คุณผู้อ่านที่เป็นแฟนเว็บอิศรา และติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้ คงได้ทราบข่าวคนร้ายยิงทหารพรานหญิงกลางตลาดนัด ที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิตต่อหน้าลูก ขณะกำลังขายอาหารหารายได้ช่วงลาพักจากการทำหน้าที่ทหารพราน
นอกจากความรู้สึกเศร้าสลดกับสถานการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นช่วงกลางวัน พระอาทิตย์ยังไม่ตก ในสถานที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนแล้ว คุณผู้อ่านสงสัยหรือไม่ว่า คนร้ายเขาทำแบบนี้เพื่ออะไร
เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า สงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “สงครามชิงมวลชน” การฆ่าคนกลางตลาด ฆ่าผู้หญิง แบบนี้จะได้ใจมวลชนได้อย่างไร
1.สงครามในพื้นที่ เป็นสงครามที่ในทางวิชาการเรียกว่า “การก่อความไม่สงบ” หรือ insurgency ซึ่งยุทธวิธีสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อการนำมาใช้ คือสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย และทำทุกอย่างเพื่อกดดันให้ฝ่ายรัฐตอบโต้ด้วยความรุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ฝ่ายตัวเองพลิกมาได้เปรียบ เพราะถ้าต่อสู้กันด้วยกำลังตรงๆ (ตัวต่อตัว) ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายรัฐได้
ความได้เปรียบจากการที่ฝ่ายรัฐตอบโต้โดยใช้ความรุนแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็คือการใช้ต่างชาติเข้ามากดดัน นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระ เป็นเอกราช เพราะอยู่กับรัฐไทยแล้วถูกกดขี่ ถูกละเมิด (แต่ไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่ตนเองสังหารผู้หญิง) ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนชายแดนใต้ของไทย ก็ใช้ยุทธวิธีแบบนี้อยู่
2.การฆ่าอย่างโหดเหี้ยมกลางตลาด เป็นการสร้างความหวาดกลัว และกดทับให้ประชาชนในพื้นที่ไม่กล้าร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในความหมายเดียวกันก็คือสยบยอมต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงนั่นเอง
3.แม้เหยื่อจะเป็นผู้หญิง แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นทหารพราน การสังหารผู้หญิง จึงเป็นการสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถือว่าเป็นคู่ต่อสู้ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทางกลุ่มผู้ก่อการก็ใช้เป็นเหตุผล หรือ “ใบอนุญาตฆ่า”
4.เมื่อเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ ประชาชนทั่วไปจึงไม่ตกเป็นเป้าหมาย โดยเฉพาะมวลชนที่สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงไม่ถือว่าเสียมวลชน ส่วนการรุมประณามที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกร้อง ไม่มีผลใดๆ กับขบวนการอยู่แล้ว
5.ผลกระทบทางจิตวิทยาที่ตามมาคือ พื้นที่ชายแดนใต้ยังไม่สงบ ฝ่ายที่ถูกกดดัน ตั้งคำถาม กลายเป็นภาครัฐ รัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากใช้งบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาทแล้ว และงบประมาณปี 67 ก็เพิ่งผ่านสภา แต่กลับยังไม่มีสัญญาณบวกจากชายแดนใต้
ที่สำคัญยังเป็นแรงกดดันต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 รายในช่วงต้นของเดือนรอมฎอน
ฝ่ายความมั่นคงจึงถูกกล่าวหา หรือ “โยนบาป” ว่าเป็นต้นเหตุทำให้ “รอมฎอนไม่สันติสุข” เพราะเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน จึงทำให้เกิดความรุนแรงตอบโต้ตามมา