ชายแดนใต้ไม่ตกขบวน แห่มอบ “โฉนดเพื่อการเกษตร” ซึ่งแปลงโฉมมาจาก ส.ป.ก.4-01 เดิม ให้เกษตรกรในพื้นที่กว่า 300 ราย เพื่อให้นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เปิด 5 สิทธิประโยชน์ “โฉนดครุฑเขียว”
วันจันทร์ที่ 15 ม.ค.67 เป็นวันที่รัฐบาลเปิดปฏิบัติการ KICK OFF มอบโฉนด ส.ป.ก.ให้แก่เกษตรกรนำร่อง 25,000 รายพร้อมกันทั่วประเทศ ปรากฏว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ตกสำรวจ ได้รับ “โฉนดครุฑเขียว” ด้วยเช่นกัน หวังให้เกษตรกรต่อยอดให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความมั่นคงในชีวิต
ที่ห้องประชุมวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตร แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 101 ราย รวม 123 แปลง เนื้อที่ประมาณ 368 ไร่ 97 ตารางวา โดยเป็นเกษตรกรจากในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก, ต.โฆษิต ต.ไพรวัน ต.พร่อน อ.ตากใบ, ต.แม่ดง อ.แว้ง และ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง
จ.นราธิวาส มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 71,859 ไร่ เป็นพื้นที่เขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 25,838 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดนราธิวาส 10 อำเภอ รวม 11 โครงการ โดยได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 2,840 ราย 3,952 แปลง เนื้อที่ประมาณ 17,633 ไร่ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ให้แก่เกษตรกรจำนวน 562 ราย 562 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,846 ไร่ 3 งาน 77 ตารางวา
@@ เกษตรกรยะลารับมอบโฉนด 110 ราย
ด้าน จ.ยะลา ที่ห้องประชุมศรีญาลอ ชั้น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดพิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ในกิจกรรม “Kick Off พิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตร เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567” ให้กับเกษตรในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 110 ราย ขานรับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรนำไปต่อยอดในการเข้าถึงโอกาสการให้บริการของภาครัฐ โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น มีทางเลือกในการพัฒนาที่ดินและพัฒนาอาชีพของตนเอง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
สำหรับพื้นที่ จ.ยะลา มีเกษตรกรรับมอบโฉนดเพื่อการเกษตรของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดยะลา จำนวน 110 ราย รวมทั้งหมด 181 แปลง 1,058 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา ประกอบด้วย เกษตรกร ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จำนวน 86 ราย, เกษตรกร ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จำนวน 8 ราย, เกษตรกร ต.บาละ อ.กาบัง จำนวน 8 ราย, เกษตรกร ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จำนวน 6 ราย, เกษตรกร ต.บือมัง อ.รามัน จำนวน 1 ราย และ เกษตรกร ต.ยะหา อ.ยะหา จำนวน 1 ราย
@@ ปัตตานี 4 อำเภอ มอบโฉนดเกษตรกร 94 ราย
ส่วนที่ จ.ปัตตานี ณ หอประชุมโรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคี อ.มายอ จ.ปัตตานี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย สส.ทุกเขต หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมในพิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปัตตานีจัดขึ้น มีพี่น้องเกษตรกรได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรจากพื้นที่ 4 อำเภอประกอบด้วย อ.มายอ, อ.ยะรัง, อ.ทุ่งยางแดง และ อ.สายบุรี รวมจำนวน 94 ราย 104 แปลง เนื้อที่ประมาณ 366 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา
สำหรับ จ.ปัตตานี ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 30,313 ไร่ เป็นพื้นที่เขตดำเนินการปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ประมาณ 22,985 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด 5 อำเภอ 13 โครงการได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 4,249 ราย 6,428 แปลง เนื้อที่ประมาณ 22,980ไร่ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีแผนดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกร จำนวน 1,142 แปลง เนื้อที่ประมาณ 3,405 ไร่
@@ เปิด 5 สิทธิประโยชน์ “โฉนดครุฑเขียว”
สิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร หรือ “โฉนดครุฑเขียว” ได้แก่
1.เปลี่ยนมือ โอนสิทธิ์ได้ โดยสามารถโอนคืนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ก็ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนก็ได้ โดยจะได้รับค่าชดเชย
หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิ์ให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด
2.เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก.เต็มวงเงิน ตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์
นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
3.สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4.สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ หรือ “โฉนดต้นไม้” )และขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจำ (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
5.ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู กับ 16 หน่วยงานด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ กรณีเกิดพิบัติภัยตามธรรมชาติ