ประชาชน-นักท่องเที่ยวประสานเสียงวอนนายกฯ หาสายการบินมาเปิดเส้นทางเหินฟ้าสู่เบตงอีกครั้ง หลังไร้เครื่องบินพาณิชย์ขึ้น-ลงมานาน 2 ปี ขอแค่ไฟลต์พิเศษช่วงเทศกาลหรือช่วงไฮซีซั่นก็ยังดี เตือนแผนสร้างสนามบินพะเยาระวังซ้ำรอย ด้านสมาคมท่องเที่ยวฯ เผยเสนอแผนขยายรันเวย์รองรับการท่องเที่ยวแล้วเมื่อครั้งนายกฯเศรษฐา เยือนเมืองใต้สุดสยาม
ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใน อ.เบตง จ.ยะลา ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จัดหาสายการบินพาณิชย์กลับมาเปิดบริการเส้นทางบินมายังสนามบินเบตงอีกครั้ง หลังจากมีข่าวประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และที่ประชุมเห็ฯชอบการพัฒนาสนามบินพะเยา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง
นางสาวนพคุณ อ่อนโยนชัย ผู้โดยสารชาวเบตง เล่าว่า เคยร่วมเดินทางกับเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ ในวันแรก “เบตง-ดอนเมือง” ภายใต้แคมเปญ “เบตง บินตรง เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” เมื่อวันที่ 29 เม.ย.65 ซึ่งแคมเปญดังกล่าวจัดเพียง 3 เดือนเท่านั้น ในช่วงเดือน เม.ย. ถึงเดือน ก.ค.65 ปัจจุบันผ่านมา 2 ปีแล้ว ยังไม่มีสายการบินพาณิชย์อื่นๆ มาทำการบินและลงจอดที่สนามบินเบตงอีกเลย มีเพียงเครื่องบินส่วนตัวของเอกชน หรือเครื่องบินของทางราชการเท่านั้น แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก
“อยากฝากผู้บริหารบ้านเมืองว่า ชาวบ้านไม่ได้อยากมีแค่สนามบิน แต่อยากให้มีเครื่องบินพาณิชย์มาลงที่สนามบินเบตงด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง เพราะอำเภอเบตงมีระยะทางไกลและเดินทางลำบาก หากมีสายการบินมาลงจะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น การเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวอำเภอเบตงได้มากขึ้น”
“หากบินไม่ได้ทุกวันหรือไม่ได้ทุกอาทิตย์ ก็ขอให้มีเที่ยวบินในช่วงเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเที่ยวอำเภอเบตง เช่น ช่วงเทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลตรุษจีน หรือจัดเที่ยวบินพิเศษช่วงไฮซีซั่น หน้าผลไม้เบตงก็ยังดี” นางสาวนพคุณ บอก
@@ เตือนแผนสร้างสนามบินพะเยา หวั่นซ้ำรอยเบตง
ชาวเบตงซึ่งเคยเป็นผู้โดยสารสายการบินนกแอร์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้ติดตามข่าวว่านายกฯ เศรษฐา ได้ร่วมหารือแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างสนามบินพะเยา โดยหารือกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ สส.พะเยา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา จึงอยากฝากให้รัฐบาลวิเคราะห์ให้ดีๆ ก่อนสร้างสนามบิน โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มทุน เพราะสร้างแล้ว สุดท้ายอาจมาบอกว่าไม่คุ้มทุน ไม่อยากให้สนามบินเปิดใหม่เป็นเหมือนสนามบินเบตงที่เป็นแค่จุดถ่ายรูปเซลฟี่ แต่ไม่มีเครื่องบินมาลง
@@ เสนอแผนขยายรันเวย์รับท่องเที่ยว
ด้าน นายนรินทร์ เรืองวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา อ.เบตง จ.ยะลา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่กว่า 1,600,000 คน ทางสมาคมฯ ได้เสนอแผนการท่องเที่ยวให้กับนายกฯเศรษฐา และคณะ ระหว่างเดินทางเยือนอำเภอเบตงเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยขอให้เร่งแผนการขยายรันเวย์สนามบินจากเดิมความยาว 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่ 150-180 ที่นั่ง ซึ่งปัจจุบันรองรับได้เพียงเครื่องบินใบพัด ATR ขนาด 80 ที่นั่งเท่านั้น
หากมีเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่มาทำการบินที่เบตงได้ จะทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินถูกลง และไม่แพงเกินไป จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเบตงเพิ่มขึ้น
@@ ย้อนเส้นทางสนามบินเบตง
อนึ่ง ท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุดลำดับที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม มีสโลแกนว่า “สวรรค์บนดิน สนามบินเบตง” เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2559 วงเงินงบประมาณกว่า 1,900 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 มีความยาวรันเวย์ขนาด 1,800 เมตร และเตรียมจะขยายความยาวเป็น 2,500 เมตร เพิ่มขึ้น 700 เมตร โดยขยายไปทางทิศตะวันตก 375 เมตร และทางทิศตะวันออก 325 เมตร
หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 180 ที่นั่งได้ อาทิ แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B-737 จากปัจจุบันรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง อาทิ Q400 และ ATR 72 นอกจากนี้จะขยายลานจอดอากาศยานจากเดิมที่มีขนาด 94×180 เมตร เป็นขนาด 94×240 เมตร ทำให้สามารถจอดอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้พร้อมกัน 3 ลำ
สำหรับท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา เริ่มจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ต.ค.58 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี คือตั้งแต่ 2559 – 2561 เพื่อจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอําเภอเบตง และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมรองรับตลาดการท่องเที่ยว และการพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ
หลังจากสนามบินสร้างแล้วเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางมาเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.65 ด้วย