การลงพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเวลา 3 วัน 2 คืนของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน มรรคผลหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือ ดินแดนแห่งนี้มี “ของดี” และ “ทุนทางสังคม” มากมายจริงๆ
แต่ทั้งหมดถูกบดบังด้วยปัญหาความรุนแรง ความขัดแย้ง และความไม่สงบ
หลายสิ่งแม้แต่คนในพื้นที่เอง หรือคนที่ติดตามข่าวสารจากชายแดนใต้อย่างเกาะติด ยังไม่ทราบเลยว่ามี “ของดี” เช่นนี้อยู่ในพื้นที่ด้วย เพราะโฟกัสของคนนอกที่มองเข้าไปในพื้นที่ เพ่งมองเฉพาะปัญหาที่ฉาบอยู่บนฉากหน้าเท่านั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ตามรอยนายกฯเศรษฐา ที่ลงพื้นที่ครบทั้ง 3 จังหวัดภายใต้แคมเปญ “เที่ยวใต้ สุดใจ” และรวบรวมของดี ของแปลก งานศิลป์ งานคราฟต์ รวมไปถึงอาหารอร่อย ซึ่งเป็นทั้งภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมมานำเสนอ โดยเน้นเฉพาะสิ่งที่ไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตาของคนทั่วไปเท่าใดนัก
@@ ปัตตานี @@
“เสื้อผ้าปาเต๊ะ ลายชบาปัตตานี” ลายพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาฯ และเป็นลายผ้าประจำ จ.ปัตตานี เป็นรูปลายดอกชบา อันเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปัตตานี, ลายช่องลมมัสยิดรายอฟาฏอนี (มัสยิดจะบังติกอ) สถาปัตยกรรมไม้แบบมลายูโบราณ ตกแต่งด้วยลวดลายสลักและเถาวัลย์
“เมี่ยงคำสมุนไพร” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนอกค่ายพัฒนา ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพเเละเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการจากสมุนไพรนานาชนิด เช่น เเคลเซียม เเละใยอาหารจากใบชะพลู วิตามินซีจากมะนาว สารฟลาโวนอยด์จากหัวหอมเเดง มีสรรพคุณช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระเเละลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด รวมถึงส่วนผสมสมุนไพรอื่น ได้เเก่ มะพร้าวคั่วเเละขิงที่มีประโยชน์มากมาย
“บ้านเดินดิน” บ้านปาลัส อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่ก่อตั้งขึ้นโดย เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ศิลปินหนุ่มนักออกแบบที่เรียนทางด้าน Fine Art จากประเทศฝรั่งเศส แล้วกลับมาสร้างงานศิลปะที่มีอัตลักษณ์บนวิถีหลักคำสอนอิสลาม ในรูปแหล่งเรียนรู้ เป็นศูนย์สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความยั่งยืน ที่มีทั้งงานเซรามิกสไตล์มลายู งานคราฟต์ ฟาร์มแพะสายพันธุ์พื้นเมือง เลี้ยงไก่ไข่ และการยิงธนูพื้นเมือง
“เกลือหวานปัตตานี” หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ” เป็นคำเปรียบเปรย และยกย่องคุณสมบัติของเกลือจากเมืองปัตตานี ว่าเป็นเกลือมีรสเค็มที่แตกต่างและไม่เหมือนเกลือจากแหล่งอื่นใด โดยมีคุณสมบัติพิเศษในการนำไปหมักปลาทำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผักผลไม้ และดองสะตอ ซึ่งจะทำให้อาหารต่างๆ มีรสชาติกลมกล่อม และไม่ออกรสเค็มรสขม เหมือนกับการใช้เกลือจากแหล่งผลิตอื่นๆ โดยนาเกลือปัตตานีอยู่ในพื้นที่ริมทะเลในเขต ต.บานา ต.ตันหยงลุโล๊ะ และ ต.บาราโหม อ.เมืองปัตตานี
“ขนมเวาะห์ฮูลูบือระห์” หรือ “ขนมไข่โบราณ” ขนมพื้นถิ่นของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีรสชาติหอม หวานน้ำตาลโตนด เป็นของว่างทานเล่น จะทานคู่กับแตออ (น้ำชา) หรือกาแฟที่มีรสขมๆ โดยชา กาแฟ จะตัดกับรสหวานของเวาะห์ฮูลู แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.ยะรัง แต่ที่เลื่องลือ เป็นของหายาก ต้องยกให้ “บูเวาะห์ฮูลูบือระห์” แห่งชุมชนบ้านตันหยงลุโล๊ะ
“บ้านขุนพิทักษ์รายา” เป็นบ้านโบราณอายุกว่า 100 ปี สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่ในย่านตลาดจีน ถนนปัตตานีภิรมย์ เป็นตึกแถว 2 ชั้น 2 คูหา หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องแบบปลายแหลม ชั้นล่างโครงสร้างเป็นอิฐฉาบด้วยปู นส่วนด้านบนเป็นไม้ มีความสวยงามของสถาปัตยกรรมคงความเป็นเอกลักษณ์ของจีนและมลายู จนได้รับรางวัลบ้านทรงคุณค่าปัตตานี ปี 2563, รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ปี 2563-2564 และรางวัลเกียรติยศ Award of Merit ประจำปี 2021 จาก UNESCO
“ชุมชนกือดาจีนอ” หรือ “ชุมชนจีนหัวตลาด” ตั้งอยู่บริเวณถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดี เป็นถนนสายแรกๆ ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนล่องเรือจากสงขลามาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ย่านนี้จึงเป็นย่านการค้าของชาวจีนในสมัยก่อน อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นอาคารแบบจีนและแบบชิโนโปรตุกีส ในชุมชนเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มีโรงเตี๊ยม โรงหนัง ร้านค้าแบบจีนโบราณ และบ้านต้นตระกูลคณานุรักษ์ (ผู้นำชาวจีนในเมืองตานีขณะนั้น)
ปัจจุบันย่านนี้เป็นที่อยู่อาศัยของทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ทำให้มีความโดดเด่นทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม จึงมีการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าปัตตานีให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพวาดสตรีทอาร์ต เน้นการบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ คือความเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมของปัตตานี และมีร้านค้า ร้านอาหาร และคาเฟ่เปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้นด้วย
“ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” หรือ “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” ตั้งอยู่เลขที่ 63 ถนนอาเนาะรู ต.อาเนาะรู อ.เมืองปัตตานี เป็นศาลที่ประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่าง ๆ ภายในตัวเมืองปัตตานี ทำพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต มีผู้ที่นับถือศรัทธามาร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี
“วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม” หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า “วัดช้างให้” ตั้งอยู่ที่ ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า 300 ปี ตามตำนานกล่าวว่า พระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรี ต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิษฐานปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่า โดยมีเจ้าเมืองและไพร่พลเดินติดตามไป จนมาถึงวันหนึ่ง ช้างได้หยุดอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วร้องขึ้นสามครั้ง พระยาแก้มดำจึงถือเป็นนิมิตที่ดี จะใช้บริเวณนั้นสร้างเมือง แต่น้องสาวไม่ชอบ พระยาแก้มคำจึงให้สร้างวัด ณ บริเวณดังกล่าวแทน แล้วให้ชื่อว่า “วัดช้างให้” แล้วนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านลังกา หรือ สมเด็จพะโคะ หรือ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มาเป็นเจ้าอาวาส
“มัสยิดกรือเซะ” หรือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 450 ปีของ จ.ปัตตานี สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง ส่วนที่มัสยิดสร้างไม่สำเร็จ โดยเฉพาะบริเวณโดมมัสยิดด้านบนนั้น ก็มีการยึดโยงกับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งมีสุสานอยู่ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ ที่ถูกเล่าต่อเติมภายหลังว่า เจ้าแม่ได้สาปให้มัสยิดนี้สร้างไม่สำเร็จ จนกลายเป็นปัญหากินแหนงแคลงใจระหว่างชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่
แต่จากการสำรวจและบูรณะของกรมศิลปากร พบว่าโครงสร้างโดมนั้นมีลักษณะไม่แข็งแรงและขาดความสมดุล จึงทำให้พังทลาย ทั้งยังไม่พบร่องรอยถูกเผาหรือถูกฟ้าผ่าตามตำนานที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
@@ ยะลา @@
“ผ้าสีมายา” ผลิตจากกลุ่มผลิตภัณฑ์สีมายา บ้านหน้าถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เป็นการรวมตัวกันของบรรดาแม่บ้าน จัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม “สีมายา” ผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติทั้งผืน มีลวดลายผสมผสาน อัตลักษณ์พื้นถิ่นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นการเล่าวิถีชีวิตของคนโบราณ 3,000 ปี ซึ่งมีหลักฐานอยู่ที่ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา ผ้าสีมายา ย้อมด้วยดินมายามีที่มาจากขี้ค้างคาวในถ้ำภูเขากำปั่นและภูเขาวัดถ้ำ ผสมด้วยเปลือกเงาะ (สีเหลือง) และใบหูกวางรวมกับน้ำสนิม จะได้สีส้มอิฐสวยๆ ซึ่งเป็นสีธรรมชาติและมีความคงทน
“ปลานิลสายน้ำไหล” ที่ร้านอาหารบ่อปลานิลสายน้ำไหล ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นปลาเศรษฐกิจของ อ.เบตง ที่สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี เป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษ เพราะเลี้ยงในสายน้ำไหลเย็นจากเทือกเขา ทำให้เนื้อปลามีไขมันแทรกเนื้อจึงนุ่ม แต่เนื้อแน่น และตัวปลาไม่มีกลิ่นโคลน รสชาติหวาน สามารถนำมาทำเป็นซาซิมิได้ ราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักตัวปลา เริ่มตั้งแต่ 100 – 3,000 บาท ปัจจุบันเตรียมขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI และผลักดันให้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของอำเภอเบตง
“สวนหมื่นบุปผา” หรือ “สวนไม้ดอกเมืองหนาวเบตง” ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร 2 ต.ตะเนาะแมเราะ อ.เบตง เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้ เนื่องจากเบตงมีสภาพอากาศที่เหมาะสม ด้วยสภาพภูมิประเทศที่อยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางราว 800 เมตร มีอากาศเย็นสบายตลอดปี ระบบน้ำเพียงพอ จึงมีความเหมาะสมกับการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด สวนดอกไม้นี้อยู่ท่ามกลางภูเขาในโครงการตามแนวพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีดอกไม้นานาพันธุ์บานสะพรั่ง
“อุโมงค์ปิยะมิตร” ตั้งอยู่ที่บ้านปิยะมิตร 1 ต.ตะเนาะแมเราะ อ.เบตง เป็นอุโมงค์ประวัติศาสตร์การรบของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2519 ความยาวของอุโมงค์ประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ จคม.ใช้เป็นฐานที่ตั้งและที่พักพิง ใช้หลบการโจมตีทางอากาศ และเก็บสะสมเสบียง ภายในอุโมงค์ถูกแบ่งออกเป็นห้องหรือช่องต่างๆ ตามการใช้งาน เช่น ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง เป็นต้น ถูกค้นพบโดยทหารฝ่ายไทย ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ อ.เบตง
“ร้านต้าเหยิน(กิตติ)” ร้านอาหารจีนชื่อดัง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบตง และอยู่คู่เมืองใต้สุดสยามมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งใครที่เดินทางเยือนเบตง ก็จะต้องแวะไปชิมอาหารที่มีหลายหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ไก่เบตงสับ ผัดผักน้ำ ปลาจีนนึ่งบ๊วย ถั่วเจียน ผัดหมี่เบตง และ "เคาหยก"
“ร้านติ่มซำ ไทซีฮี้” ร้านติ่มซำเก่าแก่ชื่อดังที่อยู่คู่เมืองเบตงมากว่า 50 ปี ตั้งอยู่บนถนนเทศจินดา อ.เบตง จ.ยะลา ร้านอาหารเช้าสไตล์จีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเยือนเบตง นอกจากติ่มซำแล้วยังมีเมนูอื่น เช่น ข้าวเหนียวเบตง จี๊ฉ่องฝัน (ก๋วยเตี๋ยวราดน้ำมันกระเทียมเจียว) ซี่โครงหมูน้ำแดง และเมนูของนึ่งอีกมากมาย
@@ จ.นราธิวาส @@
“ผ้าลายเมอนารอ” จากกลุ่ม Saloma Patak ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก เป็นการผสมผสานอัตลักษณ์ของผ้าพื้นถิ่นกับลายพระราชทานของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยใช้เทคนิคผ้าปาเต๊ะ ออกแบบซ้อนลายถึง 4 ชั้น สื่อถึงแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ที่หล่อเลี้ยงชาวนราธิวาส ได้แก่ แม่น้ำบางนรา, แม่น้ำโก-ลก, แม่น้ำสายบุรี, แม่น้ำตากใบ ส่วนลายพิกุลพลอยกราฟฟิก สื่อถึงอัตลักษณ์การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลของชาวนราธิวาส ส่วนลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความจงรักภักดีของช่างทำผ้าทุกกลุ่มใน 13 หัวเมือง และปักษา 3 ปีกล้อมดิน สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ มีทรัพยากรแม่น้ำ น้ำตก ภูเขา ซึ่งล้อมดินที่มีแร่ทองคำ
“พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล” เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่ประดิษฐานกลางแจ้งองค์ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวายกจีบเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกสีทองทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 17 เมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเกศบัวตูม 9 เมตร สูงจากระดับดินรอบเนินเขาจดพระเกศบัวตูม 28.30 เมตร สร้างระหว่าง พ.ศ.2509-2512 ประดิษฐานอยู่ที่ วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรประดิษฐาราม ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส บนเนื้อที่ประมาณ 142 ไร่ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามถนนสายนราธิวาส-ระแงะ ประมาณ 9 กิโลเมตร
“พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน” ตั้งอยู่ที่ชุมชนศาลาบ้านลูกไก่โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ต.ละหาร อ.ยี่งอ สถานที่รวบรวมเก็บรักษาคัมภีร์อัลกรุอานโบราณที่คัดด้วยลายมือ มีอายุ 150 ปี – 1,100 ปี จำนวน 79 เล่ม และเอกสารโบราณทั่วไปที่มีองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้ามาต่อยอดในการดำเนินการขึ้นทะเบียนคัมภีร์และเอกสารโบราณ รวมทั้งช่วยในการดำเนินการเก็บรักษา บูรณะ ซ่อมแซม ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง และทางภาครัฐยังได้อนุมัติงบประมาณให้กรมศิลปากร ดำเนินการจัดสร้างเป็น “พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน” ขึ้นด้วย
“ปลากุเลาเค็มตากใบ” ของดีประจำอำเภอตากใบ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารทำปลากุเลาเค็มมากว่า 100 ปี จากชื่อเสียงเรื่องความอร่อยในรสชาติเฉพาะตัว ถูกใจผู้คนที่ได้ลิ้มลอง จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม” นิยมซื้อเป็นของฝาก มีราคาสูงตั้งแต่ กิโลกรัมละ 1,000 - 2,000 บาท ไปจนถึงตัวละเกือบหมื่นบาท ด้วยความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ จึงเคยถูกนำไปเป็นอาหารเป็นหนึ่งเมนูอาหารในงานเลี้ยงผู้นำเอเปก 2022 ที่ผ่านมา