สัปดาห์นี้ นายกฯเศรษฐาน่าจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “พูดคุยดับไฟใต้” ให้ชัดเจน
เพราะฝ่ายค้านก็ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องอย่างจริงจัง เป็นทางการ
หลังจากการลงพื้นที่ 3 วันของท่านนายกฯ (27-29 ก.พ.) มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการสร้างโอกาส ซึ่งก็ตรงตามที่ท่านประกาศเอาไว้
แต่ในฐานะที่ท่านเป็นนายกฯของประเทศไทย เรื่องใหญ่อย่างการเดินหน้าหรือชะลอกระบวนการพูดคุยสันติสุข ก็ควรมีท่าทีหรือ “เจตจำนง” ที่ชัดเจนจากแกนนำรัฐบาลด้วยเหมือนกัน
เนื่องจากตอนนี้ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการพูดคุยภายใต้กรอบที่ตกลงกันเบื้องต้นระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย กับกลุ่มบีอาร์เอ็น คือ "แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม" หรือ JCPP ก็เร่งให้เดินหน้าต่อไป อ้างว่าเดินมาไกลมากแล้ว และสร้างกระแสกันว่า หนนี้จะหาข้อสรุปร่วมกันได้เสียที (สันติสุขอยู่แค่เอื้อม)
ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่เคยผ่านงานภาคใต้แบบ “ตายจริง เจ็บจริง” และนักวิชาการผู้คร่ำหวอดหลายท่าน ได้พากันกระตุกเตือน
ไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านั้นปฏิเสธการพูดคุย หรือต้องการล้มกระบวนการเจรจาสันติภาพ แต่ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นเกรงว่าอาจเป็นการตั้งต้นผิดทาง เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด แล้วมันจะก่อความเสียหายตามมา
ฉะนั้นควรใช้ความรอบคอบมากกว่านี้ และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงมากกว่านี้ก่อนหรือไม่
สถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายก็ยันกันอยู่แบบนี้ และมองกันอย่างหวาดระแวง จึงต้องใช้ท่าทีของรัฐบาลมาตัดสินว่าจะเอาอย่างไรต่อไป...ถ้าจะไปต่อ ไปต่ออย่างไร ถ้าจะทบทวน จะทบทวนแบบไหน ใช้เวลาเท่าไร และคนที่รอกระบวนการพูดคุยสันติสุขอยู่ ต้องทำอย่างไร
สำหรับผม อยู่ในปีกที่เห็นว่าควรทบทวนก่อนเพื่อความรอบคอบ และทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคมให้ชัดเจน เพราะมองเห็นกระแสคัดค้านการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นค่อนข้างเยอะ โดยดูจากการแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ
หากปล่อยไปแบบนี้ สุดท้ายอาจตกม้าตายในกระบวนการที่ไปไกลกว่านี้ได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ และอาจก่อความขัดแย้งรอบใหม่ตามมา
ข้อสังเกตสำคัญ (บางเรื่องเป็นจุดอ่อน) ของกระบวนการพูดคุยฯ เท่าที่ผมสัมผัสได้ก็คือ
1.ดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
องค์ประกอบของคณะพุดคุยฯ ไม่เป็นตัวแทนของคนไทยภาคส่วนต่างๆ (หลายเรื่องคนไทยทั้งประเทศน่าจะยังไม่รู้ เช่น มีการไปคุยกันลับๆ แถบยุโรป ทั้งสวิสฯ เยอรมัน ใช้งบกันไปไม่น้อย ฯลฯ) และจุดอ่อนข้อนี้ นำไปสู่ปัญหาข้ออื่นๆ ตามมา...
2.การพูดคุยเจรจา เป็นคำตอบสุดท้ายของปัญหา ณ เวลานี้จริงหรือไม่
3.หากจะพูดคุยเจรจา ควรคุยกับใคร ใช่บีอาร์เอ็นหรือไม่ บีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียกกันในหมู่นักสันติภาพว่า “ชาวปาตานี” จริงหรือเปล่า มีงานวิจัยหรืออะไรรองรับหรือไม่ว่าคนพื้นที่มองว่า บีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนของพวกเขา
หรือว่าแค่มีกองกำลังติดอาวุธ ลอบยิง ลอบวางระเบิด ทำคนตายได้ ก็ได้สิทธิ์คุยกับรัฐบาลไทยได้แล้ว
4.ระยะหลังสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ
-บีอาร์เอ็นก็อ่อนแรงลงมากจริงหรือไม่ (ถ้าจริง จำเป็นต้องคุยหรือเปล่า โดยเฉพาะถ้าบีอาร์เอ็นไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของคนในพื้นที่)
-สังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพลวัตการปรับตัวที่จะอยู่กับความรุนแรงได้อย่างน่าอัศจรรย์ และเศรษฐกิจเติบโตโดยไม่ได้แคร์ด่านตรวจ หรือค่ายทหารมากนัก (ในทางกลับกันอาจกล่าวได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ไม่ได้กระทบกับวิถีชีวิตปกติอย่างร้ายแรงมากมายตามที่มีการสร้างกระแสกัน)
ถนนหลายสายมีคาเฟ่สวยๆ ร้านอาหารชิคๆ ไม่แพ้ใจกลางกรุงเทพฯ ห้างค้าปลีกแบรนด์ดังเปิดสาขาและมีแผนเปิดครบทุกจังหวัด มีร้านมินิมาร์ท ร้านสะดวกซื้อ เปิดเยอะติดอันดับประเทศ
หากเรามีกระบวนการดึงจุดแข็งเหล่านี้ขึ้นมาต่อยอดพัฒนา ไม่ใช่แค่ให้นายกฯเศรษฐาไปโรโชว์ เช่น ดึงคนจากภาคธุรกิจเหล่านี้ (บางคนเป็นมุสลิม จบการศึกษาจากฝรั่งเศส จบการออกแบบจากสถาบันดังระดับโลก ฯลฯ) มาระดมสมองหาทางออกของพื้นที่ร่วมกับผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น และ สส.ซึ่งผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชนทุกระดับ รวมถึงผู้นำศาสนา (ทุกศาสนา) ที่ประชาชนเคารพศรัทธา ผสมกับตัวแทนจากทุกภาคส่วนจริงๆ โดยเฉพาะเหยื่อความรุนแรง มาวางโรดแมปร่วมกัน
ผลที่ได้อาจจะเป็น “เขตปกครองพิเศษทางอารยธรรม” มีรูปแบบการปกครองแบบพิเศษในแบบที่เคารพคนศาสนาอื่นที่เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่ใช่อิสลาม แบบนี้อาจเป็นทางออกของปัญหาได้เหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องฝากความหวังหรือความเมตตาจากบีอาร์เอ็นด้านเดียว
ส่วนโต๊ะพูดคุยกับบีอาร์เอ็นก็ไม่ต้องเลิก แต่ก็รับฟังเป็นเสียงหนึ่ง ความเห็นหนึ่งในการพัฒนาแก้ไขปัญหาพื้นที่ เพราะพวกคุณอยู่นอกประเทศ ไม่ได้สู้จริง เจ็บจริง ตายจริง เหมือนคนที่เขาไม่มีทางไป และคนที่อยู่ในประเทศก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงควรมีสิทธิ์อันชอบธรรมมากกว่า หรือไม่น้อยกว่ากลุ่มบีอาร์เอ็น (และสมาชิกบีอาร์เอ็นที่อยู่ในประเทศ ควรมีสิทธิ์ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยมากกว่าพวกอยู่นอกประเทศ)
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้ฝ่ายความมั่นคงไทยยกเลิกด่าน ถอนทหาร แต่ความชอบธรรมของบีอาร์เอ็นมีแค่ไหน เพราะกองกำลังของตนก็มีปืน มีระเบิด ฉะนั้นหากเราคิดใหม่ คุยกับคนในพื้นที่ ในชุมชน แล้วสร้างด่านตรวจแบบที่ทุกคนยอมรับได้ขึ้นมาแทน ย่อมมีความชอบธรรมกว่าการยกเลิกด่านตามคำเรียกร้องของบีอาร์เอ็น (ซึ่งบีอาร์เอ็นได้ประโยชน์เต็มๆ หากเจ้าหน้าที่เลิกตั้งด่าน แต่ชาวบ้านได้ประโยชน์หรือเปล่า ยังสรุปไม่ได้)
5.ปัญหาทั้งหมดมันเป็นเพราะเราไม่เคยมียุทธศาสตร์จริงๆ ในการแก้ไขปัญหา ไม่เคยสร้างการมีส่วนร่วมจากพลังในพื้นที่อย่างแท้จริง มีแต่ให้หน่วยงานรัฐคิดและทำตามๆ กันมา แต่เมื่อลองค้นหาเหตุผลมารองรับ กลับเบาบางเต็มที...