“พ.ต.อ.ทวี” เปิดงานเสวนาระดมความเห็นกำหนดมาตรการป้องกันการใช้ “กระท่อม-กัญชา” ในทางที่ผิด หลังพบสถิติใช้เชิงสันทนาการพุ่ง 24.9% แถมเจอเด็กเร่ขายกัญชาในโรงเรียน ส่วนความฝันปั้นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่แค่ลมปากการเมือง ชาวบ้านปลูกแล้วเจ๊งกว่า 80%
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา "มุมมองและเสียงสะท้อน ภายหลัง กัญชา กระท่อม ออกจากกฎหมายยาเสพติด" ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567
@@ แฉยอดเสพกัญชาพุ่ง 24.9%
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า ภายหลังพืชกระท่อมและกัญชาถูกยกเลิกจากการเป็นยาเสพติด โดยเจตนารมณ์คือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และการใช้กระท่อมในวิถีชาวบ้าน แต่ในอีกทางหนึ่งพบว่ามีการจำหน่ายน้ำต้มใบกระท่อมที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงมีการจำหน่ายกระท่อม กัญชา ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่งผลให้เด็กและเยาวชนและประชาชนเข้าถึง และใช้กัญชา กระท่อม เพิ่มขึ้น และมีการนำมาใช้ในทางที่ผิด เพื่อความบันเทิง โดยนำไปผสมยาควบคุม ยาอันตราย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา
“จากการเข้าไปแก้ปัญหายาเสพติด ทั้งที่อีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ พบว่ากระแสเรียกร้องให้เข้าไปควบคุมและจัดการปัญหายาเสพติดที่มากที่สุด คือกัญชากับกระท่อม เพราะตัวเลขของผู้ใช้กัญชาทางสันทนาการสูงขึ้นมาก เดิมไม่ถึง 5% ขยับเป็น 24.9% ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ยกร่างกฎหมายแล้ว ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้เสนอความเห็นไป น่าจะไปอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้านำเข้าสภาในสมัยประชุมนี้ ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน”
@@ เล็งออกกฎกระทรวงห้ามต้มน้ำกระท่อมขาย
“แต่ในระหว่างนี้ที่พืชกระท่อมเองไม่ได้เป็นยาเสพติด อาจจะต้องออกกฎกระทรวงโดย รมว.ยุติธรรม ร่วมกับ รมว.สาธารณสุข รวมถึงไปใช้ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญาอย่าง พ.ร.บ.อาหารและยา เข้ามาควบคุมกรณีการนำกระท่อมไปต้มขาย และมีการผสมสารตัวอื่นๆ เข้าไป ซึ่งเป็นภัยต่อประชาชน” พ.ต.อ.ทวี ระบุ
@@ ดันกฎหมายตีกรอบ “กัญชา” ใช้เฉพาะการแพทย์
รมว.ยุติธรรม บอกอีกว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน จะต้องมีกฎหมายออกมา คือจะกำหนดให้กัญชาใช้ได้เฉพาะทางการแพทย์หรือการวิจัยเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เชิงสันทนาการ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด อย่างกัญชาถือเป็นสารตั้งต้นซึ่งทั้งโลกกำหนดให้เป็นยาเสพติด ยกเว้นประเทศไทยประเทศเดียวที่กัญชาถูกนำมาใช้ในทางสันทนาการได้
“ไม่เหมือนประเทศแคนาดา อุรุกวัย ที่แม้อนุญาตให้มีการใช้กัญชา แต่ก็ไม่ให้นำมาใช้ในทางสันทนาการ วันนี้เวลาเราไปคุยกับประเทศในอาเซียน แม้แต่ประเทศในสามเหลี่ยมทองคำที่เขาเป็นต้นทางผลิตยาเสพติด เขาก็ยังมองกัญชาเป็นยาเสพติด ในอาเซียนทุกประเทศกัญชาคือยาเสพติด ยกเว้นไทย และในเวทีของสหประชาชาติ ซึ่งเขามองกัญชาเป็นยาเสพติด แต่มีประเทศไทยประเทศเดียวที่ไม่เป็นยาเสพติด เราก็อายเขาเวลาไปร่วมกับเขา”
@@ ไทยสอบตกยูเอ็น - ไม่ใช่แค่ “ช่อดอก” ที่เป็นยาเสพติด
ในช่วงของการเสวนา นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ อดีตประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ได้แลกเปลี่ยนในประเด็นมุมมองของกัญชาและกระท่อมในระดับนานาชาติ โดยบอกตอนหนึ่งว่า ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ของยูเอ็น พืชที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติดมี 3 ชนิดด้วยกัน คือ ฝิ่น โคคา และกัญชา ความหมายคือทั้งต้น ทุกชิ้นส่วน ไม่ได้กำหนดเฉพาะช่อดอกอย่างเดียวเหมือนประเทศไทย ถือเป็นการตีความและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
ส่วนประเทศที่กำหนดให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด มีแค่ 3 ประเทศในโลกเท่านั้น คือ อุรุกวัย แต่ปัจจุบันแก้กฎหมายแล้ว, แคนาดา และไทย
@@ กัญชาไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ - ชาวบ้านแห่ปลูกเจ๊ง 80%
