คำเตือนสำคัญจาก อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อก้อง ที่ออกมากระตุกเตือนการเร่งเดินหน้าพูดคุยสันติสุขกับบีอาร์เอ็น มี 3 เรื่องที่เป็นแก่นแกนสำคัญ คือ
1.อย่ามองว่าบีอาร์เอ็นอ่อนแอ และด้อยกว่า หรือรัฐจะได้เปรียบเสมอบนโต๊ะเจรจา
2.นี่คือสงครามสองแนวรบ เป็นสงครามที่มี “โต๊ะเจรจา” เป็นสนามรบด้วย ฉะนั้นอย่าโง่กว่าข้าศึก
3.ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพูดคุยเจรจา และไม่ควรยอมทุกอย่าง เพราะคิดว่าเขาจะได้ยอมเราบ้าง เพราะจะกลายเป็น “ยอมจำนน”
ข้อความทักท้วงที่มีน้ำหนักนี้ ทำให้น่าค้นหาต่อไปว่า บีอาร์เอ็นเตรียมการอย่างไรก่อนเข้าร่วมพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย ซึ่งต้องไม่ลืมว่ากระบวนการนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการมาตั้งปี 2556 หรือ 11 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่มในยุค นายฉัตรชัย บางชวด หรือ รัฐบาลนายกฯเศรษฐา
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รับข้อมูลข่าวสารการเตรียมการของบีอาร์เอ็นก่อนเข้าร่วมพูดคุยเจรจากับคณะตัวแทนของรัฐบาลไทย ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อปี 2556 และปี 2563
โดยการพบปะพูดคุยและเห็นชอบ JCPP หรือแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ล่าสุดเมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.2567 นี้ คณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นมีแกนหลักเป็นชุดเดิม นำโดย อณัส อับดุลเราะห์มาน หรือ อุสตาซหีพนี มะเร๊ะ อดีตครูสอนศาสนาของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ส่วนคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย เปลี่ยนหัวหน้าคณะจาก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็น นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช.
และนี่คือข้อมูลโดยสังเขปที่ “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบมาได้
@@ ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดรองรับโต๊ะพูดคุยเจรจา
- กลุ่มบีอาร์เอ็นมีการปรับโครงสร้างภายใน และจัดตั้งคณะทำงานขึ้นในองค์กรของตน เพื่อสร้างกลไกการทำงานรองรับการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย
- ความน่าสนใจก็คือ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อรองรับการทำงานทั้งในระดับพื้นที่ คือ พูดคุยกับรัฐบาลไทยที่มาเลเซีย และรองรับการทำงานในต่างประเทศ
- คณะทำงานมีอย่างน้อย 3 คณะ คือ
หนึ่ง คณะกรรมการการพูดคุย เป็นทีมนอกโต๊ะพูดคุย แต่ถือว่าอยู่เบื้องหลัง เพราะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพูดคุยทั้งหมด มีกรรมการราวๆ 10-15 คน
สอง คณะทำงานประชาชาติหนึ่งเดียว มีหน้าที่สร้างความเข้าใจทั้งภายในเครือข่ายของบีอาร์เอ็นเอง และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีมวลชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย ขณะเดียวกันคณะทำงานชุดนี้ก็มีหน้าที่รวบรวมข้อเสนอและรับฟังความต้องการของมวลชนกลุ่มต่างๆ ด้วย
สาม คณะทำงานสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก มีหน้าที่สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงสนับสนุนจากต่างชาติ รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่โต๊ะพูดคุย
@@ เปิดตัวสู่โลกสากล-ประเดิมสร้างความเข้าใจ
คณะทำงานชุดที่ 3 นี้ ตั้งขึ้นก่อน 2 คณะแรก โดยมีแกนนำที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศแถบยุโรป เช่น สวีเดน เป็นหัวหอกสำคัญ
คณะทำงานทั้ง 3 ชุดนี้ ไม่นับรวมคณะพูดคุยฯ ที่เปิดตัวบนโต๊ะเจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทย
- การตั้งกลไกขึ้นมารองรับและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเจรจา สะท้อนถึงความพยายามและเตรียมการของบีอาร์เอ็น แม้จะยังไม่เห็นตรงกันทั้งองค์กรว่าสมควรพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทยก็ตาม
@@ แต่งตัวใหม่ “กองกำลังไม่ใช่รัฐ-เคารพสิทธิมนุษยชน”
หนึ่งในแนวทางเตรียมความพร้อมเข้าสู่โต๊ะพูดคุยเจรจาของบีอาร์เอ็น คือ การลงนามสิ่งที่เรียกว่า Deed of Commitment (คำแถลงเจตจำนง) ร่วมกับ Geneva Call
สำหรับ Geneva Call (GC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ มีบทบาทในการสานเสวนากับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อส่งเสริมให้เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น ห้ามกระทำรุนแรงต่อเด็ก, ห้ามการละเมิดทางเพศ, ห้ามใช้กับดักระเบิด เป็นต้น
บีอาร์เอ็น ลงนามกับองค์กร Geneva Call ในเอกสาร Deed of Commitment for the Protection of Children from the Effects of Armed Conflict คือมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องป้องกันการกระทำรุนแรงต่อเด็กเท่านั้น
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลไกการทำงานภายหลังประกาศเจตจำนง (Deed of Commitment) ทาง Geneva Call จะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแก่บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานเพื่อให้กลุ่มบีอาร์เอ็นปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด
เช่น ต้องนำข้อบังคับไปปรับใช้กับกลไกภายในองค์กร, ต้องบังคับให้กองกำลังทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บัญชาการปีกการทหาร และนักรบ ปฏิบัติตามข้อบังคับทั้งหมด, ต้องเผยแพร่ข้อมูลให้สมาชิกภายในองค์กร
ขณะที่ Geneva Call จะมีบทบาทติดตามตรวจสอบให้กลุ่มบีอาร์เอ็นปฏิบัติตามข้อบังคับ ทั้งตรวจสอบด้วยตัวเอง และตรวจสอบผ่านเครือข่ายองค์กรภาคีที่เป็นองค์กรภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม โดยหามีการละเมิดข้อบังคับ บีอาร์เอ็นต้องยุติปฏิบัติการที่เป็นการละเมิดทันที หรืออาจมีการประกาศมาตรการลงโทษ
@@ ดูบีอาร์เอ็น แล้วย้อนดูตัวเรา...
จากข้อมูลทั้งหมด ชัดเจนว่า บีอาร์เอ็นร่วมลงนามกับ Geneva Call เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล และสร้างภาพว่าเป็นกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐ ต่อสู้กับรัฐโดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
ความหมายก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง อันจะส่งผลบวกต่อกระบวนการพูดคุยเจรจานั่นเอง
นี่คือสิ่งที่บีอาร์เอ็นดำเนินการ คำถามคือ คณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยเตรียมพร้อมได้เท่านี้หรือไม่ และเท่าทันความพยายามของบีอาร์เอ็นแค่ไหน อย่างไร
คำตอบของคำถามนี้ จะกลายเป็นข้อบ่งชี้ว่า JCPP ควรเดินหน้าหรือไม่ และฝ่ายรัฐบาลไทยเสียเปรียบอยู่หรือเปล่า?