เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีข่าวสถานการณ์ไฟใต้ค่อนข้างร้อนระอุ จนโอกาสไม่บรรลุเป้าหมายตามแผน “รอมฎอนสันติสุข” ที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามทำให้สำเร็จทุกปี
เพราะเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด ถือเป็นเดือนแห่งบุญของพี่น้องมุสลิม จึงต้องการให้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ ไม่มีเหตุรุนแรงมารบกวน
แต่ปีนี้กลับมีการโหมโรงก่อเหตุรุนแรงช่วง 1 เดือนก่อนรอมฎอน และเมื่อย่างเข้าสู่เดือนถือศีลอด ยังมีปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น และวิสามัญฯ ผู้ก่อเหตุรุนแรง ในฐานะผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไปอีก 2 ศพ ทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจว่ารอมฎอนปีนี้จะสันติสุขได้จริง
@@ กอ.รมน.พาสื่อลุยใต้ มอบทุนเด็กๆ-แจกอุปกรณ์กีฬา
ล่าสุดวันอังคารที่ 19 มี.ค.67 ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.5 กอ.รมน.) นำโดย พล.ท.ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้อำนวย ศปป.5 ได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่ไปเป็นสักขีพยานในพิธีมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การกีฬาแก่เยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมรับทราบปัญหา และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานความมั่นคง
กิจกรรมครั้งนี้มี “ทีมข่าวอิศรา” ร่วมลงพื้นที่ด้วย และได้เป็นสักขีพยานการมอบเงินสนับสนุนการศึกษา จำนวน 123,340 บาท ให้แก่โรงเรียนอาลาวียะห์ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพื่อนำงบประมาณไปปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
และมอบทุนการศึกษาให้กับ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ จำนวน 25,000 บาท และอุปกรณ์กีฬา เพื่อนำไปมอบต่อให้กับเยาวชน รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น
@@ เปิดรายงานลับ ระดมคน 184 จุดเตรียมป่วน!
หลังจบกิจกรรมมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์กีฬา ได้มีการปิดห้องเพื่อบรรยายสรุปสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยเน้นในห้วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเริ่มต้นวันแรกของเดือน เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา นับถืงปัจจุบัน วันที่ 18 มี.ค. รวม 7 วัน ยังไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น
แต่รายงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่ามีเหตุยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 ราย
จากนั้นมีการแห่ศพ มีไลฟ์สดทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก มีการสร้างกระแสกันอย่างกว้างขวาง มีการเปิดรับบริจาคเงินจาก “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า” เพื่อช่วยครอบครัวผู้เสียชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงและแนวร่วมที่ยังดำรงความมุ่งหมายในการต่อต้านรัฐ เรียกร้องเอกราชกันอย่างเปิดเผย และมีฝ่ายการเมือง กับภาคประชาสังคม ออกมาเคลื่อนไหวสอดรับและขยายผลอย่างชัดเจน
รายงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุต่อว่า หากมองในมิติความมั่นคง และการดูแลความปลอดภัยพื้นที่ จะเห็นได้ว่ายังมีสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้ามาหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมก่อเหตุร้ายในห้วงเดือนรอมฎอนจริง และจากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง พบความเคลื่อนไหวถึง 184 ภาพข่าว หรือพูดง่ายๆ คือ 184 จุด สะท้อนถึงความพยายามก่อความไม่สงบ แม้จะยังไม่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม
ในที่ประชุม ฝ่าย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เรียกร้องให้สื่อมวลชนช่วยขยายข้อมูลที่ถูกต้องจากในพื้นที่ รวมถึงประชาสัมพันธ์การทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในสังคม เพราะที่ผ่านมาฝ่ายตรงข้ามมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างกระแสกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องถึงในสภาผ่านฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม ควบคู่กับการเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ กฎหมายความมั่นคง ทั้งที่มีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ
โอกาสนี้ ตัวแทนสื่อมวลชนในพื้นที่จึงมีการเสนอข้อมูลอีกมุมหนึ่ง สรุปว่า สื่อพร้อมนำเสนอข้อมูลให้ครบทุกด้าน แต่ฝ่ายความมั่่นคงไม่มีแหล่งข้อมูล และผู้ให้ข่าวที่คอยสนับสนุนข้อมูลและชี้แจงประเด็นต่างๆ อย่างทันท่วงที ทั้งในรัฐสภาและนอกสภา ทำให้เกิดปัญหาเหมือนมีข่าวจากฝ่ายที่โจมตีหน่วยงานความมั่นคงเพียงด้านเดียว
@@ เยือนด่านขุนไวย์ ทปสช.หญิงยันชาวบ้านไม่มีใครค้าน
จากนั้น พล.ท.ธัชพล ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จริงที่ “ด่านขุนไวย์” ซึ่งเป็นด่านตรวจ ตั้งอยู่ที่บริเวณทางเข้าอำเภอเมืองยะลา เป็นหนึ่งในด่านตรวจสำคัญที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย พล.ท.ธัชพล ได้มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้กับกำลังพลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมเน้นย้ำว่า การตั้งด่าน จุดตรวจ จุดสกัด ยังมีความจำเป็นต่อสถานการณ์ และป้องกันปัญหาความไม่สงบได้มาก ที่ผ่านมาได้สอบถามพี่น้องประชาชน มีแต่ผู้สนับสนุนให้มีด่าน คนที่คัดค้านมีเป็นส่วนน้อย หรือเป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์เท่านั้น
สำหรับด่านตรวจขุนไวย์ เป็นด่านที่ใช้ “กำลังผสม” โดยเน้นตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกองกำลังประชาชน คือ ทสปช. หรือ “ไทยอาสาป้องกันชาติ” เพราะเป็นด่านตรวจในเขตเมือง จึงลดการใช้กำลังทหารลงตามนโยบาย
โอกาสนี้ ทีมข่าวได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่หญิงประจำด่าน ซึ่งเป็นสมาชิก ทสปช.ด้วย โดยสาวๆ เหล่านี้เป็นมุสลิม เป็นคนในพื้นที่อำเภอเมืองยะลา สมัครมาปฏิบัติหน้าที่ตามด่านตรวจ เข้าเวรวันละ 6 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 กะ ครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนและชุมชนของตนเอง พร้อมยืนยันว่าไม่มีใครคัดค้านเรื่องการตั้งด่านตรวจตามที่เป็นข่าว