ได้เวลาต้องชี้แจงกันแล้ว สำหรับหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช.
เพราะสิ่งที่เรียกว่า JCPP หรือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” ที่ไปเห็นชอบร่วมกันกับบีอาร์เอ็น จากการพูดคุยฯรอบล่าสุดเมื่อ 6-7 ก.พ.67 และมีสื่อมวลชนบางแขนงนำรายละเอียดมารายงาน ปรากฏว่าถูกวิจารณ์อย่างหนัก
โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า รัฐบาลไทยโดย “คณะพูดคุยฯ” กำลัง “เสียรู้” บีอาร์เอ็นหรือไม่ และกำลังจะนำพาประเทศไปสู่สถานะที่ “เสียเปรียบ” หรือเปล่า และอาจนำไปสู่บทสรุปที่ร้ายที่สุดนั่นก็คือ “เสียดินแดน”
คำถามที่แหลมคมอย่างยิ่งก็คือ ถ้าความเสียหายเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง...ใครต้องรับผิดชอบ?
แน่นอนว่าคนที่ยืนหนึ่งต้องรับผิดชอบแน่ๆ ก็คือเขาคนนี้...ฉัตรชัย บางชวด
หลังเรื่องราวของ JCPP ร้อนแรงอย่างยิ่ง หัวหน้าคณะพูดคุยฯป้ายแดง ได้ให้สัมภาษณ์แบบยาวๆ กับ อัญชลี อริยกิจเจริญ ผู้สื่อข่าวสายทหารของเนชั่นทีวี ตอบทุกคำถามที่หลายฝ่ายคาใจ ซึ่งบางคำถาม “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” ก็ฝากไปถามด้วย
@@ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า JCPP เป็นข้อตกลงเบื้องต้นที่เรายอม BRN มากเกินไป ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
แผนสันติสุขแบบองค์รวม เป็นกิจกรรมที่สองฝ่ายกำหนดร่วมกัน ทำร่วมกัน ส่วนผลจากกิจกรรมจะมีแนวทางอย่างไรเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
กิจกรรมตรงนี้ ในตัวแผนปัจจุบันอยู่ในกระบวนการ “คณะเทคนิค” ที่ต้องพูดคุยรายละเอียด แม้กระทั่งตัวกิจกรรมที่จะทำก็อยู่ในกระบวนการที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่หลักการสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่ามันเป็นหนทาง เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ข้อตกลงที่สันติสุขได้ในอนาคต
แผนสันติสุขแบบองค์รวม เป็นแผนต่อเนื่องจากยุคอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ได้ปูทางกับทาง BRN ไว้บ้างแล้วว่าจะต้องมีแผนนี้ขึ้นมา และผมก็มาสานต่อ เป็นเรื่องที่ภาครัฐก็ได้มีการประเมิน ทบทวน รับฟัง แม้กระทั่ง BRN เองก็รับฟังแลกเปลี่ยนมาโดยลำดับ ตั้งแต่ยุคที่แล้ว ซึ่งเป็นแผนที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ และฝ่ายรัฐเองก็ได้เสนอต่อผู้อำนวยการสะดวก ซึ่งทาง BRN ก็เห็นชอบหลักการของตัวแผน
ขอย้ำว่าเป็นการเห็นชอบหลักการ ส่วนกิจกรรมย่อยก็ต้องมาถกกันว่าเหมาะหรือไม่อย่างไร แต่มีกรอบหลักการอยู่ หลักการที่ว่านี้ก็มีเรื่องที่สืบเนื่องย้อนไปว่า ก่อนหน้านี้ รัฐ กับ BRN ก็เห็นชอบ หลักการทั่วไป 3 ข้อ ซึ่งเป็นพื้นฐานเป็นกรอบคิดที่นำมาสู่การแปลงเป็นแผน โดยกรอบ 3 ข้อ คือ
1.ยุติความรุนแรง
2.การมีเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง
เมื่อมีหลักการ 3 ข้อนี้แล้ว ทาง BRN ยอมรับ ก็นำมาสู่การกำหนดแผนที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน และขอย้ำให้ทุกฝ่ายสบายใจว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ไม่อยู่นอกกรอบ เพราะถ้าอยู่นอกกรอบก็ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ซึ่งเราจะไม่ทำนอกกรอบ
@@ พร้อมชี้แจงกับทาง กมธ.ชุดต่างๆ ของ สว. รวมไปถึง กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ของ สส.หรือไม่?
พร้อมชี้แจง ซึ่งมีการนัดหมายมาแล้วในสัปดาห์หน้าทั้ง 2 คณะ ในวันเดียวกัน และขอย้ำว่าเนื้อในของ JCPP มีรายละเอียดเยอะ แต่ในแผนนี้มันเป็นกิจกรรม ซึ่งข้อสรุปต่างๆ ยังไม่ได้ออกมา
แต่บางคนไปให้สัมภาษณ์ ให้ความเห็นเรื่องของนครปัตตานี ขอย้ำว่าไม่มีในแผน ไม่ปรากฏคำว่า รัฐปัตตานีเลย เป็นเพียงการพูดคุยทางออกทางการเมือง มีเวทีสาธารณะ ซึ่งก็ต้องมาออกแบบอีกทีว่าจะเป็นแบบไหนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มในพื้นที่ ในรูปแบบที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับ และขอย้ำว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ไม่นอกกรอบ
เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า จะเสียอะไรต่างๆ ผมคิดว่ามันมีกรอบชัด และรัฐบาลก็มีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน โดยได้มีการประสานขอรับฟังทุกส่วนมาโดยลำดับ ก็ให้มั่นใจได้ในส่วนของคณะพูดคุยฯ
@@ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ตั้งคำถามว่า คณะพูดคุยฯไปตกลง หรือไปรับ JCPP มา ทางรัฐบาลได้รับทราบเรื่องก่อนหรือไม่?
รัฐบาลทราบเรื่อง โดยคณะพูดคุยฯ และ สมช. ก็ได้รายงานมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลก็รับทราบว่าจากเนื้อหาต่างๆ ก็เป็นประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นเครื่องมือที่มีพัฒนาการขึ้นมา นำไปสู่การเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ทุกอย่างมีกระบวนการ ผลที่ออกมาจากแผนตัวนี้ รัฐบาลต้องมาตัดสินใจ แม้กระทั่งฝ่าย BRN ฝ่ายประชาชนเอง ก็มีมุมมองที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐได้รับข้อเสนอจากการมีเวทีต่างๆ ก็ต้องมาตัดสินใจว่าข้อเสนอต่างๆ ที่เรียกร้องมานั้น เราจะทำได้ไหม หรือจะปรับแบบไหน อย่างไร
@@ ที่ถูกมองว่ากรอบคิดแบบราชการไทย ไม่แก้ปัญหาทางยุทธศาสตร์ของประเทศ มองอย่างไร?
ราชการเป็นกลไกหนึ่งในการเสนอแนะนโยบาย โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งนโยบายไม่ได้ Top Down ไปจากข้างบน แต่มาจากชาวบ้านในพื้นที่ นักวิชาการ นำไปสู่การมีนโยบาย
และนโยบายก็กำหนดว่าเรื่องการพูดคุยสันติสุขในรูปแบบที่ผมกำลังดำเนินการ เป็นรูปแบบที่ต้องทำ เพราะเป็นทางออกหนึ่งที่เป็นเรื่องสันติวิธีที่ไม่ต้องมีการสูญเสีย และเชื่อว่าฝ่ายขบวนการเอง หรือฝ่ายในพื้นที่ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วแผนทาง BRN ก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วย ก็ต้องมาคุยกัน
ดังนั้นแผนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมา แต่หลักการมันดี อยากให้ทุกคนมั่นใจว่าเราทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติอย่างแท้จริง ไม่ได้มีเรื่องอื่นแอบแฝง
@@ JCPP ได้เข้าที่ประชุมใหญ่ สมช.ไปหรือยัง เพื่อให้ทุกเหล่าทัพได้ร่วมกันพิจารณา ผ่านขั้นตอนมาแล้วหรือไม่?
ตอนนี้มันเป็นกิจกรรมที่เราจะทำงานร่วมกัน ผลที่ได้ต้องเข้าที่ประชุมใหญ่ ซึ่งแผนกิจกรรมนี้ก็มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน กระทรวงต่างประเทศ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นการยุติความรุนแรงด้วย
ที่เห็นอยู่ในร่างแผน 6-7 ข้อ ก็ได้ผ่านกระบวนการจากกองทัพภาคที่ 4 แล้ว ซึ่งเป็นหลักการว่า จะทำได้ไหม อย่างไร จะกระทบหรือไม่
อย่างเรื่องการลดความรุนแรง ไม่ได้ทำด้วยฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว จะต้องตอบสนองทั้งสองฝ่าย ระหว่างนี้อยู่ในการถกกัน ซึ่ง 6-7 ข้อของเรา กับ 6-7 ข้อของ BRN มันเป็นแบบไหนอย่างไร คณะเทคนิคจะไปคุยรายละเอียด ซึ่งก็ต้องสรุปอีกที ไม่ใช่จะเป็นไปตามที่ปรากฏในร่างแผนทั้งหมด
@@ กรณีหลายฝ่ายเป็นห่วง เตือนว่าระวังจะหลงเกม BRN จนเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกดินแดน เรื่องนี้คณะพูดคุยฯ จะมีมาตรการหรือแผนป้องกันอย่างไร?
