หลังมีกระแสท้วงติงจาก “ผู้รู้” และ “กูรูปัญหาภาคใต้” หลายคน เกี่ยวกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม” หรือ JCPP ที่คณะพูดคุยสันติสุขฯ ของรัฐบาล ไปเห็นชอบร่วมกันกับฝ่ายบีอาร์เอ็น
ปรากฏว่ามีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนแผน JCPP ด้วยเช่นกัน ทั้งองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กร เอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ รวมถึง สส.บางพรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล
และคณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ ที่มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน ก็เพิ่งออกแถลงการณ์สนับสนุนกระบวนการพูดคุยฯ โดยระบุว่าได้เชิญ นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล มาชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดแล้ว
อีกด้านหนึ่ง ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 มี.ค.67) มีการเผยแพร่แถลงการณ์สนับสนุนกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ ตลอดจนการทำงานของคณะพูดคุยฯ และแผน JCPP จากกลุ่มคนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการสันติภาพและนักสันติวิธี ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวม 4 คน ได้แก่
รศ.ดร.มารค ตามไท นักวิชาการด้านสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ
Jonathan Powell อดีตนักการทูตชาวอังกฤษ ที่ปรึกษาอาวุโสของนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ แห่งสหราชอาณาจักร และเป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจาของรัฐบาลอังกฤษในความขัดแย้งที่ไอร์แลนด์เหนือ
Bernd Mutzelburg อดีตนักการทูตชาวเยอรมัน เคยเป็นผู้อำนวยการใหญ่ด้านประเด็นระดับโลก สหประชาชาติ สิทธิมนุษยชน และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
และคนสุดท้ายคือ Siri Skare
เนื้อหาของแถลงการณ์โดยสรุป ระบุว่า ทั้ง 4 คนมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการสันติภาพที่ทำให้เกิดการพูดคุยเพื่อสันติสุขในเวลาต่อมา และเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการมาตั้งแต่ต้น เมื่อปลายปี 2019 (พ.ศ.2562) เคยมีการนัดพบปะหารือกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
โดยกระบวนการสันติภาพดำเนินมาตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้เข้าร่วม ภายใต้หลักการเคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์
การพูดคุยมีความคืบหน้าตามลำดับ กระทั่งสามารถกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน นั่นก็คือแผน JCPP และหลังจากนี้จะมีการปรึกษาหารือร่วมกันอย่างอิสระในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา ความปลอดภัย ความมั่นคง ฯลฯ ภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
คณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง 4 คนยังหวังว่าการพูดคุยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการของบีอาร์เอ็น กับคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย จะบรรลุผลในอนาคตอันใกล้นี้
@@ รู้จัก “อ.มารค ตามไท” อดีตหัวหน้าทีมเจรจายุค “อภิสิทธิ์
“ทีมข่าวอิศรา” พยายามติดต่อ รศ.ดร.มารค ตามไท ขอสัมภาษณ์เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการออกแถลงการณ์ และความคิดเห็นต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข แต่ยังไม่สามารถนัดหมายกันได้
สำหรับ รศ.ดร.มารค ตามไท เคยมีข่าวเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราวๆ ปี 2553-2554 โดยกลุ่มที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยในขณะนั้น มีกลุ่มพูโลของ นายกัสตูรี มะห์โกตา รวมอยู่ด้วย
การพูดคุยในยุคนั้น มีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย มีการทำข้อตกลงหยุดยิงในบางอำเภอ ซึ่งในเบื้องต้นก็ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ยังไม่ทันที่จะขยายผล นายอภิสิทธิ์ได้ตัดสินใจยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก ทำให้กระบวนการสันติภาพที่ รศ.ดร.มารค ขับเคลื่อน ต้องหยุดชะงักไป
ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เปิดโต๊ะพุดคุยขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นก็พูดคุยต่อเนื่องมาทุกรัฐบาล และ รศ.ดร.มารค ก็มีบทบาทอยู่เบื้องหลัง เพราะได้รับความเชื่อถือเชื่อมั่นจากบางกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการสันติภาพ และคณะพุดคุยสันติสุข
@@ เปิดแนวคิด “อ.มารค” ไฟใต้คือปัญหาการเมืองการปกครอง
แนวคิดของ รศ.ดร.มารค คือมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาทางการเมือง ต้องแก้ที่การปกครอง ฉะนั้นปลายทางเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะเป็นรูปแบบใดเท่านั้นเอง
รศ.ดร.มารค เคยอธิบายแนวคิดของตนเองเอาไว้ในงานมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้ ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อเดือน ก.พ.2553
"ผมว่าคำถามเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองพิเศษ ณ วันนี้ไม่ต้องถามแล้วว่าควรมีหรือเปล่า มันต้องมีแน่ และคิดว่าทุกคนยอมรับในข้อเสนอนี้ คำถามที่ต้องถามต่อก็คือมันจะเป็นอย่างไรมากกว่า ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปเยอะ แต่ประเด็นตอนนี้คือใครจะถือธงนำเรื่องนี้ พอมองเป็นปัญหาจริยธรรมการเมืองการปกครอง แน่นอนก็คือรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วก็คนในพื้นที่เป็นส่วนที่จะบอกรัฐบาลว่าต้องการอะไร แต่ถ้ามองว่าเป็นปัญหาความมั่นคง การทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ซึ่งจะเป็นไปคนละทิศละทาง ขอย้ำว่าการสร้างกระบวนการสันติภาพ ภาคประชาชนเองถือเป็นกุญแจสำคัญ ส่วนคนอื่นๆ เป็นหน่วยเสริม ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ก็ตาม"
เป็นใจความสำคัญช่วงหนึ่งที่ รศ.ดร.มารค กล่าวในวันนั้น ซึ่งสามารถติดตามอ่านเนื้อหาขนาดยาวได้ใน จัดระนาบการเมืองใหม่-ตั้งเขตปกครองพิเศษ...กับสันติภาพยั่งยืนที่ชายแดนใต้