จากข่าว “โคบาลชายแดนใต้” ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่มาหลายวัน หลายคนอาจจะสงสัยว่า “บัตรประจำตัวสัตว์” คืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมเกษตรกรบางคนจึงโวยว่า ไม่ได้รับบัตรประจำตัวโค ทั้งๆ ที่ร่วมอยู่ในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้”
เมื่อไม่ได้รับ “บัตรประจำตัวสัตว์” ทันทีที่ได้รับโค ทำให้ไม่ทราบว่าโคที่นำมาส่ง น้ำหนักเท่าใดแน่ อายุเท่าไหร่ ตรวจโรค-ฉีดวัคซีนมาหรือยัง ฯลฯ
เกษตรกรหลายรายในโครงการยืนยันตรงกันว่า คนงานที่นำโคมาส่ง แจ้งว่าบัตรประจำตัวสัตว์จะตามมาภายหลัง ขอให้เซ็นรับโคไปก่อน
จุดนี้เป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาในโครงการหรือไม่ หน่วยตรวจสอบคงต้องทำงานเก็บข้อมูลกันต่อไป
ส่วนความสำคัญของ “บัตรประจำตัวสัตว์” นั้น เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ประชาชนที่เลี้ยงโค และได้รับโคจากปศุสัตว์จังหวัด โคทุกตัวจะต้องมี “บัตรประจำตัวสัตว์” ซึ่งออกบัตรโดย “ด่านกักกันสัตว์” ในพื้นที่ที่ขายโค (ในโครงการโคบาลชายแดนใต้ มาจากพื้นที่ จ.นครสวรรค์) และส่งมอบให้แก่เกษตรกรในพื้นที่รับเลี้ยงโค (กรณีนี้คือ จ.ปัตตานี)
ลักษณะบัตรประจำตัวสัตว์ เป็นแผ่นกระดาษขนาด A4 สีขาว โดยผู้เลี้ยงโค จะได้รับ “บัตรประจำตัวสัตว์” 2 ใบ
ใบแรก เป็นบัตรประจำตัวโค ระบุว่าเป็นสัตว์ชนิดใด บอกประวัติการผสมพันธุ์โค ประวัติการเจริญเติบโต โดยจะมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์บันทึกให้ ระหว่างลงพื้นที่ติดตามการเจริญเติบโตและผสมพันธุ์ พร้อมจดการประเมินตามแบบฟอร์ม จนกว่าโคจะติดลูก รวมถึงอาการป่วยต่างๆ
ภาพกราฟฟิกบนบัตรประจำตัวโค จะเป็นภาพโคตัวอวบอ้วน แข็งแรง ไม่ตรงกับโคที่เกษตรกรร้องเรียนในโครงการโคบาลชายแดนใต้
บัตรใบที่สอง เป็นบัตรประจำตัวสัตว์ บอกหมายเลขประจำตัวสัตว์ทุกตัว ชนิดของสัตว์ วันเดือนปีเกิด ประวัติการเป็นเจ้าของสัตว์ ประวัติการเคลื่อนย้ายสัตว์ ประวัติการฉีดวัคซีน ผลการทดสอบโรค และประวัติการรักษา ประวัติการผสมพันธุ์
โดยบัตรใบนี้ผู้ขายโคจะเป็นผู้กรอกรายละเอียด โดยมีหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ ของพื้นที่ต้นทาง เป็นผู้รับรอง
ที่มุมบนด้านซ้ายของบัตรประจำตัวสัตว์ จะบอกน้ำหนักโคเอาไว้ โดยบัตรที่ทีมข่าวนำมาแสดงนี้ ระบุน้ำหนักโคเกินมาตรฐาน คือ 162 กิโลกรัม ส่งโคในพื้นที่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ถือว่าตัวนี้ไม่มีปัญหา
แต่ถ้ามีการส่งโคโดยไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์ ก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่า น้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์ และมีคุณลักษณะ “ไม่ตรงปก” หรือไม่?