“นายกฯเศรษฐา” นำคณะตรวจราชการชายแดนใต้วันที่ 2 เยี่ยมอุทยานการเรียนรู้ TK Park ยะลา ชื่นชมผลงานนักเรียน มอบหมายหน่วยงานรัฐสนับสนุนพัฒนาต่อยอด โชว์ซีนรับฟังคนรุ่นใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเยาวชน มุ่งหน้ากราบรูปปั้นหลวงปู่ทวด รับปากเจ้าอาวาสวัดช้างให้ สร้างความสงบควบคู่ฟื้นเศรษฐกิจ ได้ฤกษ์ชิม “ปลานิลสายน้ำไหล” สุดเลื่องชื่อเมืองเบตง
วันพุธที่ 28 ก.พ.67 ภารกิจการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เพื่อร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวใต้ สุดใจ” วันที่สองของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ ยังคงคึกคัก และสัมผัสพื้นที่อย่างใกล้ชิด
คณะของนายกฯประกอบด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยกำหนดการวันที่สอง เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งในปี พ.ศ.2567 จังหวัดยะลาตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติประมาณ 2,000,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7,000 ล้านบาท
เวลา 09.30 น.นายกฯ เศรษฐาและคณะเดินทางไปสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยะลา โดยนายกฯ และคณะได้สวมเสื้อมัดย้อมสีมายา ลายดอกพิกุลแซมด้วยใบศรียะลา สัญลักษณ์ดอกไม้ประจำจังหวัดที่ทางจังหวัดตัดให้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผลิตภัณฑ์สีมายา บ้านหน้าถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา
ผ้ามัดย้อม “สีมายา” มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ โดยสีที่ได้ นำมาจากดินที่อยู่ภายในถ้ำภูเขากำปั่น และภูเขาวัดถ้ำ เป็นดินลักษณะเฉพาะที่ชาวบ้านใช้เป็นปุ๋ยในการเพาะปลูกต้นไม้ แต่ระยะหลังชาวบ้านนำดินสีมายามาทำเป็นปุ๋ยลดน้อยลง จึงช่วยกันคิดนำเอาดินมายามาทำเป็นสีย้อมผ้าแทน
@@ ชื่นชมโครงงานนักเรียน พร้อมหนุนพัฒนาต่อยอด
จากนั้นนายกฯ และคณะ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park) ซึ่งเป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมรับฟังการบรรยายกิจกรรมภายใน TK Park
ระหว่างเยี่ยมชม นายกฯ ได้กล่าวชื่นชมแนวคิดของนักเรียนที่ดำเนินโครงงานที่ดีและเป็นประโยชน์ พร้อมสอบถามเรื่องทุนโครงงานของนักเรียน และการพัฒนาต่อยอดสินค้าจากนักเรียน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและพัฒนาต่อยอดให้คนเข้าถึงและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ส่วนด้านแอปพลิเคชัน นายกฯเน้นให้ทำเกี่ยวกับการเกษตรในพื้นที่ให้ดี แล้วค่อยพัฒนาไปยังพื้นที่อื่นๆ
“สินค้าดีแต่ขาดโอกาสนำเสนอ ขอให้นักเรียนมีความทะเยอทะยาน กล้านำเสนอโครงงาน ผู้ใหญ่ต้องกล้าที่จะสนับสนุนต่อยอดพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ทำให้ชิ้นงานของนักเรียนเสียประโยชน์” นายกฯ ย้ำ
@@ แลกเปลี่ยนความเห็นเยาวชน – ส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียม
โอกาสนี้ นายกฯได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียนโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง เขตเทศบาลนครยะลา โดยตัวแทนนักเรียนได้ขอสนามบินให้กับชาวยะลา หลังจากนั้นนักเรียนได้มีการตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีว่า คนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับโอกาสทางการศึกษาเหมือนกับประชาชนในพื้นที่อื่นๆ หรือไม่
นายกฯ ตอบว่า เป็นคำถามที่ฟังแล้วน่าคิด คนที่อยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้รับสิทธิ ไม่ได้รับโอกาสเท่าเทียมกับคนที่อยู่จังหวัดอื่น นี่คือความคิดพื้นฐาน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องให้เยาวชนทุกคนที่อยู่ในทุกๆ ภูมิภาคมีสิทธิความเท่าเทียมเพื่อสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเสมอหน้ากัน
ขณะเดียวกันมีเยาวชนเสนอให้รัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ทำให้ประชาชนไม่มีความเหลื่อมล้ำ, อยากให้ยะลาเป็นเมืองท่องเที่ยวมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว พร้อมกับถามนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีมีความฝันอะไร ในขณะที่อายุเท่ากับพวกตน
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ได้อธิบายมาหลายๆ เรื่องขึ้นอยู่กับความฝันและแรงบันดาลใจของเยาวชน วันนี้ตนเองมาในฐานะรัฐบาล หน้าที่ของตนคือใครฝันอยากเป็นอะไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสานฝันให้ทุกท่านเข้าถึงโอกาสได้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม หลายๆ อย่างที่บอกมาอยู่ในแผนงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบินยะลา การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ที่นี่ไม่ได้มีศักยภาพน้อยไปกว่าจังหวัดอื่นที่ตนเดินทางไป ยะลาครบหมดทุกอย่าง มีเรื่องงบประมาณที่จะต้องสนับสนุนให้ บางเรื่องเกี่ยวข้องกับปริมาณความต้องการซื้อและความต้องการขาย ส่วนเรื่องของสนามบิน เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ที่นี่จะสามารถมีสนามบินได้ ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากจะเดินทางมา
นายกฯ ยืนยันต่อหน้าเยาวชนว่า โอกาสเป็นเรื่องสำคัญ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพเต็มที่
“ผู้ใหญ่มาแล้วไม่เห็น มาแล้วไม่ทำ ผู้ใหญ่ก็ผิด ผมไม่ได้มาคนเดียว รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็มา ผมเชื่อว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งสันติภาพ มีทั้งสันติสุข มีทั้งความสุขที่ประชาชนจะต้องได้รับ และจะกลับมาติดตามความคืบหน้าในทุกโครงการที่ได้ขับเคลื่อนไปในวันนี้”
@@ รับปากเจ้าอาวาสวัดช้างให้ สร้างความสงบควบคู่เศรษฐกิจ
จากนั้นนายกฯ ได้รับชมการถ่ายทอดบทเพลงจากวงออเคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา ในเพลงเสน่ห์ยะลา และเพลง Can’t help falling in love โดยนายกฯได้มอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจวงออเคสตร้า ก่อนจะรับมอบผ้าเทคนิคย้อมด้วยแสง จากผู้ประกอบการจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผ้ามัดย้อม แบรนด์ pakaian melayu
จบภารกิจที่เทศบาลนครยะลา นายกฯเศรษฐา พร้อมคณะเดินทางไปสักการะหลวงปู่ทวด และกราบนมัสการ พระครูอนุกูลปริยัติกิจ (สวัสดิ์ อรุโณ) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ที่วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
โอกาสนี้ เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ได้กล่าวฝากนายกฯ ในช่วงหนึ่งว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความพร้อมทั้งภูเขา ทะเล ป่าไม้ หากคนรู้สึกปลอดภัย ก็จะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาได้และเศรษฐกิจก็จะดี”
โดยนายกฯ ได้กล่าวกับเจ้าอาวาสว่า เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงได้ดำเนินการคู่ขนานกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ และความคืบหน้าเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกในระยะสองปีที่ผ่านมา เรื่องเศรษฐกิจต้องน้อมไปรับทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องการประมง เรื่องแรงงาน และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน
@@ ชิมเมนู “ปลานิลสายน้ำไหล” เบตง
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายกฯเศรษฐา เดินทางไปที่ร้านอาหาร บ่อปลานิลสายน้ำไหล ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมส่งเสริมสินค้า “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” และ “ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา” สู่ GI ไทย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา อ.เบตง
สำหรับเมนู “ปลานิลน้ำไหลเบตง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ในแคมเปญ “เที่ยวใต้ สุดใจ” ด้วย
โอกาสนี้ นายกฯ และคณะได้ร่วมรับประทานอาหาร เป็นเมนูที่ทำจากวัตถุดิบ “ปลานิลสายน้ำไหล” โดยมีเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟอาหารไทยที่โด่งดังอันดับต้นๆ ในยุคนี้ รังสรรค์เมนูผัดพริกขิงสมุนไพร และ ปลานิลสายน้ำไหลนิ่งมะนาวส้มจี๊ด ให้กลายเป็นเมนูระดับ Master Chef อย่างพิถีพิถัน
จากนั้น นายกฯเศรษฐา ได้ชมการกิจกรรม workshop อิเคะจิเมะ (Ikejime) ศิลปะการปลิดชีพปลาแห่งแดนอาทิตย์อุทัย โดยนำมาใช้กับ “ปลานิลสายน้ำไหล” โดยภายในงานมีการสาธิตการทำ อิเคะจิเมะ โดย นายณธกร ศรุตธนาเจริญ หรือ เชฟนิว และ นายธนิสร วศิโนภาส หรือ เชฟออฟ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลอีกด้วย และได้ทำเมนู “ซาชิมิปลานิลสายน้ำไหล” ให้ได้ชิมกันอีกรอบ
@@ ต่อยอดสู่ “ซาซิมิปลานิล”
นายสันติชัย จงเกียรติขจร หรือ “โกหงิ่ว” เจ้าของร้านอาหาร บ่อปลานิลสายน้ำไหล กล่าวว่า รู้สึกยินดีมากที่นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางมาชิมอาหารที่ร้าน จึงได้เตรียมอาหารเมนูซิกเนเจอร์ปลานิลสายน้ำไหลไว้เสิร์ฟต้อนรับ ได้แก่ ขลุ่ยปลานิล, ซาชิมิปลานิลสายน้ำไหล, ปลานิลทอดน้ำปลา, ปลานิลสามรส, แกงส้มปลานิล และผัดผักน้ำน้ำมันหอย
“ปลานิลที่นี่มีลักษณะพิเศษ เพราะเลี้ยงในสายน้ำไหลเย็นจากเทือกเขา ทำให้เนื้อปลามีไขมันแทรกเนื้อจึงนุ่ม ประกอบกับปลาว่ายทวนสายน้ำทำให้เนื้อแน่น และสายน้ำที่ไหลผ่านตัวปลาทำให้ปลาไม่มีกลิ่นโคลน รสชาติหวาน สามารถนำมาทำเป็นซาซิมิได้ เนื่องจากเคยมีเชฟจากญี่ปุ่นมาเที่ยวและชิมเนื้อปลานิลของที่นี่ แนะนำให้ทำเป็นเมนูปลาดิบ หรือซาซิมิ โดยใช้วิธี “อิเคะจิเมะ” (Ikejime) คือ การทำปลาแบบญี่ปุ่น บ่มไว้ก่อน 1 คืน จึงอร่อยเป็นพิเศษ” โกหงิ่ว กล่าว
สำหรับปลานิลสายน้ำไหล เป็นปลาเศรษฐกิจของอำเภอเบตง ที่สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยราคาจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของปลา โดยปลาที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะขายกิโลกรัมละ 100 บาท ปลาน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 200 บาท คิดเป็นตัว ตัวละ 400 บาท ปลาน้ำหนัก 3 กิโลกรัมขายกิโลกรัมละ 300 บาท คิดเป็นตัว ตัวละ 900 บาท
ปลาน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 500 บาท คิดเป็นตัว ตัวละ 2,500 บาท และปลาน้ำหนัก 6 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 600 บาท คิดเป็นตัว ตัวละ 3,600 บาท
ขณะนี้กลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดยะลา เตรียมขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับปลานิลสายน้ำไหลสู่การสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชนอย่างยั่งยืน สามารถส่งออกต่างประเทศได้อย่างมีคุณภาพ และผลักดันปลานิลสายน้ำไหลเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของอำเภอเบตง และให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต่อไป
@@ ดึงสิ่งซ้อนเร้นสร้างมูลค่า หันหน้าคุยกันเพื่อปากท้อง
จากนั้นคณะของนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมชมสวนดอกไม้เบตง หรือสวนหมื่นบุปผา มีประชาชนรอต้อนรับอย่างคับคั่ง มีการใส่ชุดพื้นเมืองในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อแสดงถึงประเพณีและอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน อาทิ ชาวเขาที่ย้ายถิ่นฐานมาจาก จ.เชียงราย ใส่ชุดลาหู่ พี่น้องหมู่บ้านคอมมิวนิสต์มลายา ใส่ชุดทหารจีน เป็นต้น
จากนั้นนายกฯ และคณะได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานของด่านศุลกากรเบตง ณ ด่านศุลกากรเบตง จ.ยะลา และได้ชมความสวยงามของอุโมงค์ปิยะมิตรเบตง เพื่อวางแนวทางยกระดับการท่องเที่ยวเมืองเบตงอีกด้วย
นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า การเดินทางมาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อหาโอกาส และสิ่งที่ซ่อนเร้นเพื่อดึงขึ้นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่อยากให้มองแค่ปัญหา แต่อยากให้มองในลักษณะของการสร้างโอกาส
@@ ให้คำมั่น เที่ยวบินเบตงมาแน่
“ส่วนเรื่องการขนส่งคมนาคม โดยเฉพาะท่าอากาศยานเบตงที่ในปัจจุบัน แม้จะเป็นสนามบินนานาชาติ แต่ก็ต้องปิดให้บริการนั้น ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีการพูดคุยเรื่องถนน สนามบิน แต่เราต้องเข้าใจในเชิงพาณิชย์ ถ้าจะให้เอกชนเข้ามา ก็ต้องมีดีมานด์ ผมมาที่นี่เพื่อมาสร้างดีมานด์ มาสร้างให้โลกรู้ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดที่น่าท่องเที่ยว และไม่ต้องห่วง ถ้ามีดีมานด์มา เครื่องบินมาแน่”
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การให้ความมั่นใจเรื่องความมั่นคงกับประชาชนนั้น ฝ่ายความมั่นคงทำงานมาด้วยดี ตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ปัญหาลดลงไปเยอะมาก ไม่มีใครอยากมีปัญหา วันนี้เราต้องพูดเรื่องโอกาสมากกว่า ถ้าเราลืมเรื่องความไม่มั่นคง หรือความทะเลาะเบาะแว้ง และหันมาพูดเรื่องโอกาส เชื่อว่าทุกคนอยากมีเงินในกระเป๋า ถ้าเศรษฐกิจดี มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม ได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันทุกคน เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน เชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้ัอย
“ประชาชนอยากขยายธุรกิจ สิ่งที่เขาต้องการคือเงินทุน รัฐบาลก็ต้องพยายามจัดการ โดยเฉพาะธนาคารอิสลามที่เข้าใจถึงบริบทการอยู่อาศัยของพี่น้องสามจังหวัด รวมถึงธนาคารอื่นๆ ก็ต้องมีการพูดคุยกันเพื่อรองรับ อย่างเช่น หากมีการอยากขยายการเพาะพันธุ์ปลานิลน้ำไหล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงกระทรวงการคลังด้วย” นายกฯ ระบุ