กพต.เห็นชอบหลักการอุดหนุนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม พ่วงโครงการ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ “กรมสมเด็จพระเทพฯ” หวังยกระดับการศึกษาที่ปลายขวาน ให้ทุนนักเรียนในพื้นที่ศึกษาต่อด้านเกษตรกร จบรับราชการกลับไปพัฒนาบ้านเกิด
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้จัดประชุม กพต. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. โดยได้เห็นชอบหลักการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และโครงการ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ตามข้อเสนอของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้สิ้นสุดลงในปีงบประมาณ 2567 แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการ จำนวน 19 โรง ยังมีความจำเป็นต้องการขอรับการสนับสนุนการพัฒนาด้านอาคารเรียน อาคารประกอบต่างๆ สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน และวัสดุและครุภัณฑ์
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ยังไม่สามารถจัดสรรทุนการศึกษา (ทุนวรเกษตรเมธี) ให้กับนักเรียนในโครงการ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ซึ่งเป็นโครงการตามแนวทางพระราชดำริฯได้
ทางกระทรวงศึกษาธิการ จึงเสนอ กพต. พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในโครงการตามพระราชดำริ และพิจารณาเห็นชอบอุดหนุนโครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” สนับสนุนทุนการศึกษา “ทุนวรเกษตรเมธี” ให้กับเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
การดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ เพื่อสร้างนักเรียนต้นแบบด้านการเกษตรให้ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่องจากระดับมัธยมศึกษา จนจบระดับอุดมศึกษา และเข้ารับราชการด้านเกษตรกรรม กลับมาพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดในระดับตําบล อําเภอ และจังหวัด
ส่วนการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับการเรียนการสอน สร้างบรรยากาศของการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด