“การยางแห่งประเทศไทย” นำคาราวานรวมน้ำใจมอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมชายแดนใต้ ด้าน รมช.ศึกษาฯ เยี่ยมโรงเรียนประสบอุทกภัย อ.ระแงะ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระดมซ่อมแซมระบบไฟฟ้าบ้านเรือนถูกน้ำท่วม ขณะที่ อว.มอบชุดที่นอนยางพาราผู้ประสบภัยนราธิวาส-ยะลา 150 ชุด
เมื่อวันพุธที่ 17 ม.ค.67 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้นำสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ผ่านโครงการ “คาราวานรวมใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ 16-18 มกราคม 2567” นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการฯด้านธุรกิจ คณะผู้บริหารและพนักงาน กยธ.
รวมถึง นายพนัสพล โกสิยาภรณ์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส และนายรุสดี สะอะ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยสาขาระแงะ พร้อมคาราวานรถตู้จำนวน 15 คัน เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
อนึ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลูกยางหนาแน่นเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้ กยท.ให้ความสนใจและติดตามช่วยเหลือผู้ประสบภัย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อสวนยางพาราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับสิ่งของที่นำไปมอบในครั้งนี้ ประกอบด้วยถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำดื่มจำนวน 30,000 ขวด ยารักษาโรค พรมละหมาด เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ผ้าอนามัยสำหรับสุภาพสตรี และอื่นๆ ที่จำเป็น โดยมีพันธมิตรร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่กำลังได้รับความเดือดร้อน
จุดที่เข้าไปแจกสิ่งของช่วยเหลือ ที่อาคารอเนกประสงค์ อบต.บาโงสะโต อ.ระแงะ รวมทั้งอำเภออื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่ง กยท.มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
จากการสำรวจของ กยท.จ.นราธิวาส พบว่า มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยสวนยางน้ำท่วม 28,909 ราย 362,035 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 54.69 ของพื้นที่สวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวน 661,970.64 ไร่ ซึ่ง กยท.ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยและเกษตรกรชาวสวนยางดังนี้
1. มอบถุงยังชีพในหลายพื้นที่
2. มอบเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง กรณีเสียชีวิตให้แก่ทายาท
3. เร่งดำเนินการสำรวจ และรับคำขอจัดซื้อถ้วยรองรับน้ำยาง ทดแทนถ้วยรองรับน้ำยางที่สูญหายจากอุทกภัย
4.เร่งดำเนินการสำรวจสวนยางพาราที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
@@ รมช.ศึกษาฯ เยี่ยมโรงเรียนประสบอุทกภัย อ.ระแงะ
เมื่อเร็วๆนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กําลังใจผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน และประชาชน ที่โรงเรียนอัลเราะห์มานวิทยา (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) หมู่ 7 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และโรงเรียนบ้านสาเมาะ ต.บองอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ โดยได้มอบถุงความห่วงใยจากกระทรวงศึกษาธิการให้แก่นักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาด้วย
สำหรับ จ.นราธิวาส มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 432 แห่ง ในส่วนภาพรวมของพื้นที่ อ.ระแงะ ได้รับผลกระทบครอบคลุมทั้งอําเภอ 7 ตําบล 61 หมู่บ้าน 19,589 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 1 ราย สูญหาย 1 ราย บ้านเรือนเสียหาย ทั้งหลัง 31 หลัง บ้านเรือนเสียหาย บางส่วน 403 หลัง
@@ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระดมซ่อมระบบไฟบ้านจมน้ำ
เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการร่วมด้วยช่วยกัน ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมี นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติ ณ มัสยิดบือแนรายอ หมู่ 5 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ทางอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการซ่อมแซมระบบไฟฟ้าของบ้านเรือนผู้ประสบภัย พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย
โดยก่อนหน้านั้น นายนัจมุดดีน, น.ส.บุปผา และ ดร.ซาการียา สะอิ สส.เขต 4 นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย รวมถึงผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 4 จชต.(นราธิวาส ยะลา ปัตตานีและสงขลา) ได้เข้าหารือกับ ดร.อับดุลฮาฟีส หิเล ประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพให้กับนักเรียนในสังกัด รวมถึงหารือแนวทางการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นด้วย
@@ อว.มอบชุดที่นอนยางพารานราธิวาส-ยะลา 150 ชุด
ด้าน พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้รับมอบหมายจาก นางศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ส่งมอบนวัตกรรมชุดที่นอนยางพารา เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จำนวน 100 ชุด และผู้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา 50 ชุด รวมทั้งหมด 150 ชุด
สำหรับชุดที่นอนยางพาราดังกล่าว ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นนวัตกรรมต่อยอดมาจากโครงการวิจัยที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชน ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำให้มีคุณสมบัติที่นุ่มและยืดหยุ่นสูง รองรับสรีระการนอน สามารถระบายอากาศได้ดี ไม่สะสมฝุ่นและเชื้อโรค มีอายุการใช้งานนับ 10 ปี โดยมีราคาประมาณ 3,000 บาทต่อชุด