“คนปัตตานีไม่ได้โง่ หลอกไม่ได้ สิ่งที่เขาทำ เขาคิดว่าจะปิดหูปิดตาชาวบ้านได้ แต่คนปัตตานีไม่ยอม จึงออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม”
เป็นเสียงจาก สุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดปัตตานี หนึ่งในเกษตรกรที่ร่วมโครงการ “โคบาลชายแดนใต้”
สุรเดช เป็นหัวหอกในการร้องเรียนสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการนี้ หลังจากรับมอบ “โคแม่พันธุ์” จากเอกชนผู้จำหน่ายโคในโครงการ และพบว่าโคจำนวนหนึ่งมีสภาพผอม อมโรค น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด คือน้ำหนักน้อยกว่า 160 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่ราคาโคสูงถึงตัวละ 17,000 บาท
ที่หนักกว่านั้นคือ “โคแม่พันธุ์” ที่ได้รับ ไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์ และไม่มีประวัติการรับวัคซีน
“ผมและสมาชิก 10 คน เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ รวมตัวเป็นกลุ่มเกษตรกร เป็นวิสาหกิจชุมชน ได้โค 50 ตัว เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าโคที่รับมาเป็นโรคปากเท้าเปื่อย จำนวน 7 ตัว ทำให้เกรงว่าจะเกิดโรคระบาด กระทบกับโคตัวอื่นๆ และผู้เลี้ยงรายอื่นๆ ในพื้นที่ จึงต้องแยกโคที่ติดเชื้อออกไปเลี้ยงต่างหาก”
เรื่องน้ำหนักโคแม่พันธุ์ ที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่ยอมรับว่า โคที่มาส่งให้เกษตรกร น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ กลับอ้างว่าเกษตรกรเลี้ยงไม่ตรงตามคู่มือเองนั้น ประเด็นนี้ สุรเดช ยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง
“วันแรกที่วัวมา เราก็รู้แล้วว่าน้ำหนักไม่ถึง เพราะวัวตัวเล็ก ผอม และยังไม่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ เนื่องจากอายุไม่ถึงตามที่กำหนด ตอนแรกผมไม่ยอมเซ็นรับ แต่ปศุสัตว์ขอร้องให้ช่วยเซ็น จึงยอมเซ็น และขอให้สมาชิกร่วมเซ็นรับด้วย”
“แต่รับมาไม่ถึงเดือน ตอนนี้หมดทั้งหญ้าสด หญ้าแห้งไปเป็นร้อยก้อนแล้ว หญ้าสดนี้ แปลงหญ้าที่ปลูกเองก็มี ซื้อมาก็มี และยังให้อาหารเสริมอีกกระสอบละ 450 บาท หมดไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว แต่วัวยังผอมเหมือนเดิม คือมันผอมตั้งแต่มาถึงแล้ว”
สุรเดช บอกว่า ชาวบ้านไม่ได้โง่ อย่างตนเองก็จบปริญญาโท มีประสบการณ์เลี้ยงโค บางเรื่องอาจจะชำนาญกว่ากรมปศุสัตว์ด้วยซ้ำ ฉะนั้นทุกอย่างจึงดูออก หลอกกันไม่ได้
“ผมเรียนจบปริญญาโท เคยเป็นข้าราชการตำรวจ ฉะนั้นการที่ ศอ.บต.มาบอกว่าเกษตรกรไม่มีความรู้ ไม่ปฏิบัติตามคู่มือ พูดแบบนี้ก็เกินไป เพราะผมมีประสบการณ์เลี้ยงวัวมาตั้งแต่เด็ก การเลี้ยงวัวที่ดีให้มีคุณภาพเราทำมาตลอด ประสบการณ์ที่เลี้ยงมา กับความรู้ที่เรียนรู้มา ยืนยันว่ามีประสบการณ์มากพอ ไม่มีใครมาหลอกได้ เราดูพันธุ์วัวออก วัวพันธุ์อะไร เลี้ยงอย่างไร อาจจะมีอย่างเดียวที่เราไม่ชำนาญ คือวัคซีน แต่เราก็ปรึกษากับปศุสัตว์ตลอด”
สุรเดช บอกว่า เกษตรกรในกลุ่มของตน ต้องการส่งคืนโคประมาณ 15 ตัว เพราะไม่ได้มาตรฐานจริงๆ น้ำหนักราวๆ 95-120 กิโลกรัมเท่านั้น
“ของกลุ่มกะพ้อ มายอ (อำเภอใน จ.ปัตตานี) ส่งคืนหมดทั้งหมด ที่เลวร้ายบางตัวกำลังจะตายก็ต้องเชือด วันนี้กลุ่มเกษตรกรที่มายอโทรมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร ก็ได้แนะนำให้ปศุสัตว์รับทราบแล้ว ปศุสัตว์ก็แนะนำให้เชือด เขาก็เชือดวันนี้เป็นตัวที่ 2 แล้ว พอเชือดเสร็จ เขาเอามาชั่งได้น้ำหนักทั้งหมด 95 กิโลกรัม ถามว่าใครจะเยียวยา 34,000 บาทที่เสียไป (ตัวละ 17,000 บาท) ได้วัวไม่ตรงปก แถมกำลังจะตายอีก ใครจะรับผิดชอบ”
สุรเดช บอกด้วยว่า ได้เจรจากับตัวแทนบริษัทผู้จำหน่ายโค ได้รับแจ้งว่าจะเปลี่ยนโคตัวใหม่ให้ตามสัญญาช่วงปลายเดือน ก.พ.
“จากที่คุยก็ถือว่าโอเค แต่ต้องได้โคที่เป็นแม่พันธ์ที่ดีตรงตามสเปคด้วย ที่สำคัญรับมาแล้วสามารถผสมพันธุ์ได้เลย คืออายุถึงเกณฑ์ตามที่ระบุในสัญญา ไม่ใช่ผอมตั้งแต่วันแรก แบบนั้นรับไม่ได้จริงๆ”
สุรเดช บอกทิ้งท้ายว่า โครงการต่างๆ ของรัฐแทบทุกโครงการไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพตามที่ประกาศกำหนด แต่ความต่างคือ โครงการอื่นรัฐให้ฟรี จึงไม่มีใครเรียกร้องหรือโวยวายอะไร ส่วนโครงการนี้เกษตรกรกู้มา จึงต้องเรียกร้องขอความเป็นธรรม
“ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นการซ้ำเติมปัญหาภาคใต้ มากกว่ามาแก้ไข”