“รุงรัง, ผิดฝาผิดตัว, เลิกคิดเป็น peace broker”
คือบทสรุปของ รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและลงพื้นที่จริงในปัญหาเมียนมา ที่ประเมินการทำงานของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ต่อการรับมือวิกฤตการณ์ตามแนวชายแดน
อาจารย์ฐิติวุฒิ ขยายความว่า การทำงานของรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการวิกฤตตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ยังผิดฝาผิดตัว ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดลีดเดอร์ชิพ หรือภาวะผู้นำ ซึ่งสำคัญที่สุด
- ผู้นำประเทศยังไม่ตระหนักถึงคำว่า “วิกฤติชายแดน” การเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 9 เม.ย.67 บทสรุปออกมามีแต่พูดภาพรวมและภาพกว้าง การตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่การวางแผนการบริหารจัดการวิกฤต
ฉะนั้นเมื่อยังไม่รู้ว่าภาพวิกฤติชายแดนเป็นอย่างไร จึงไม่มีการสั่งการไปยังหน่วยงานแบบ “ถูกฝาถูกตัว”
- รัฐบาลชุดนี้ไม่มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ส่งผลให้นายกฯเศรษฐาต้องลงมาจัดการเอง และตัดสินใจผิดพลาด
1.เลือกใช้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหลักในการจัดการปัญหา คือว่า “ผิดฝาผิดตัว” เช่นกัน เพราะหน่วยงานที่ควรรับผิดชอบจริงๆ ต้องเป็นกระทรวงที่มีเครื่องมือด้านความมั่นคง และปัญหายังเป็นความมั่นคงภายใน (เพราะเป็นเรื่องรับมือผู้อพยพ และการช่วยด้านมนุษยธรรม) จึงต้องให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากถือกฎหมายในมือกว่า 300 ฉบับ
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ควรเน้นเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤต
2.ผู้นำประเทศยังไม่เข้าใจวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเป็นวิกฤตตามแนวชายแดนที่มีวิธีการจัดการแบบเฉพาะ ทำให้การสั่งการสับสน ไม่รู้ว่าต้องใช้เครื่องมือแบบไหน เมื่อประกอบร่างเป็นนโยบายออกมา จึงค่อนข้างสับสน
“ถ้าเรายังแต่งตัว ติดกระดุมไม่ดี การเผชิญหน้าสถานการณ์ชายแดนจะรุงรัง”
3.ความล่อแหลมของสถานการณ์ก็คือ ยังไม่สามาารถฟันธงได้ว่ากองทัพพม่าจะนำกำลังยึดคืนเมียวดี และพื้นที่รอบนอกเมื่อใด ฉะนั้นห้วงเวลานับจากนี้ถึงสงกรานต์ 13-20 เมษายน เป็นห้วงเวลาสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะตามชายแดนมากที่สุด
4.หน่วยงานรัฐในส่วนกลางกลายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารความมั่นคงชายแดน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก เอื้อให้หน่วยในพื้นที่ทำงานง่าย
ปัญหาที่เกิดขณะนี้ ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ที่ออกแนวปฏิบัติ SOP (Standard Operation Precedure) หรือคู่มือการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือการบริหารจัดการชายแดนแบบองค์รวม แต่กลับเป็นปัญหา และมีจุดอ่อน เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่มีการแก้ไข ยิ่งมาเจอกับนายกฯที่ไม่เข้าใจ จึงเพิ่มปัญหาอีก 2 เรื่อง คือ
หนึ่ง มีการประชุมและสั่งการตามหน้างาน แต่กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบผิดฝาผิดตัว เช่น ไม่รู้ใครรับผิดชอบเรื่องเครื่องบินเมียนมาเข้า-ออก จนชี้แจงไปคนละทาง เสียแต้มทางการเมือง และเสียความน่าเชื่อถือในสายตาต่างประเทศ
สอง เมื่อ SOP มีปัญหา และไม่แก้ไข ผู้นำก็ไม่เข้าใจ ส่งผลให้การวางแผนจัดการวิกฤตชายแดน 4 ด้าน เกิดผลกระทบ ได้แก่ การบรรเทาสถานการณ์ การเตรียมการรับมือสถานการณ์ การตอบสนองเมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น และการฟื้นฟูหลังสถานการณ์ผ่านพ้น
@@ ไม่เปิดค่ายผู้อพยพ - พบแคมป์ลี้ภัยพรึ่บริมเมย
