การประชุมสภาเพื่ออภิปรายญัตติด่วนเรื่องมาตรการถวายความปลอดภัย หลังเกิดเหตุป่วน “รบกวนขบวนเสด็จฯ” ของ “ตะวัน” นักกิจกรรมสาว กลายเป็นเวทีตอบโต้กันของสองขั้วความคิดอย่างดุเดือด
ญัตติด่วนด้วยวาจานี้ เสนอโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทบทวนและเพิ่มมาตรการถวายความปลอดภัย รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดโทษผู้กระทำผิด ทั้งรบกวนหรือประทุษร้ายต่อขบวนเสด็จฯ
แต่ที่ประชุมสภาไม่ได้เห็นพ้องกันทุกประเด็น เพราะมี สส.บางราย ส่วนใหญ่สังกัดพรรคก้าวไกล พยายามชี้ว่ามาตรการทางกฎหมายไม่ได้ช่วยอะไร เพราะฝ่ายที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง และก่อเหตุด้วยมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่ใช่การก่ออาชญากรรม จึงควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา และนิรโทษกรรมความผิดที่เคยกระทำมาทั้งหมด
ไฮไลต์ของการอภิปรายตอนหนึ่ง มาจาก นายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไปยกเหตุการณ์ลอบวางระเบิดใกล้กับปะรำพิธีและที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ จ.ยะลา เมื่อปี 2520 มาเทียบเคียงปัญหาการถวายความปลอดภัย ซึ่งมาตรการคุมเข้มโดยใช้กฎหมาย ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เพราะบางเหตุการณ์มาจากความขัดแย้งทางการเมือง และพยายามนำมาเทียบเคียงกับกรณีรบกวนขบวนเสด็จของ “ตะวันและพวก”
นายชัยธวัช กล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมยืนยันว่าเวลาเราพิจารณาเรื่องมาตรการถวายความปลอดภัย ซึ่งสืบเนื่องจากกรณี 4 ก.พ.ที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ แผน ในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา ที่กระทบกับการถวายความปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เพื่อเป็นตัวอย่าง เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เสด็จฯไปด้วย ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปที่ จ.ยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาสัปดาห์ก่อนหน้านี้หลายเท่า เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จฯ และเกิดการลอบวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์
“นี่เป็นตัวอย่างว่า เหตุการณ์ในวันนั้น ถ้าจะแก้การถวายความปลอดภัยในวันนั้น ไม่สามารถจะพิจารณาเฉพาะกฎหมายและแผนมาตรการในการถวายความปลอดภัยเท่านั้น เพราะสุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่า มันไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น เหตุการณ์ถวายความปลอดภัยหลายครั้งหลายกรณีจึงเกี่ยวข้องกับทางการเมือง ปัญหาทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เสียดายเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ใช้วิธีทางการเมืองจัดการเหมือนกัน แต่ผิดทางไปหน่อย เพราะหลังจากนั้นเกิดกลุ่มฝ่ายขวา กลุ่มกระทิงแดงในขณะนั้น พยายามใช้กรณีที่เกิดขึ้นที่ จ.ยะลา ปลุกปั่นกล่าวหาโจมตีว่า รัฐบาลในขณะนั้น รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน และกว่าประเทศจะฟื้นฟูไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ก็ใช้เวลาอีกหลายปี”
@@ ย้อนเหตุระเบิดยะลาปี 20 ขบวนการพูโลเบื้องหลัง
น่าสนใจว่า เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2520 ซึ่งมีการจับกุมผู้กระทำผิดได้บางส่วน และเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน มีนัยของเหตุการณ์เป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองตามที่นายชัยธวัชกล่าวอ้างจริงหรือไม่
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สรุปได้ว่า เหตุระเบิดที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองยะลา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2520 เป็นเหตุการณ์ที่มีความพยายามลอบทำร้ายต่อในหลวงรัชการที่ 9 และพระบรวมวงศานุวงค์ ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือน จ.ยะลา เชื่อว่าเป็นการปฏิบัติการขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 47 ราย
เหตุระเบิดครั้งนั้น เกิดขึ้นในพระราชกรณียกิจที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่ครูสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ และพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน ที่สนามโรงพิธีช้างเผือก ในสวนสาธารณะเทศบาลเมืองยะลา
ภายหลังเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุได้ 4 คน ถูกดำเนินคดีฐานกบฏ และอั้งยี่ซ่องโจร ศาลพิพากษาให้จำคุก
แต่เหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่รับทราบเหตุการณ์ก็คือ ภายหลังเกิดเหตุ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป โดยมิได้แสดงพระอาการปริวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีพระราชดำรัสให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ และยังมีการร่วมร้องเพลง “เราสู้”
โดยภายหลังเสร็จพระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลาด้วย
@@ “การเมือง” หรือเรื่อง “ความมั่นคง” ?
เหตุระเบิดใกล้ที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2520 ตามที่ นายชัยธวัช นำมาอภิปราย เพื่ออธิบายว่า เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในการถวายความปลอดภัย ไม่สามารถใช้กฎหมาย หรือแผนปฏิบัติการมาแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะบางเรื่องเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้น
“ทีมข่าวอิศรา” พูดคุยสอบถามเรื่องนี้จาก พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หรือ “เสธ.เจี๊ยบ” อดีตผู้อำนวยการกองข่าว กองทัพภาคที่ 4 นายทหาร ตท.12 ซึ่งขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2520 รับราชการอยู่ที่ จ.ยะลา ยศร้อยโท
พล.อ.อกนิษฐ์ บอกว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการกระทำของขบวนการพูโล ผู้บงการคือ นายนาเซร์ บ้านเนียง ซึ่งหลังก่อเหตุได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ตนเคยสื่อสารพูดคุยกับ นายนาเซร์ บ้านเนียง ยืนยันได้ว่า เป็นเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เรื่่องการเมือง
พล.อ.อกนิษฐ์ อธิบายว่า จริงๆ แล้วเรื่องการเมืองกับเรื่องความมั่นคง มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างกัน ความขัดแย้งบางเรื่องไม่ใช่เรื่องการเมือง เพราะไม่สามารถเจรจากันได้ จึงเป็นเรื่องความมั่นคง ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐก็ต้องใช้กฎหมายจัดการ
อย่างเช่นกรณีลอบวางระเบิดเมื่อปี 2520 กลุ่มนายนาเซร์ บ้านเนียง ก็ไม่ได้มีเป้าหมายเจรจากับรัฐบาลไทย แต่ใช้วิธีการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน เป็นการทำสงครามสู้รบกันรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องความมั่นคง
“ไม่ควรลากทุกเรื่องมาเป็นเรื่องการเมือง เพราะมิฉะนั้นจะเกิดสภาพของอนาธิปไตย ใครคิดจะทำอะไรก็ได้ โดยอ้างว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เหมือนกับประเทศไม่มีรัฐบาล ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายเพื่อต่อต้านรัฐ จึงจัดเป็นปัญหาความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่ปัญหาการเมือง” เสธ.เจี๊ยบ ย้ำทิ้งท้าย