ปัญหาของโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ยังไม่จบ แม้ว่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ พร้อมสั่งอุดช่องโหว่ที่กลายเป็นประเด็นร้องเรียนของกลุ่มเกษตรกร จ.ปัตตานี แล้วก็ตาม
ล่าสุดพบปัญหาขยายวงจาก “โคไม่ตรงปก” ไปเป็นประเด็น “ส่งโคให้เลี้ยงล่วงหน้า” แต่สุดท้ายเกษตรกรกลับเข้าโครงการไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน จ.สตูล
@@ ส่งโคให้เลี้ยงล่วงหน้า แต่วืดเข้าโครงการ!
มีรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 ว่า ได้มีการตรวจสอบโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ที่ จ.สตูล เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ต้องการเข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 20 กลุ่ม แต่สามารถเข้าโครงการจริงๆ ได้เพียง 6 กลุ่ม ส่วนอีก 14 กลุ่มไม่ผ่านการตรวจคุณสมบัติ
โดยปัญหาที่พบก็คือ มีการสร้าง “คอกกลาง” และ “แปลงหญ้า” หรือ “แปลงอาหารสัตว์” เพื่อเป็นอาหารของโค ในที่ดินสาธารณะ หรือที่ดินที่อยู่ในเขตป่า ไม่ใช่ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งผิดเงื่อนไขสำคัญของกลุ่มเกษตรกรที่่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ
แต่ปัญหาใหญ่ที่ตามมา และนำมาสู่เรื่องร้องเรียนที่ส่งถึงหน่วยงานรัฐ และสำนักงาน ป.ป.ช.ในพื้นที่ก็คือ กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้ทั้ง 14 กลุ่ม ปรากฏว่าได้รับโคจากเอกชนรายเดียวกับที่เป็นคู่สัญญาในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” มานานกว่า 1 ปีแล้ว นั่นก็คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) วิชัยฟาร์ม 2020 ทั้งๆ ที่โครงการเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2566 และ หจก.วิชัยฟาร์มฯ เพิ่งทยอยส่งโคให้เกษตรกรในพื้นที่นำร่องล็อตแรก (จ.ปัตตานี) เมื่อปลายเดือน พ.ย.ต่อเนื่องต้นเดือน ธ.ค.2566 ที่ผ่านมานี้เอง
มีรายงานว่า ข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรก็คือ ได้รับโคไปเลี้ยงก่อนทำสัญญา คือได้รับโคตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยได้รับการยืนยันจากตัวแทนที่ส่งโคว่า จะได้เข้าร่วมโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” อย่างแน่นอน และจะมีการทำสัญญากันภายหลัง ซึ่งจำนวนโคที่ส่งให้เกษตรกร 20 กลุ่ม กลุ่มละ 50 ตัว ครบบ้างขาดบ้าง รวมๆ แล้วก็เกือบ 1,000 ตัวเลยทีเดียว
แต่ปรากฏว่าเมื่อโครงการเริ่มต้น และมีหน่วยงานรัฐเข้าไปร่วมตรวจสอบ เช่น กรมปศุสัตว์ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กลับพบว่ากลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มตกคุณสมบัติในเรื่องที่ดินที่ใช้สร้างคอกกลาง และแปลงอาหารสัตว์ กระทั่งมีการร้องเรียนเกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบ
@@ มั่นใจ - ใจดี - หรือล็อกล่วงหน้า?
ประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาและถูกตั้งข้อสังเกตก็คือ เหตุใดเอกชนรายนี้จึงกล้าส่งโคให้กลุ่มเกษตรกรไปเลี้ยงก่อนล่วงหน้านับพันตัว มั่นใจได้อย่างไรว่าโครงการจะเกิดขึ้น และตนจะได้เป็นคู่สัญญาอย่างแน่นอน หรือเรื่องนี้มีการ “วางสเปค - กำหนดตัว” กันมาล่วงหน้า เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วนจนไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะถึงอย่างไรก็จัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ไม่มีการแข่งราคากันอยู่แล้ว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม หรือ “ดร.เจ๋ง” รองเลขาธิการ ศอ.บต. เคยลงไปติดตามปัญหาเรื่องที่ดินสร้างคอกกลางและแปลงอาหารสัตว์ของกลุ่มเกษตรกรที่ จ.สตูล มาแล้ว และเคยให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวอิศรา” ยอมรับว่ามีปัญหานี้ที่ จ.สตูล ด้วย แต่ครั้งนั้นยังไม่มีข้อมูลว่า เกษตรกรได้รับโคไปเลี้ยงล่วงหน้าก่อนโครงการเริ่มนานนับปี
@@ เอกชนใจป้ำจ่าย 3 หมื่น อ้างห่วงน้ำท่วมแหล่งอาหารโค
อีกด้านหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 1 ก.พ.67 มีรายงานว่า คณะกรรมการตรวจสอบโครงการโคบาลชายแดนใต้ ได้นัดเกษตรกรผู้เลี้ยงโค 16 กลุ่มของ จ.ปัตตานี เข้าให้ข้อมูลนัดแรก ที่ศาลากลางจังหวัด หลังจากหลายหน่วยงานมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบปัญหา “โคไม่ตรงปก”
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยได้ไปพบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในโครงการโคบาลชายแดนใต้ เพื่อให้เซ็นเอกสารยอมรับข้อตกลงระหว่าง หจก.วิชัยฟาร์มฯ กับกลุ่มผู้เลี้ยงโค โดย หจก.วิชัยฟาร์มฯ ยินยอมจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 30,000 บาทให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยให้เหตุผลว่า ได้ส่งทีมลงพื้นที่ และพบว่าเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ทำให้แหล่งอาหารของโคเสียหาย โดยจะโอนเงินผ่านบัญชีของกลุ่มเกษตรกร
เอกสารนี้ลงนามโดยผู้ประกอบการ ตัวแทน หจก.วิชัยฟาร์ม 2020
@@ สงสัยโยงปม “โคไม่ตรงปก”
เอกสารที่เอกชนระบุว่าเป็น “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” หรือ MOU นี้ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันทางอ้อมว่า ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ประสบภัยน้ำท่วม และส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารสัตว์จริง โดยเกษตรกรก็ยอมรับ เพราะเซ็นรับเงินเยียวยาไปแล้ว และอาจนำมาอ้างเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา “โคไม่ตรงปก” หรือไม่
เพราะตลอดมาที่เกิดประเด็นร้องเรียนเรื่อง “โคไม่ตรงปก” ทางเอกชนผู้ประกอบการก็อ้างเหตุผลนี้มาโดยตลอด โดยยืนยันว่า โคที่ตนเองนำไปส่งให้เกษตรกรนั้น มีน้ำหนักครบตามเกณฑ์ คือแต่ละตัวมีน้ำหนักมากกว่า 160 กิโลกรัม แต่โคน่าจะผอมแห้งลงเพราะอุทกภัย ไม่มีอาหารเพียงพอ ซึ่งสวนทางกับข้อมูลของกลุ่มเกษตรกรอย่างสิ้นเชิง
@@ กลุ่ม “สุรเดช โต้โผแฉ” ยังไม่ได้รับ 3 หมื่น
มีรายงานด้วยว่า จากการตรวจสอบไปยังกลุ่มเกษตรกรเกือบทุกกลุ่มในปัตตานี ได้รับการประสานงานเรื่่องจ่ายเงินเยียวยากลุ่มละ 30,000 บาททั้งหมดแล้ว ยกเว้นกลุ่มเกษตรกรที่มี นายสุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดปัตตานี เป็นแกนนำเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับการติดต่อ
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสุรเดช คือคนที่ออกมาร้องเรียน และร้องสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ให้ตรวจสอบปัญหา “โคไม่ตรงปก” จนกลายเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ
@@ กลุ่มอื่นได้เซ็น แต่ยังไม่ได้เงิน - เผยปศุสัตว์บริการ
นายมะนาเซ มะลี ประธานกลุ่มบ้านกระเสาะ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงโคใน อ.มายอ จ.ปัตตานี และร่วมในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เรื่องเงินเยียวยา 30,000 บาท ทางกลุ่มได้เซ็นเอกสารยอมรับเงินเยียวยาไปเรียบร้อยแล้ว โดยทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เป็นผู้นำเอกสารมาให้ลงนาม โดยบอกว่าจะให้เงินเยียวยาวัวที่ประสบภัยน้ำท่วม
“ผมก็เซ็นเอกสารไป โดยมีชื่อผู้ประกอบการฝ่ายเอกชนเซ็นมาแล้ว แต่ตอนนี้ผ่านไป 1 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีเงินเข้าบัญชีกลุ่ม ได้สอบถามกลุ่มอื่นๆ เช่น ที่ อ.กะพ้อ ก็บอกว่าเซ็นเอกสารแล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินเช่นเดียวกัน ก็รออยู่ว่าจะได้เมื่อไหร่ ทราบว่ากลุ่มเดียวที่ไม่ได้เอกสารนี้ คือกลุ่มของนายสุรเดช ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้สาเหตุว่าทำไม่กลุ่มเขาไม่ได้”
@@ ยังไม่ได้รับโค 2 ตัวทดแทนที่เชือดทิ้ง
สำหรับ นายมะนาเซ ก่อนหน้านี้ได้เชือดโคไป 2 ตัว เนื่องจากผอมและป่วยใกล้ตาย โดยเป็นโคในโครงการ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์รับปากว่าจะประสานกับทางผู้ประกอบการ นำโคตัวใหม่มาเปลี่ยนให้
เมื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้ นายมะนาเซ ตอบว่า ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอบอกว่า จะเยียวยาให้ โดยการให้วัวจากโครงการอื่นมาแทน แต่ต้องรออุทกภัยปีหน้า เพราะปีนี้อุทกภัยผ่านไปแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ทางปศุสัตว์ได้นำหญ้าแห้งจำนวน 50 ก้อนมาให้ด้วย โดยทราบว่าให้ทุกกลุ่ม ส่วนการให้ปากคำคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ยังคงยืนยันว่าได้รับ “โคไม่ตรงปก” เหมือนเดิม
“ทีมข่าวอิศรา” ติดต่อไปยัง นายสุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดปัตตานี ได้รับการยืนยันว่า กลุ่มของตนยังไม่ได้เอกสารจ่ายเงินเยียวยา 30,000 บาท โดยไม่ทราบเหตุผล และบอกว่าจะไปให้ปากคำเรื่อง “โคไม่ตรงปก” กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ อย่างแน่นอน