ส่วนเรื่องการเปิดค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนเพื่อรองรับผู้หนีภัยสงครามที่คาดว่าจะทะลักเข้ามามากขึ้นในระยะจากนี้ไป ตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องนั้น อาจารย์ฐิติวุฒิ บอกว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดค่ายผู้อพยพเพิ่ม มีเฉพาะ “พื้นที่รองรับชั่วคราว” ที่เรียกว่า “พื้นที่ปลอดภัย” แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ส่วนใหญ่หลบกันตามแคมป์ฝั่งพม่า ริมแม่น้ำเมย ปัจจุบันมีการตั้งแคมป์จำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 30 แคมป์ และอาจมากถึง 60 แคมป์ นับตั้งแต่ อำเภอพบพระ ถึง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ถือว่าหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ
ฉะนั้น ช่วงสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ถ้ากองทัพพม่าทุ่มกำลังโจมตีทางอากาศ คนที่อยู่ในแคมป์สองฝั่งต้องเข้ามาฝั่งไทยทั้งหมดอย่างแน่นอน ถือเป็นภาวะเสี่ยงซึ่งรัฐบาลยังไม่มีแผนการรองรับที่ดีพอ
@@ ดับฝันไทย “ผู้นำสันติภาพเมียนมา”
ด้วยเหตุนี้ กรณีที่บางฝ่ายเสนอให้ไทยยกระดับบทบาทเป็นผู้นำกระบวนการสันติภาพ หรือ Peace Broker นั้น ตนเห็นว่าควรหยุดไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะสร้างวิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะคนจะเป็นโบรกเกอร์ได้ ต้องสมบูรณ์แบบระดับหนึ่ง มีความน่าเชื่อถือ
แต่ตอนนี้ไทยมีภาพของความพะรุงพรัง เป็น Peace Broker ไม่ได้แน่ แม้แต่เรื่องเครื่องบินยังถูกตั้งคำถามว่าช่วยขนทหารให้พม่าหรือเปล่า หนำซ้ำเรายังไม่มีการสื่อสารที่ดี จึงดูไม่เป็นกลางจริงๆ แล้วใครจะยอมรับให้เราเป็นผู้นำกระบวนการสันติภาพ
@@ ทางสองแพร่งเมียวดี “ปะทะ - เจรจา”
เมื่อให้ประเมินสถานการณ์ในเมียวดี เมืองเศรษฐกิจตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของไทย อาจารย์ฐิติวุฒิ บอกว่า แนวโน้มในภาพรวมสามารถเป็นไปได้ทุกทาง เพราะตัวแสดงหลักในสงครามกลางเมืองใช้ 2 กลไกพร้อมกัน คือ อำนาจทางทหารควบคู่กับการต่อรอง
“ในกรณีแนวโน้มการใช้อำนาจทางทหารนั้น นับตั้งแต่วันนี้ และตลอดเดือนเมษายน ยังเพิ่มความตึงเครียด และเพิ่มเติมกำลังทหารเพื่อเปิดฉากปะทะกันได้ทุกเวลา และการเคลื่อนกำลังอาจจะเปรียบเทียบได้กับการใช้กำลังในการโจมตีรัฐชิน แต่การใช้กลยุทธ์เดิมบนเงื่อนไขเมียวดี กองทัพเมียนมาก็มีความสุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการใช้ถนนลำเลียงกำลังมีเพียงเส้นทางหลักเส้นเดียว จึงอันตรายต่อการถูกโจมตีจากฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์และพันธมิตร”
“ในกรณีกลไกทางด้านการเมือง จะพบว่าการเจรจาต่อรองเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ และให้ทหารเมียนมาวางอาวุธนั้น ปัจจุบันยังไม่สำเร็จ ตัวกลางในการเจรจาหรือตัวประสานงานในการต่อรองอยู่ที่ KNA (กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง เดิมคือกองกำลังพิทักษ์ชายแดน นำโดย หม่อง ชิดตู่) ซึ่งเป็นตัวละครที่ควบคุมพื้นที่เศรษฐกิจหลัก คือชเวก๊กโก (เมืองคาสิโนที่ลงทุนโดยกลุ่มทุนจีน)”
@@ จับตา “ทุนสีเทา” อำนาจแทรกซ้อนสถานการณ์
อาจารย์ฐิติวุฒิ สรุปว่า อนาคตของเมียวดีตอนนี้จึงเป็นไปได้ทุกทาง แต่สิ่งที่น่าห่วงใยก็คือหากทหารพม่าพุ่งกำลังทางอากาศโจมตีพื้นที่เมืองเมียวดีโดยตรง จะเป็นการทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านที่เป็นช่องทางการค้าสำคัญ และผลกระทบจะไม่ใช่เฉพาะการค้ากับท่องเที่ยวที่เชื่อมกับไทยเท่านั้น แต่ยังสะเทือนถึงกลุ่มทุนหลากหลายลักษณะ รวมทั้งทุนสีเทาด้วย
“หากสถานการณ์ดำเนินไปแบบนั้น ย่อมหมายความว่าอำนาจของทุนสีเทาอาจกลายเป็นประเด็นอำนาจแทรกซ้อนที่จะกำหนดอนาคตของเมียวดีด้วยนั่นเอง”