มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องของฝ่ายการเมืองเกี่ยวกับโครงการโคบาลชายแดนใต้
26 ม.ค.67 นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นทีวี
นายไชยา ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ตอนหนึ่งว่า ตนได้ตรวจสอบสัญญาทั้งหมดแล้ว โครงการนี้กลุ่มเกษตรกรทำสัญญาโดยตรงกับเอกชนผู้ประกอบการ โดยเอกชนมีหน้าที่จัดหา “โคแม่พันธุ์” รวมทั้งสร้างคอก ทำโรงเรือน ทำแปลงอาหารสัตว์ ทั้งหมดเป็นการดูแลของเกษตรกรเองที่ตกลงกับผู้ประกอบการ
ส่วนกรมปศุสัตว์ เข้าไปมีบทบาทเมื่อมีการตรวจรับโค ตรวจโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ตรวจน้ำหนักโค และคุณลักษณะว่าตรงตามสัญญาหรือไม่ เมื่อตรวจเรียบร้อยเกษตรกรจึงขอเบิกเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
นายไชยา อธิบายว่า กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเป็นเงินนอกงบประมาณก็จริง แต่จุดเริ่มต้นของกองทุน เงินก้อนแรกคือเงินงบประมาณ ฉะนั้นต้องกำกับดูแลเข้มข้นเหมือนปกติ
นายไชยา ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ทำไมโครงการนี้จึงใช้ผู้ประกอบการรายเดียว และได้รับเลือกโดยไม่มีการแข่งขันราคา ที่สำคัญเอกชนรายนี้มีฟาร์มอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งระยะทางไกลกับพื้นที่โครงการโคบาลชายแดนใต้อย่างมาก
“เท่าที่ผมมีข้อมูล ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และเพชรบุรี ซึ่งถือเป็นเมืองหน้าด่านก่อนลงใต้ เป็นเขตเลี้ยงวัว มีอาชีพเลี้ยงโค ประชากรโคมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับโครงการนี้ได้ เพราะเป็นศูนย์ใหญ่ มีฟาร์มมาตรฐาน มีผู้ประกอบการพร้อมส่งออก มีใบส่งออกไปต่างประเทศด้วย และที่จังหวัดประจวบฯก็มีด่านกักกันสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด จึงเกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่ให้ฟาร์มในพื้นที่นี้ดำเนินการ” รมช.เกษตรฯ ตั้งคำถาม
ส่วนเรื่อง “บัตรประจำตัวสัตว์” รัฐมนตรีไชยา ยืนยันว่า โคทุกตัวต้องมีบัตรประจำตัวสัตว์ เพื่อตรวจสอบคุณลักษณะ การเคลื่อนย้ายต้องมีใบเคลื่อนย้าย ต้องเฝ้าระวังโรค เพราะโคตัวเดียวติดโรค ยังต้องประกาศเพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาดสัตว์ ฉะนั้นต้องตรวจว่าโคที่นำไปส่งมอบ มาจากที่ไหน เพราะหากมีการลักลอบนำโคจากต่างประเทศเข้ามา จะกลายเป็นปัญหาใหญ่
นายไชยาย้ำว่า “เรากำลังทำงานใหญ่ ทำให้ตลาดโค ทั้งโคมีชีวิต และโคแปรรูป สร้างมูลค่าให้เกษตรกร ผมไม่อยากให้ล้มเหลว จึงต้องแก้ไขปัญหา โครงการนี้เริ่มที่ปัตตานี นำร่องแค่ 3,000 ตัว เมื่อมีปัญหาต้องเร่งแก้ไข เพราะยังเหลืออีก 50,000 ตัว ต้องคิดว่าจะเดินต่ออย่างไร”
มีรายงานด้วยว่า นายไชยาพร้อมคณะจะลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีวันจันทร์ที่ 29 ม.ค.นี้ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการโคบาลชายแดนใต้
@@ ป.ป.ช.ย้ำชัด “โคแคระ” - บกพร่องจ้างเอกชนรายเดียว!
วันเดียวกัน นายธีรชัย สุขเกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ไปร่วมประชุมกับรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ที่ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ติดตามปัญหาโครงการโคบาลชายแดนใต้
นายธีรชัย บอกว่า มีข้อสังเกตที่พบระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนของเกษตรกร คือ
1.บัตรประจำตัวสัตว์ที่ส่งให้ทุกฟาร์ม ระบุน้ำหนัก 163-165 กิโลกรัม แต่เมื่อลงพื้นที่จริง พบว่าน้ำหนักเพียง 95 กิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เมื่อเป็นเอกสารราชการ ทำให้ทุกฝ่ายมองว่าความจริงสวิงมาก ดูไม่น่าเชื่อถือ
2.วันส่งมอบสัตว์ บางพื้นที่ไม่มีการส่งมอบ “บัตรประจำตัวสัตว์” ให้กลุ่มเกษตรกร ทั้งที่อย่างน้อยควรมีสำเนาให้ โดยเฉพาะหลักฐานการฉีดวัคซีน ผลการตรวจโรค การรับวิตามิน การถ่ายพยาธิ
3.น้ำหนักโค เป็นปัญหามากที่สุดที่ชาวบ้านร้องเรียน
-น้ำหนักลดลงเมื่อเทียบจากต้นทาง ไม่ใช่ข้ออ้างจากผู้ขาย
-อาจมองว่าชาวบ้านเลี้ยงไม่ดี แต่น้ำหนักขาดเหลือไม่ควรเกิน 5-10 กิโลกรัม
-สาเหตุที่เกษตรกรโวยวาย คือ น้ำหนักลดลงไปเยอะมากเกินไป
4.โครงการนี้อยู่นอกเหนือพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผู้ขายรายเดียวในโครงการระดับพันล้านแบบนี้ ถือเป็นข้อบกพร่อง
--------------------
ขอบคุณภาพจากรายการคมชัดลึก เนชั่นทีวี