สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลต่อ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการลดการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว
การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. วันศุกร์ที่ 5 เม.ย.67 ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ถึงวันที่ 19 ก.ค.67
โดยการต่ออายุ-ขยายเวลาหนนี้ ไม่มีการปรับลดพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม จากที่เคยทยอยลดมาตลอด โดยฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลว่า หลายพื้นที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น และต้องจับตาห้วงเวลา 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ต่อเนื่องถึงวันฮารีรายอ หรือเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน จะสิ้นสุดในวันที่ 9 เม.ย.นี้แล้ว จากนั้นจะเป็นวันฮารีรายอ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองกัน 2-3 วัน ส่วนการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเริ่มวันที่ 20 เม.ย. เหตุผลนี้จึงไม่น่าจะฟังขึ้น
แต่จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ส่งผลให้แผนการลดพื้นที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษต้องหยุดชะงัก และคงการใช้กฎหมายพิเศษไว้เช่นเดิม
สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีอำเภอทั้งสิ้น 33 อำเภอ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ที่ผ่านมายกเลิกไปแล้ว 15 อำเภอ ยังคงบังคับใช้อยู่ 18 อำเภอ และยังต้องบังคับใช้ต่อไป เพราะครั้งนี้ไม่มีลดพื้นที่เพิ่มเติม โดยการต่ออายุขยายเวลารอบล่าสุด นับเป็นครั้งที่ 75