติมให้สังคมได้เข้าใจว่า ในการคุ้มครองนั้น จะคุ้มครองเป็นรายกรณี เฉพาะบุคคลที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่ของประเทศไทย"
“ส่วนในเรื่องของการปรึกษาหรือสาธารณะ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารัตถะสำคัญในแผน JCPP ต้องมีการออกแบบรูปแบบของเวทีสาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ กำหนดรายละเอียดของการมาเปิดเวทีว่า ในเวทีแบบปิดจะมีเวทีลักษณะไหน เวทีแบบเปิดจะมีลักษณะอย่างไร เป็นการคิดกรอบไว้ล่วงหน้า เพื่อใช้ในการพูดคุย”
6.การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ มี นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดทั้ง 2 วัน
7.ในที่ประชุมได้มีการปรับแก้ถ้อยคำใน JCPP ในส่วนที่อาจสร้างความสับสน ให้มีรายละเอียดรัดกุมรอบคอบ
"JCPP เป็นเพียงแค่เอกสารที่ใช้เป็นกรอบเป็นแนวทางที่จะนำมาใช้ในการพูดคุย ประเด็นหัวข้อที่ปรากฎอยู่ในร่าง JCPP เป็นเพียงหัวข้อที่เขียนขึ้นมาเป็นตุ๊กตา แต่ยังไม่นำไปสู่การปฎิบัติ เพราะฉะนั้นเอกสาร JCPP ไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่มีผลผูกพันใดๆ ทางกฎหมาย เป็นเพียงแค่แนวทางที่เราจะนำมาใช้ในการพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น”
8.ข้อกังวลว่าการพูดคุยสันติสุขกับบีอาร์เอ็นจะเป็นเหตุไปสู่การสูญเสียอธิปไตย เป็นความเข้าใจผิดๆ พร้อมย้ำการพูดคุยสันติสุขกับบีอาร์เอ็น เป็นการพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทย