“ทีมข่าวอิศรา” เกาะติดปัญหาของโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” มาหลายวัน จนกลายเป็นประเด็นสาธารณะ ผู้เกี่ยวข้องเปิดตัวออกมาชี้แจงหมดแล้ว ทั้งรัฐมนตรี หน่วยงาน และภาคเอกชน
เราขอรวบรวมปัญหาคาใจของเกษตรกร และปัญหาจริงที่พบจากการลงพื้นที่ให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันชัดๆ อีกรอบ ทั้งปัญหาเก่าและใหม่ พร้อมคำชี้แจงของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งยอมรับปัญหา เดินหน้าตรวจสอบ และคำชี้แจงแบบไม่ยอมรับ
/// ปัญหาจากเกษตรกร ///
1.”โคแม่พันธุ์” ที่เกษตรกรได้รับจากเอกชนผู้จำหน่าย มีปัญหาน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ เรียกว่า “โคไม่ตรงปก” ทั้งๆ ที่ราคาตัวละ 17,000 บาท
-โคผอม
-โคป่วย มีโรคปากเท้าเปื่อย
-เซื่องๆ ซึมๆ ขุนอย่างไรก็ไม่ขึ้น
-โคบางส่วนตาย
2.”โคแม่พันธุ์” มีคุณสมบัติไม่ตรงตามสเปคของกรมปศุสัตว์
-บางส่วนไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์
-บางส่วนไม่มีหลักฐานการรับวัคซีน
3.กระบวนการรับคืนโคล่าช้า แม้จะรับคืนจริง แต่เกษตรกรต้องแบกต้นทุนช่วงรอรับคืน
4.”คอกกลาง” สร้างไม่ได้มาตรฐาน โย้โย้ โยกเยกใกล้พัง ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างได้ไม่กี่วัน และราคาสูงถึง 350,000 บาท
5.การลงพื้นที่ช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังปัญหาของเกษตรกร ยังล่าช้าและน้อยเกินไป
/// ปัญหาที่ฝ่ายการเมืองตรวจพบ ///
หลังจากปัญหาของ “โคบาลชายแดนใต้” เป็นประเด็นสาธารณะ ทำให้ฝ่ายการเมืองยื่นมือเข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกรมปศุสัตว์
1.”โคแม่พันธุ์” ตามที่ปรากฏในภาพข่าว ตัวผอม อมโรคจริง ยอมรับไม่ได้ สั่งเร่งตรวจสอบ
2.ตั้งข้อสงสัยถึง “แหล่งที่มาของโค” ว่าเป็นโคจากที่ไหน โคไทยจริงหรือไม่
3.ตั้งข้อสงสัยถึง “เอกชน” ที่เป็นคู่สัญญาของกลุ่มเกษตรกร เหตุใดจึงใช้ฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากชายแดนใต้มาก
4.การจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดเป็นแบบ “วิธีพิเศษ - เฉพาะเจาะจง” ไม่มีการประกวดราคา
5.ทำสัญญากับเอกชนรายเดียว ทำให้โครงการมีความเสี่ยง
/// คำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ///
อีกด้านหนึ่งก็มีคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในโครงการออกมาแล้ว เราขอสรุปเป็นข้อๆ เบื้องต้นดังนี้
1.เอกชนคู่สัญญา ยืนยันว่า “โคแม่พันธุ์” ที่นำไปส่ง อวบอ้วน ตรงสเปคทุกอย่าง
2.ปัญหาโคผอม ป่วย ไม่เกี่ยวกับฝั่งผู้ประกอบการ แต่อาจเป็นปัญหาช่วงที่กลุ่มเกษตรกรรับไปดูแลเอง ก่อนส่งมอบให้เกษตรกรในพิื้นที่แต่ละราย
3.กรมปศุสัตว์ชี้แจงสอดคล้องกันว่า ปัญหาโคผอม อมโรค มาจากการเลี้ยง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาน้ำท่วมใต้ ทำให้อาหารไม่พอ และโคเครียด จนป่วย
4.เงินที่ใช้ในโครงการเป็น “เงินนอกงบประมาณ”
5.กรมปศุสัตว์เป็นเพียงผู้กำหนดสเปค และตรวจมาตรฐาน ไม่เกี่ยวกับการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรกับเอกชน รวมถึงไม่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนมาเป็นคู่สัญญา
-----------------------
ขอบคุณกราฟฟิกจาก รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี