“นายกอ๋า” แสดงวิสัยทัศน์แก้ปัญหาเศรษฐกิจชายแดนใต้ รับนายกฯเศรษฐา ลงตรวจราชการปลายด้ามขวาน เสนอไอเดีย “ท่าเรือปัตตานี” คุ้มกว่า-ประหยัดกว่าแลนด์บริดจ์
นายกฯเศรษฐา ทวีสิน พร้อมคณะ มีกำหนดการลงตรวจราชการด้านการท่องเที่ยวและการสร้างโอกาสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 27 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ทุกหน่วยงานในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับนายกฯ ซึ่งจะตะลุยพื้นที่ครบทั้ง 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ในส่วนของจังหวัดยะลาได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ด่านพรมแดนเบตง ที่เกี่ยวข้องกับพิธีการทางศุลกากรเข้าและออกระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดยะลา พร้อมเพิ่มความสะดวกการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และผลักดันให้อำเภอเบตง เป็นตลาดกลางการเกษตร สำหรับซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้
กล่าวเฉพาะจังหวัดยะลา นายกฯจะลงพื้นที่ในวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยจะเข้าสักการะศาลหลักเมืองยะลาเพื่อเป็นสิริมงคล ต่อจากนั้นเดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้เยาวชน (TK PARK ยะลา) ก่อนจะไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินบ่อทอง จังหวัดปัตตานี ไปยังอำเภอเบตง และนอนค้างคืนที่อำเภอเบตง ติดตามข้อมูลจากภาครัฐ ภาคประชาชน และประชาชนให้มากที่สุด จะได้รับรู้และเห็นสภาพจริงของพื้นที่
สำหรับ TK PARK ยะลา จุดที่นายกฯจะไปเยือน เป็นอาคารในความรับผิดชอบของ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ หรือ “นายกอ๋า” นายกเทศมนตรีนครยะลา ซึ่ง “นายกอ๋า” เตรียมจะสื่อสารกับนายกฯเศรษฐาเกี่ยวกับจิตวิญญาณของ TK PARK สร้างนิสัยเยาวชนให้รักการอ่าน เพื่อให้เยาวชนปล่อยแสงแห่งศักยภาพ แสงแห่งความรู้ออกมาช่วยแก้ปัญหาสังคม
ขณะเดียวกันก็จะต่อยอดส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ ก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ นำความเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมสู่สังคมชายแดนใต้ต่อไป
“นายกอ๋า” เผยว่า จะบอกกับนายกฯเศรษฐา ว่า เรากำลังต้องการอะไร
1.ต้องการสร้างสตาร์ทอัพในพื้นที่บ้านเรา
2.สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนมองเห็นรุ่นพี่ได้ทำ และสามารถสร้างให้เด็กเกิดมูลค่าเพิ่มในพื้นที่
3.เมื่อเยาวชนได้เป็นสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ก็จะมีการจ้างงานขึ้นมา
“การจ้างงานเป็นปัญหาหลักของจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักศึกษาที่จบมากลายเป็นคนว่างงาน หลายครอบครัวที่พ่อแม่ตั้งความหวังกลับไม่มีงานทำ สภาพแบบนี้เป็นเรื่องง่ายที่จะโดนชักชวนไปในทางที่ผิดหรือคิดต่างจากรัฐได้”
“นี่เป็นการสร้างแรงคุณค่าในพื้นที่ที่ผมตั้งใจจะบอกท่านนายกฯ” พงษ์ศักดิ์ กล่าว
จังหวัดยะลาเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่ถูกจำกัดในเรื่องการขนส่ง “นายกอ๋า” จึงเตรียมนำเสนอให้นายกฯเศรษฐาได้ฟังข้อมูล เช่น เกษตรกรยะลาแต่ละปีปลูกทุเรียนเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ ผลผลิตทุเรียนจังหวัดยะลาปีที่แล้วมี 100 ล้านกิโลกรัม แต่ถูกจำกัดในเรื่องการขนส่ง ทำให้ถูกตัดราคาลง
“ลองคิดดูว่ากิโลฯละ 30 บาท 100 ล้านกิโลฯ หมายความว่า 3 พันล้านบาทจะต้องอยู่ในมือเกษตรกร แต่ต้องถูกตัดส่วนหนึ่งให้กับล้งที่นำทุเรียนของเราไปยังภูมิภาคอื่น”
“ฉะนั้นจังหวัดยะลาต้องมีตลาดการเกษตรขนาดใหญ่ที่ทำให้ล้งและพ่อค้าคนกลางสามารถใช้บรรจุและขนส่งผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศโดยที่ไม่ต้องผ่านจังหวัดอื่นได้ ทำให้เกษตรกรเราได้ราคาเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น”
“วันนี้ถ้ามองเศรษฐกิจโลกในวันข้างหน้า ในเอเชียตะวันออก มีประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี ประเทศพวกนี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทย เมื่อมองว่าจังหวัดไหนในประเทศไทยใช้เส้นทางทะเลใกล้กว่า ต้องบอกว่าไม่มีจังหวัดไหนใกล้กว่าจังหวัดปัตตานี หากมองไปยังเส้นทางขนส่งในอดีต จังหวัดปัตตานีเป็นเส้นทางหลักในการค้าขายกับประเทศจีน โดยมีหลักฐานตั้งแต่พี่ชายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่มาขึ้นฝั่งบ้านกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี”
“ฉะนั้น ถ้าเราสามารถสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปัตตานี ในขณะที่ท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดสงขลาลึกไม่พอ ลึกแค่ 9 เมตร ทำให้เรือใหญ่ไม่สามารถเข้ามาได้ และมีต้นทุนการขนส่งสูง แต่ถ้ามาสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปัตตานีแทน พื้นที่นี้เหมาะสมที่สุด และมีความลึก 15 เมตร เรือใหญ่สามารถเข้ามาได้ และใช้ระยะเวลาขนส่งจาก 14 วัน ลดเหลือแค่ 7 วัน“
”ส่วนท่าเรือฝั่งตะวันตก โลกปัจจุบันไม่มีอะไรมากกว่าการต้องแชร์ด้วยกัน ฉะนั้นในอ่าวไทยได้ท่าเรือที่จังหวัดปัตตานี อีกฟากหนึ่งในซีกประเทศมาเลเซีย รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู สามารถใช้ร่วมกับท่าเรือจังหวัดปัตตานีได้ และในซีกทางตอนใต้ล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชไล่ลงมา มาใช้ท่าเรือจังหวัดปัตตานี ในขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตกเราไปใช้ท่าเรือน้ำลึกที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ก็จะกลายเป็นการใช้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ ฉะนั้นทั้ง 2 ประเทศจะต้องจะต้องดูแลความเรียบร้อยในอนุภูมิภาคนี้”
จากไอเดียของ “นายกอ๋า” ทำให้มองเห็นช่องทางลดต้นทุนจากแผนเมกะโปรเจกต์ อย่าง “แลนด์บริดจ์”
“ประเทศไทยที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง ก็ไม่จำเป็นอีกแล้ว ทำแค่ฝั่งเดียวที่จังหวัดปัตตานี กับการสร้างเส้นทางรถไฟเพิ่มเติมบางส่วนที่เรามีอยู่แล้ว ทำให้ประหยัดงบประมาณของประเทศอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ได้ คือ ทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซียได้ใช้ประโยชน์ท่าเรือร่วมกัน เชื่อว่าการลงทุน การจ้างงาน เศรษฐกิจ และความสงบสุขในพื้นที่จะเกิดขึ้น”
---------------------------