“อัญชนา” โวยเจ้าหน้าที่วิสามัญฯผู้ต้องหาคดีความมั่นคง สวนนโยบายแม่ทัพลดความรุนแรงทางทหารช่วงรอมฎอน หวั่นกระทบพูดคุยสุนติสุข ด้าน “แม่ทัพน้อย” แจงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ยืนยันปิดล้อมหวังให้มอบตัว แต่คนร้ายกลับยอมสู้ตายเป็นนักรบของพระเจ้า เผยเสนอโต๊ะพูดคุยฯ หยุดบ่มเพาะความคิดความเชื่อผิดๆ
ความคืบหน้าเหตุการณ์เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งมีหมายจับในคดีความมั่นคง หลังได้รับแจ้งเบาะแสว่า ไปกบดานอยู่ในบ้านเช่าริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี - นราธิวาส) ในพื้นที่บ้านปาวา ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แต่กลุ่มผู้ต้องหาไม่ยอมมอบตัว และยิงต่อสู้ จนทำให้เสียชีวิตจากการปะทะ 2 ราย เหตุเกิดเมื่อช่วงสายของวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค.67 ที่ผ่านมานั้น
เหตุการณ์ร้ายนี้เกิดขึ้นในห้วงเดือนรอมฎอน ซึ่งก่อนหน้านี้มีความตกลงกันระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายรัฐบาลไทย กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่าจะร่วมกันดำเนินมาตรการ “รอมฎอนสันติสุข” ลดการก่อเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งทำกันมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว แต่เหตุยิงปะทะดังกล่าวกลับเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ทำให้บางฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาสังคมในพื้นที่กังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อโต๊ะพูดคุยสันติสุข และกระบวนการสันติภาพ
น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ (คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร) กล่าวว่า เมื่อวันก่อนเพิ่งมีข่าวว่าแม่ทัพภาค 4 ให้นโยบายเรื่องการลดความรุนแรงทางทหารในเดือนรอมฎอน มีรายละเอียดมากมาย แต่เช้านี้ (14 มี.ค.) เป็นวันที่ 3 ของเดือนรอมฎอน กลับมีการปะทะและเสียชีวิต ซึ่งอาจทำให้ความเชื่อมั่นต่อนโยบายและการปฏิบัติของกองทัพภาค 4 ลดลงและส่งผลต่อกองทัพเองด้วยในการแสดงออกถึงความจริงใจในการตอบสนองต่อกระบวนการสันติภาพ
“ถึงแม้จะไม่มีประกาศจากทั้งสองฝ่ายว่าจะยุติปฏิบัติการทางทหารในเดือนรอมฎอนก็ตาม ก็มองว่า เหตุครั้งนี้รัฐเริ่มก่อน ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย เพราะทหารในขณะพูดคุยก็แถลงว่าจะยุติปฏิบัติการในเดือนรอมฏอน หลังการเจรจาเมื่อต้นเดือน ก.พ. และ BRN ก็ยังไม่ได้ทำอะไรในช่วงต้นเข้ารอมฎอนเลยใช่ไหม” แกนนำกลุ่มด้วยใจ กล่าวเชิงตั้งคำถาม
น.ส.อัญชนา บอกอีกว่า ที่แม่ทัพบอกว่าจะลดด่าน เพื่ออำนวยความสะดวกในเดือนรอมฏอน แต่กรณีนี้สร้างความหวาดกลัวว่า ช่วงเช้าตื่นมากินข้าว หัวรุ่งจะปลอดภัยไหม เป็นการปะทะและมีผู้เสียชีวิตครั้งแรก หลังมีรัฐบาลพลเรือน และครั้งแรกที่มีพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย
“เหตุการณ์แบบนี้มันไม่มีมานานแล้ว ทำไมจึงเกิด และมาเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ทหารจะยั่วยุให้ BRN เพิ่มการใช้ความรุนแรงมากขึ้นหรือเปล่าในเดือนนี้ และทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเจรจาใช่ไหม” เธอตั้งคำถามซ้ำอีก
ด้าน พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุปะทะ ก่อนหน้านี้ 1 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ความมั่นคงจำนวน 13 ครั้ง เสียชีวิต 6 คน ได้รับบาดเจ็บจำนวน 9 คน และเหตุการณ์ที่สำคัญมี 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนรอมฎอนคือ เหตุปล้นรถยนต์ของบริษัทหาดทิพย์ที่ จ.นราธิวาส และเหตุปาระเบิดที่ร้านคาเฟ่อเมซอน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
“จากปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐไม่สามารถที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะถ้าเราไม่บังคับใช้กฎหมาย เราก็จะเป็นผู้ทำผิดเอง” แม่ทัพน้อยที่ 4 ระบุ
พล.ท.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า เหตุปะทะที่ อ.สายบุรี การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างระมัดระวังมากที่สุด อยากให้เข้าใจว่า การต่อสู้ของผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ เลือกจะต่อสู้จนตายและสุดท้ายต้องจบด้วยการวิสามัญฯ ทุกครั้งที่เกิดเหตุ
“เราก็เสียใจไม่ต่างจากพี่น้อง แต่เขาเลือกที่จะเป็นนักรบของพระเจ้า ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับแก้ปัญหา โดยในการพูดคุยสันติสุขได้มีการเสนอประเด็นสำคัญนอกเหนือจากเสนอให้หยุดยิง ก็มีการเสนอให้หยุดกระบวนการบ่มเพาะแบบนี้ด้วย” แม่ทัพน้อยที่ 4 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี กล่าว