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดในประเด็นสังคมไทยหลังการถอดกัญชา กระท่อม ออกจากยาเสพติด และแนวทางการควบคุมทางกฎหมายที่เหมาะสม
โดยนายไพศาล กล่าวว่า ไม่มีประเทศใดในโลกกำหนดให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะเกือบทุกประเทศกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ห้ามซื้อ ขาย ครอบครอง หรือเสพ ฉะนั้นกัญชาจึงเป็นพืชเศรษฐกิจไม่ได้ แต่ไทยกลับทำสวนทาง
เท่าที่ลงพื้นที่พบว่า ตั้งแต่ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด การปลูกต้นกัญชาของประชาชนที่คาดหวังว่าจะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เป็นพืชเศรษฐกิจความหวังที่สำคัญนั้น แท้ที่จริงแล้วเจ๊งกว่าร้อยละ 80 ปัญหามาจากการปลูกที่เป็นลักษณะต่างคนต่างปลูก ไม่มีการควบคุมคุณภาพ การปลูกกัญชาไม่ใช่เรื่่องง่าย แม้จะปลูกในโรงเรือนก็ไม่ง่าย
ที่สำคัญการปลูกกัญชาให้สามารถจำหน่ายได้จริงก็ยาก เพราะไม่มีตลาดรองรับที่ชัดเจน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขที่นำไปใช้ทางการแพทย์ ก็ไม่สามารถซื้อจากชาวบ้านทั่วไปได้
@@ วิกฤตปัญหาสังคม เด็กเร่ขายกัญชาในโรงเรียน
ขณะที่ในต่างประเทศ การปลูกกัญชา จะต้องได้รับใบอนุญาต มีการควบคุมทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการจำหน่าย มีการกำหนดผู้ซื้อที่ชัดเจน เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดมาสวมรอย หรือใช้เป็นช่องทางการฟอกเงิน
ส่วนปัญหาการแพร่ระบาดของกระท่อม กัญชา ในลักษณะที่นำไปใช้เพื่อสันทนาการอย่างไม่เหมาะสมนั้น ได้ลุกลามไปยังเด็กและเยาวชน โดยมีข้อมูลเด็กนำกัญชาไปขายในโรงเรียน ครูก็ห้ามหรือลงโทษได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นความผิด อาจจะต้องใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก
@@ จับร้านขายน้ำกระท่อม-กัญชากลางเมืองยะลา
ที่ จ.ยะลา ตำรวจ ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สนธิกำลังเข้าตรวจสอบ “ร้านใบโคคา” บริเวณแยกเนินหูกวาง ถนนเทศบาล 4 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเปิดเป็นร้านจำหน่ายน้ำใบกระท่อม
ผลการตรวจสอบ สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่เปิดร้านจำหน่ายน้ำใบกระท่อมได้ 2 ราย คือ น.ส.อมาณี (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี และ นายอุกฤษฏ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี โดยทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ พร้อมยึดของกลางได้ทั้งสิ้น 14 รายการ อาทิ น้ำกระท่อม จำนวน 89 กิโลกรัม ยาแก้ไอ จำนวน 200 ขวด กัญชา 600 กรัม และเงินสดจำนวนหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา ร่วมกันจำหน่ายอาหารที่มีพืชกระท่อมเป็นส่วนผสมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันจำหน่ายอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข (กระท่อม) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และข้อหาร่วมกันมียาแผนปัจจุบัน (ยาแก้ไอ ) ซึ่งเป็นยาอันตราย ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (ช่อดอกกัญชา ) โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2565
@@ ผู้ต้องหาโวยถูกจับ 17 ครั้ง วอนอย่าโยนบาปกระท่อม
นายอุกฤษฎ์ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม กล่าวว่า ตนถูกจับคดีค้าน้ำกระท่อมมาแล้วถึง 17 ครั้ง อยากจะขอวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่มีการปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว ก็อยากให้มีการปรับมาตรการควบคุมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนด้วย เพราะที่ผ่านมา หลังตนเองถูกจับดำเนินคดี และรับโทษออกมาแล้ว จะให้ตนไปทำงานอย่างอื่นก็ไม่มีงานให้ทำ ไม่มีใครรับเข้าทำงาน ก็ต้องทำน้ำกระท่อมแปรรูปขาย
“ผมเชื่อว่าเฉพาะน้ำกระท่อมอย่างเดียวคงไม่ทำให้เกิดเหตุร้าย แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นข่าว ก็มักโยนความผิดกับน้ำกระท่อม แต่จริงๆ แล้วทุกครั้งที่มีการจับกุมผู้เสพน้ำกระท่อม อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสารเสพติดอย่างอื่นด้วย” ผู้ต้องหาค้าน้ำกระท่อม ระบายอย่างอึดอัด