แม้หน่วยงานรัฐและเอกชนคู่สัญญาจะเริ่มออกมาชี้แจง และยืนยันคุณสมบัติของ “โคแม่พันธุ์” ในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ว่าตรงตามสเปค ทั้งน้ำหนักและมาตรฐานอื่นๆ ก็ตาม
แต่จากการลงพื้นที่เพิ่มเติมของ “ทีมข่าวอิศรา” กลับพบข้อเท็จจริงที่สวนทาง
ที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เราได้พูดคุยกับ มะนาเซ มะลี ประธานกลุ่มบ้านกระเสาะ อำเภอมายอ และยังเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ หรือ ผรส. ของหมู่บ้านกระเสาะ ด้วย
มะนาเซ ยืนยันว่า วัวที่นำมาส่งให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ของตน น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์แน่นอน และขณะนี้วัวก็ล้ม ต้องเชือดไปถึง 2 ตัวแล้ว
มะนาเซ เล่าอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า...
-ผู้ประกอบการนำวัวมาส่ง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม
-พอรถจอดก็เห็นเลยว่า วัวไม่ตรงปก แต่ไม่ได้ชั่งกิโล เพราะตนไม่มีเครื่องชั่ง
-ยังบอกคนที่มาส่งวัวว่า “วัวนี้ไม่ใช่ของผม ของผมสั่งวัว 160 กิโลฯ แต่ที่นำมาส่งมันไม่ถึงแน่นอน”
-สรุปว่าพบความผิดปกติตั้งแต่วันแรก และมีชาวบ้านมามุงดูกันมาก ทุกคนเป็นพยานได้
มะนาเซ เล่าต่อว่า
-ไม่ได้รับเอกสารประจำตัววัว เพราะคนส่งวัวบอกว่าเอกสารจะตามมาทีหลัง
-ตนจำใจเซ็นรับวัวเอาไว้ เพราะเกรงใจเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
-หลังจากมีข่าวร้องเรียน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และพาไปชั่งกิโลฯ ตนก็ยินดี เพราะจะได้มีหลักฐาน เดี๋ยวจะหาว่าใส่ร้าย
-ระหว่างจูงวัวไปชั่ง ปรากฏว่าวัวล้มต่อหน้าเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เลย
-สุดท้ายเจ้าหน้าที่แนะนำให้เชือดวัว แล้วจะเยียวยาให้
-กลุ่มของตนก็เลยเชือดวัว ลองชั่งน้ำหนักดูได้แค่ 95 กิโลกรัม ขายได้แค่ 6,000 บาท
มะนาเซถ่ายคลิปตอนเชือดวัวเอาไว้ เมื่อ 2 วันก่อนที่ทีมข่าวจะลงพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน (ดูคลิปท้ายข่าว)
มะนาเซ เล่าต่อว่า วัวที่เชือดนั้น ขายไปตัวเดียว ส่วนอีกตัวหนึ่งไม่ได้ขาย เพราะไม่ได้ราคา จึงชำแหละเนื้อไปแจกเด็กกำพร้า และคนในหมู่บ้าน
มะนาเซ ยอมรับด้วยว่า ทางเอกชนผู้ประกอบการเต็มใจเปลี่ยนวัวให้ ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนเรื่อง “คอกกลาง” ของกลุ่มตนไม่มีปัญหา สร้างได้มาตรฐานพอใช้ได้ โดยผู้รับเหมาเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกันกับที่นำวัวมาส่ง
@@ ชาวบ้านบ่น “โคแคระ” ไม่เหมือนโคบ้านเรา!
ยังมีเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ที่พบปัญหา “โคไม่ตรงปก” เช่นเดียวกัน
โดยกลุ่มเกษตรกรเล่าว่า ได้ติดต่อผู้ประกอบการให้รับโคคืนไป จำนวน 50 ตัว ต้องใช้เวลา 2 วันในการรับโค เพราะรับได้วันละ 25 ตัว ชาวบ้านที่ทราบเรื่องพากันวิจารณ์และตั้งคำถามว่า โคที่นำมาส่งเป็นโคจากที่ไหน เพราะตัวแคระ ไม่เหมือนโคบ้านเรา โดยกลุ่มเกษตรกรในอำเภอกะพ้อ ได้โคสภาพใกล้เคียงกันทั้งหมด
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคอีกรายหนึ่ง บอกกับทีมข่าวว่า ถ้าได้โคพันธุ์ดีจริงๆ ตามที่มีการชี้แจง ผู้เลี้ยงจะโวยวายทำไม และหากโคผอมเพราะการเลี้ยง หรือน้ำท่วม ชาวบ้านคงไม่กล้าไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ รวมทั้ง ป.ป.ช.
“ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่ได้ขออะไรมาก ขอแค่นำโคคุณภาพดีมาส่งให้ หรือมาเปลี่ยนให้ก็พอใจแล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะเอาเรื่องเอาราวอะไรเลย” เกษตรกรผู้เลี้ยงโคจากปัตตานี ระบุ
@@ “วิชัยฟาร์ม” ยืนยันส่งวัวสภาพสมบูรณ์ 100%
อีกด้านหนึ่ง มีข่าวจาก “เนชั่นทีวี” สัมภาษณ์ วนิษฐา ปาทาน ตัวแทน ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) วิชัย ฟาร์ม 2020 เอกชนคู่สัญญาในโครงการโคบาลชายแดนได้
วนิษฐา ยืนยันว่า ส่งวัวในสภาพสมบูรณ์ให้กับเกษตรกรแน่นอน มีการตรวจโรค ตรวจเชื้อว่าเป็นหมันหรือไม่ มีระบบรับประกันสินค้า และหวังซื้อลูกวัวคืนเมื่อวัวติดลูก ฉะนั้นคงไม่ส่งวัวสภาพไม่สมบูรณ์ไปให้ มองว่าการร้องเรียนน่าจะเกิดจากการเลี้ยงด้วยอาหารไม่มีคุณภาพ หรือสัตว์ได้กินน้อย
“ลองคิดดูวัวสภาพแบบนั้น นำวัวขึ้นรถจาก อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ไปส่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้เวลาเดินทาง 24 ชั่วโมง เราจะกล้าเอาวัวสภาพแบบนั้นไปให้หรือ เรามีรับประกัน 1 เดือน ก่อนส่งไปจะถ่ายภาพว่าวัวแข็งแรงทุกตัว ไม่ได้เป็นสภาพผอมแห้งแบบที่เขาถ่ายมา ฟาร์มเราก็ไม่ได้อยู่ดูแลวัวที่นั่นหลังจากส่งมอบวัวแล้ว ถามว่าวัวได้กินอิ่มไหม น้ำสะอาดไหม อาหารสมบูรณ์ไหม”
วนิษฐา อธิบายต่อว่า เวลาส่งวัวไปปลายทาง จะมีประธานกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิก และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่คอยตรวจรับ เมื่อรับวัวจะลงบันทึกว่ารับวัวเราวันที่เท่าไหร่ เมื่อวัวไปอยู่ที่อยู่ใหม่ การกินอาจไม่สมบูรณ์ ทำให้ซูบผอม ไม่พร้อมผสมพันธุ์
เปรียบเทียบกับวัว 50 ตัวที่ส่งไปให้เกษตรกรอีกกลุ่ม ขณะนี้ออกลูกมาแล้ว 5 ตัว และกำลังจะออกอีกหลายตัว เพราะเลี้ยงแม่วัวอ้วนสมบูรณ์ ทำไมถึงแตกต่างกัน ในเมื่อเราส่งวัวไปให้โดยรถขนสัตว์คันเดียวกัน
วนิษฐา ยืนยันด้วยว่า วัวมีบัตรประจำตัวสัตว์ทุกตัว และตอนส่งมอบก็สอบถามเกษตรกรทุกครั้งว่าพอใจหรือไม่ ถ้ามีปัญหาให้ประสานเข้ามา บางครั้งวัวติดหวัด ก็ส่งยาไปให้ หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปฉีดยา แต่เมื่อส่งมอบแล้ววัวซูบผอม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กระทบเรื่องอาหาร
“เราต้องเข้าใจว่าเกิดเหตุสุดวิสัยจริง หลังเกิดอุทกภัย หรือน้ำท่วมภาคใต้ หลังจากส่งวัวไปไม่นาน หรือไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา น้ำท่วมคอกวัว ท่วมแปลงหญ้า ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าน้ำจะลด วัวและสัตว์ไปอยู่ที่ไหน สัตว์กินอะไร เราได้ข่าวว่าปศุสัตว์ที่นั่นช่วยกันหาหญ้าแห้งมาให้วัวกิน แจกจ่ายแบ่งๆ กันไปเพื่อประทังให้วัวมีชีวิตรอดก่อน เพราะจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว ไม่มีใครพูดถึงเลย อย่างวัวที่เรารับกลับมา เราเห็นวัวแล้วสภาพแตกต่างจากตอนไป เรารู้สึกเสียใจมาก” ผู้แทน หจก.วิชัย ฟาร์ม 2020 กล่าวกับเนชั่นทีวี
@@ “บิ๊กปศุสัตว์”ลงปัตตานี - ห่วงวัวท้ายคอก - ติวเข้มแก้ปัญหา
วันศุกร์ที่ 26 ม.ค.67 นายสัตวแพทย์ ประภาส ภิญโญชีพ ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี และได้ประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อรับฟังปัญหาทั้งหมดของโครงการโคบาลชายแดนใต้
รองอธิบดีกล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องการร้องเรียนที่เกิดขึ้นต้องฟังให้รอบคอบ การทำงานอาจไม่พร้อมด้วยกำลังคน งบประมาณ และการสื่อสาร ต้องปรับให้มีความเข้าใจตรงกัน พร้อมย้ำว่าถ้าเกษตรกรไม่พอใจ สามารถปรับเปลี่ยนตัววัวได้ เมื่อมีปัญหาตัวไหนให้ดูตัวนั้น
“วัวที่ยังไม่ท้องต้องดูเป็นรายกลุ่ม ถ้าไม่ท้อง ต้องอนุมัติซื้อตัวใหม่มาแทน จะได้รู้ว่าปัญหามาจากไหน ถ้าวัวไม่สมบูรณ์จริงต้องขายออก แล้วไปซื้อมาใหม่ เพราะเลี้ยง 4-5 เดือน ถ้ายังไม่ตั้งท้องก็ต้องตรวจ เลี้ยงไปนานๆ ก็หมดกำลังใจ คิดว่าวัวไม่ดี ถ้าไม่ดีก็ต่อรองกัน สับเปลี่ยนตัวใหม่”
“วัวที่มีนิสัยไม่เหมือนกัน นำมาเลี้ยงรวมกันในที่เดียว ทำให้เกิดวัวหน้าคอก คือ สู้ทุกตัว, วัวกลางคอก คือ วัวอยู่กลางๆ และวัวท้ายคอก คือวัวไม่สู้ใคร /ทำให้กินอาหารไม่เท่ากัน น้ำหนักลดลง จึงควรกั้นคอกให้เป็นสัดส่วน และควรทำเป็นการด่วน”
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ยังเน้นย้ำให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ให้เร่งแก้ไขปัญหาทุกปัญหาให้เกษตรกรเป็นการด่วน
----------------------
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี