โครงการโคบาลชายแดนใต้ บานปลายหนักขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุด “ป.ป.ช.ภาค 9” ลงพื้นที่สุ่มตรวจโครงการในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสบ้าง หลังพบปัญหาไปแล้วที่จังหวัดปัตตานีและสตูล ตามที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอและเกาะติดมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์
ปัญหาพื้นฐานหลักๆ ของโครงการ คือ โคไม่ตรงปก ผอมแห้ง น้ำหนักน้อย อมโรค, ไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์, เอกชนคู่สัญญามีรายเดียว แถมส่งโคให้เลี้ยงล่วงหน้าก่อนเริ่มโครงการ จนเกิดคำถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าจะได้งานจาก ศอ.บต.
รวมๆ แล้วปัญหามี 8 ข้อตามที่เคยสรุปเอาไว้
อ่านประกอบ : จาก “โคบาลฯ” สู่” โคใกล้ตาย” ใครรับผิดชอบ?
แต่ปัญหาได้ลุกลามบานปลาย “จากโคบาลฯ” กลายเป็น “โคตาย” โดยกลุ่มเกษตรกรที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี มีโคตายเพิ่มอีก 1 ตัว รวมเป็น 3 ตัว สาเหตุมาจากป่วยตาย และเป็นโคผอมตั้งแต่ตอนไปส่ง
ขณะนี้เกษตรกรกำลังรอเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ผ่าพิสูจน์โคว่าตายเพราะอะไร และประสาน ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) วิชัยฟาร์ม 2020 ว่าจะนำโคมาเปลี่ยนให้ได้หรือไม่ ถ้าได้จะเปลี่ยนเมื่อใด เพราะเกษตรกรรออยู่
แต่จาการที่ “ทีมข่าว” ติดต่อตัวแทน หจก.วิชัยฟาร์ม 2020 ทางโทรศัพท์ตลอดทั้ง กลับไม่สามารถติดต่อได้ โดยโทรศัพท์ยังโทรติด แต่ไม่มีใครรับสาย
ล่าสุดวันอังคารที่ 6 ก.พ.67 นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานการป้องกันการทุจริต ภาค 9 พร้อมด้ัวย นายปกครอง สุวรรณดารา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนราธิวาส นำกำลังเจ้าหน้าที่รวม 6 คน เดินทางไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส เพื่อเข้าพบ นายจักรพงษ์ ขานโบ ปศุสัตว์จังหวัด เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงานโครงการโคบาลชายแดนใต้
ก่อนเข้าประชุมหารือกัน ทางเจ้าหน้าที่ฝั่ง ป.ป.ช. แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ว่า สาเหตุที่เดินทางมา ไม่ใช่การจับผิด แต่พบปัญหาที่จังหวัดสตูล ส่งโคให้เลี้ยงก่อนเริ่มโครงการ จนเกิดคำถามว่า “รู้เห็นเป็นใจกันหรือไม่” ส่วนที่ปัตตานีก็พบ “โคไม่ตรงปก - ผิดสเปค” จึงต้องมาตรวจสอบที่นราธิวาส
จากนั้นได้มีการประชุมหารือกัน โดยปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาสได้รายงานสรุปให้คณะ ป.ป.ช.ได้รับทราบข้อมูล สรุปว่า...
- นราธิวาสมีโครงการนำร่อง 16 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กระจายอยู่ใน 9 อำเภอ
- ช่วงที่เกิดอุทกภัยใหญ่ปลายปีที่ผ่านมา พบปัญหาคอกวัวจมน้ำ แปลงหญ้าเสียหาย โคที่มอบให้ชาวบ้านเจ็บป่วย
- เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในแต่ละพื้นที่เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งฉีดยา แจกจ่ายหญ้า
- ยอมรับว่าโคในโครงการโคบาลฯ ต้องขนย้ายในระยะทางไกล จากพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และชลบุรี (ฟาร์มต้นทางของเอกชน) มาส่งยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อโคถึงมือชาวบ้าน บางส่วนจึงล้มตาย
- ที่ผ่านมาได้รับการชดเชยจากฟาร์มครบถ้วนทั้งหมด
@@ สุ่มตรวจ 2 พื้นที่ พบโคตาย-ไร้บัตร-จัดส่งล่วงหน้า
มีรายงานว่า คณะ ป.ป.ช. พอใจกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส และก่อนที่คณะ ป.ป.ช.จะเดินทางไปสุ่มตรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้ขอเอกสารตัวอย่างกลุ่มที่ทำสัญญากับผู้ประกอบการ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด รวมทั้งเอกสารการตรวจรับโค และแบบแปลนโรงเรือน หรือ “คอกกลาง” ที่มีการก่อสร้างในโครงการด้วย
พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังการส่งมอบโคในลักษณะ “สอดไส้” คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 1 กลุ่ม ได้โค 50 ตัว โดยส่งโคสมบูรณ์ให้ 45 ตัว แล้วนำโคไม่สมบูรณ์ จำนวน 5 ตัว สอดไส้เข้ามา ให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยง
จากนั้น เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ภาค 9 และ ป.ป.ช.นราธิวาส ไปสุ่มตรวจการเลี้ยงโคที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโคกสยา ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ปัญหาที่พบคือ
- ได้รับโคจากโครงการ 50 ตัว
- โคตาย 6 ตัว จากผลกระทบการขนส่งโคระยะทางไกล
- ฟาร์มผู้ประกอบการได้ชดเชยเป็นเงิน ผ่านทางปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส
จากนั้นไปสุ่มตรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านปิเหล็งใต้ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ปัญหาที่พบคือ
- ไม่มีใบทะเบียนสัตว์ หรือ บัตรประจำตัวสัตว์ แต่เจ้าหน้าที่มอบให้ชาวบ้านเลี้ยงไปก่อน
เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.แนะนำให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เร่งดำเนินการให้ถูกต้องโดยด่วน
นายปิยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานการป้องกันการทุจริต ภาค 9 ให้สัมภาษณ์ว่า พบหนึ่งเคสเหมือนที่จังหวัดสตูล คือผู้ประกอบการนำโคมาให้ชาวบ้านก่อน และสร้างโรงเรือนก่อนเริ่มโครงการ หลังจากนี้จะสรุปรายงานเสนอผู้บริหาร ป.ป.ช.ภาค 9 ต่อไป