กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ หารือแม่ทัพภาค 4 - ผบช.ภาค 9 พร้อมรับฟังปัญหา-ข้อเสนอแนะดับไฟใต้ ขณะที่ พล.ท.ศานติ ประกาศจุดยืนคดีนักกิจกรรม ถ้าทุกส่วนบริสุทธิ์ใจ ก็ว่ากันไปตามหลักฐาน ให้ศาลตัดสิน
หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” ได้ลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้จากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 18 – 20 ม.ค.67 โดยได้มีการเชิญตัวแทนชาวไทยพุทธ ภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการ ศอ.บต. นักธุรกิจ มาร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะกับกมธ. ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี นั้น
วันเสาร์ที่ 20 ม.ค. ทาง กมธ.ได้พบปะหารือกับ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) พร้อมด้วยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อรับฟังปัญหา สาเหตุ ผลกระทบและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ. กล่าวว่า เป็นโอกาสดีมากที่ได้มารับฟัง ที่ผ่านมาเราฟังแต่หน่วยงานในส่วนกลาง ตอนนี้มาฟังผู้รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงโดยตรงในพื้นที่ เราก็ได้ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการพูดคุย นัยที่มีต่อผู้ปฏิบัติ และก็เห็นว่าผู้รับผิดชอบในส่วนของ กอ.รมน. ที่รับผิดชอบเรื่องการพูดคุย ก็มีความเข้าใจความเป็นมา เข้าใจสถานะของการพูดคุย เพื่อเห็นขั้นตอนในการทำงานต่อไปค่อนข้างชัดเจน อาจจะมีการเหลื่อมกันอยู่บ้างกับผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งก็เห็นแผนในการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือนโยบายและแผนที่มีอยู่ โดยที่อาจจะไม่ต้องโยงกับการพูดคุย เวลานี้ก็พยายามหารือเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างการทำงานของหน่วยต่างๆ กับแผนการพูดคุยและความคืบหน้าของการพูดคุย
@@ หาสมดุล “บังคับใช้กฎหมาย” ลดเงื่อนไข-มุ่งสันติสุข
ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่พูดกันคือ เรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างสภาวะแวดล้อม การหารือสาธารณะ การเปิดพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งที่เราคุยกันมายังมีข้อห่วงใยอยู่ เกี่ยวกับเรื่องที่มีเยาวชน นักกิจกรรม นักศึกษา ต้องการพื้นที่ทางการเมืองและต้องการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ดี การที่จะทำให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็ดี นักกิจกรรทและเยาวชนก็เป็นห่วงเรื่องพื้นที่ความปลอดภัย หมายถึงการที่ทำกิจกรรมก็ดี การแสดงความเห็น กลัวว่าจะถูกการบังคับใช้กฎหมายที่เกินกว่าเหตุและเขาจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เขามีความปรารถนาดี
“เรื่องนี้ก็ได้หารือกับคณะพูดคุยและก็ทางท่านแม่ทัพ ก็น่ายินดีที่ทั้งคณะพูดคุย ท่านแม่ทัพ และผู้บัญชาการตำรวจ มีความพร้อมที่จะรับฟังเสียงสะท้อนความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ และพร้อมที่จะไปหารือกันต่อ เราเข้าใจดีว่า ท่านทำตามหน้าที่ ตามกฎหมาย ท่านเป็นผู้รักษากฎหมาย ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อพบพยานหลักฐานที่จำเป็นต้องทำตามหน้าที่ ท่านก็ต้องทำ แต่ขณะนี้เรากำลังชวนกันคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ การดำเนินมาตรการต่างๆ สุดท้ายแล้วท่านก็พูดเองว่า ต้องการให้เกิดสันติสุข การเกิดสันติสุขมันมีเส้นบางๆ แบ่งระหว่างการบังคับใช้กฎหมายแล้วทำให้เกิดการลดการก่อความไม่สงบ กับการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องเดียวกันแล้วกลายเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความไม่พอใจ และกลายเป็นความไม่สงบ”
“ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีมากที่คณะกรรมาธิการฯได้พบกับท่านแม่ทัพและผู้บัญชาการตำรวจ แล้วก็มีแนวโน้มที่ดีที่จะไปคิดไปหารือกันต่อ เพื่อหาจุดพอดีที่จะทำให้เกิดสันติสุข แล้วก็เกิดความเป็นธรรม การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม เพราะทางคณะพูดคุยเขาต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ ขณะนี้มีเยาวชนนักศึกษาจำนวนมากต้องการพื้นที่สาธารณะเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันเป็นคนละคลื่นความถี่กัน ก็จะจูนกันได้ อันนี้ก็หวังว่าคงจะได้มีการหารือกันอีกแล้วก็นำไปสู่ข้อสรุป นำไปสู่แผนยุทธศาสตร์และการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อไป” นายจาตุรนต์ ระบุ
@@ แม่ทัพลั่น “คดีนักกิจกรรม” ว่าตามหลักฐาน-ให้ศาลชี้ขาด
พล.ท.ศานติ กล่าวว่า ถือว่าได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ในพื้นที่ จากที่ กมธ.ได้รับข้อมูลจากทุกสื่อ และจากทางส่วนกลาง และได้ลงมาเห็น ตนก็ว่ามีแนวโน้มที่ดีในการที่จะพูดคุยและปรับเข้าหาซึ่งกันและกัน เพราะว่าทุกๆ คนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ สันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่
“สิ่งที่ผมได้รับข้อมูลจากคณะกรรมาธิการฯวันนี้ สิ่งไหนที่เราต้องนำไปปรับปรุงไปแก้ไข ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงของเราที่จะไปดำเนินการ และรวมถึงในเรื่องของคณะพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งผมก็คิดว่าการพูดคุยในเรื่องของสันติสุขก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ”
“ในเรื่องคดีของนักกิจกรรม เราก็ดำเนินการไปตามพยานหลักฐานที่เรามีอยู่ เราจะทำตามหลักกฎหมาย ชี้แจงว่าเรื่องนี้ถ้าทุกส่วนมีความบริสุทธิ์จริงใจ ก็นำพยานหลักฐานมายื่นได้ ซึ่งผมมั่นใจกระทรวงยุติธรรมและศาลน่าจะตัดสินได้ดีที่สุด” แม่ทัพภาค 4 กล่าว
@@ ประชาชนสับสน ไม่มีหวังดับไฟใต้
ก่อนหน้านั้น กมธ.ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยเชิญตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งพี่น้องไทยพุทธ มุสลิม รวมถึงเยาวชน
กมธ.ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคก้าวไกล สรุปปัญหาได้ดังนี้
-ประชาชนทั้งสองศาสนาเห็นตรงกันว่าการสร้างสันติภาพที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
-ชาวพุทธอพยพออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก
-การเยียวยาไม่ทั่วถึง ระเบียบราชการยุ่งยาก ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีการเล่นพรรคเล่นพวก เพราะจะได้รับเงินเยียวยา ต้องได้รับการรับรองจาก 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ ปกครอง)
-ประชาชนไม่เข้าใจว่าความขัดแย้งและความรุนแรงเกิดจากอะไรกันแน่ ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง
-การเยียวยาเด็กกำพร้าตกหล่น โดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่เป็นผู้ต้องขัง มีหมายจับ หรือเสียชีวิตจากการก่อเหตุ เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