เราน้อมรับความเห็นทุกฝ่ายที่มีข้อสังเกต ข้อกังวล พร้อมนำมาทบทวน ปรับแนวทางให้เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามมีกรอบชัดเจนในการทำงาน ซึ่งการขับเคลื่อนพูดคุยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ถ้าอยู่นอกกรอบจะไม่ทำ
เพราะฉะนั้นเป็นจุดที่เรียกว่าสร้างความเชื่อมั่นได้ ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันเรื่องของการพลาดพลั้ง พลัดหลงต่างๆ อีกทั้งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
@@ เราสามารถขอร้องทาง BRN ได้หรือไม่ว่าเวลาที่มีการพูดคุยกันแล้ว อย่าเพิ่งให้สัมภาษณ์อะไรที่ออกแนวล่อแหลม เพราะจะทำให้คนเข้าใจฝั่งรัฐไทยผิด?
ในการพูดคุยมีกติกาการประชุม ซึ่งที่กำหนดไว้ชัดมากก็คือ สิ่งใดที่อยู่ในห้องประชุมที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ไม่ควรออกมาแถลงภายนอก ซึ่งทางผู้อำนวยความสะดวกก็ทราบดี ฝ่ายรัฐไทยได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องนี้ ดังนั้นถ้าไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องพิจารณากัน แต่ถ้าออกมาก่อนก็จะเกิดภาพแบบนี้
ครั้งต่อไปก็คงต้องหยิบยกเรื่องนี้มาทบทวนเหมือนกัน โดยขอให้เป็นไปตามที่กำหนด ถ้าจะแถลงต่อสาธารณะ ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นชอบร่วมกัน
จะสังเกตได้ว่า ผลการประชุมพูดคุยฯจะมีเอกสารออกมา นั่นคือเกิดจากการที่เราคุยกันแล้วว่าจะแถลงอะไรไปในทิศทางเดียวกัน แต่ครั้งนี้มันอาจมีจุดที่ไม่ตรงหลายเรื่อง แล้วออกมาแถลง ซึ่งผมยืนยันว่าฝ่ายรัฐไทยแถลงไปตามกรอบผลที่ผู้อำนวยความสะดวกพูดทุกประการ แต่ยอมรับว่าฝ่าย BRN มีเลยกรอบไป ก็คงต้องพูดคุยกันในคราวต่อไป
@@ ปัญหานี้เราสามารถประท้วงไปในทันที ผ่านผู้อำนวยความสะดวกได้หรือไม่?
ในหลักการสามารถทำได้ และเราได้เสนอแนะให้ผู้อำนวยความสะดวกพิจารณาเรื่องนี้แล้ว เพราะอยากให้กระบวนการราบรื่น เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แม้กระทั่ง BRN ที่มีความตั้งใจใช้หลักการสันติวิธี ก็ต้องมีกรอบกติกาในการหารือกัน ไม่ควรมีอะไรออกมาก่อน
แต่ขอเรียนว่า ผลจากแผน ถ้ามันได้ข้อยุติแล้ว มันต้องแถลงให้สื่อมวลชน ให้ทุกฝ่ายได้ทราบโดยทั่วกันอยู่แล้ว และกระบวนการพิจารณาก็ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ที่ยังไม่ได้เอาเข้าที่ประชุมใหญ่ (หมายถึงที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.คณะใหญ่) เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ผลกิจกรรมต่างหากที่จะต้องเอาเข้าที่ประชุมตัดสินใจ
แต่ตอนนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศในการพูดคุย สร้างบรรยากาศลดความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการออกมาพูดคุยกัน เพราะประชาชนบางส่วนก็หวาดกลัว ไม่กล้าออกมา แต่ถ้าในพื้นที่มีความสงบเรียบร้อยดี ความรุนแรงลดลง คนที่ออกมาพบปะพูดคุยจะมีมากขึ้น คนที่เห็นต่างก็ไม่ต้องแอบพูด ไม่ต้องไปพูดในโซเชียลฯ ซึ่งเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย
เหมือนน้องๆเยาวชนที่ผ่านมา ก็สามารถใช้เวทีเหล่านี้พูดคุยได้ และเวทีก็มีทั้งปิดและเปิด ซึ่งจะจัดให้เหมาะสม และสามารถเป็นความเห็นของประชาชนได้
@@ อยากจะบอกอะไรกับประชาชนหรือผู้ที่ติดตามกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่บ้าง?
การพูดคุยจะต้องใช้เวลา อาจไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน 2 เดือน และที่สำคัญเรายึดหลักการนโยบายภายใต้รัฐธรรมนูญ พวกเราเป็นข้าราชการ จะบอกว่าข้าราชการไม่ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง...ก็คงไม่ใช่
ผมและทีมงานคณะพูดคุยฯ ต่างก็มีประสบการณ์ มีความรับผิดชอบ ทำงานกันมานาน และยึดผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ทำโดยไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งแห่งหน เพราะมันเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีภารกิจชัดเจน เป็นเรื่องที่ประชาชนจับตามอง ซึ่งเราก็ต้องทำให้เป็นไปตามกรอบกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญ และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ยืนยันว่าไม่มีเรื่องอื่นแอบแฝง เราทำเพื่อเป้าหมายอย่างแท้จริง