2 ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองเฉพาะมิติความมั่นคง จากสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนาน
ทั้งที่พื้นที่นี้มีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่ และมีศักยภาพในการพัฒนา โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ
ไม่นับชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของผู้คน....
อย่างเช่น “ปูทะเล” คนนอกพื้นที่อาจไม่ทราบว่านี่คือ “สัตว์น้ำเศรษฐกิจ” ที่สร้างรายได้และต่อยอดอาชีพให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมหาศาล
การจับ “ปูทะเล” ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สุดท้ายต้องเสียเงินนำเข้า สั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ทำวิจัยร่วมกับหลายหน่วยงานในการเพาะเลี้ยงลูกปู เพื่อลดการนำเข้าแม่ปู
จากการเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจร ณ โรงเพาะฟักของ ม.อ.ปัตตานี เกิดการผลิตแม่ปูทะเลที่มีคุณภาพ และนำแม่ปูไปให้บริการแบบให้เปล่าแก่โรงเพาะฟักทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ทดแทนการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีการใช้ลูกปูให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดิน สร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปูในอนาคต
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี เล่าว่า เป้าหมายของโครงการนี้คือ นวัตกรรมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศสู่ “เมืองปูทะเลโลก”
ชื่อโครงการคือ โครงการวิจัยการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ โดยใช้องค์ความรู้ครบวงจร
-วิทยาศาสตร์
-เทคโนโลยี
-การตลาด
-การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
หน่วยงานที่สนับสนุน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป้าหมายคือมุ่งให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้ในการเพาะฟักลูกปู จากแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดอง เพื่อขยายพันธุ์ปูทะเล และเพิ่มปริมาณปูทะเลให้เพียงพอที่จะส่งเสริมเป็นอาชีพที่มั่นคง
สาระของโครงการนอกจากเรื่องการเพาะพันธุ์แล้ว ยังมีการศึกษาระบบและโครงสร้างการตลาดของปูทะเ ลและการสร้างผู้ประกอบการท้องถิ่นสำหรับห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงปูทะเลและการตลาดใน จ.สตูล และปัตตานี
ผลจากการดำเนินงานสามารถพัฒนาแม่พันธุ์ปูทะเลรุ่น F2 และกำลังดำเนินการเลี้ยงปูประชากร F3 ในบ่อดิน สามารถผลิตแม่ปูที่มีไข่นอกกระดอง 115 ตัว นำไปให้บริการแก่โรงเพาะฟักปูทะเลภายในประเทศ จนในปี 2566 แทบจะไม่มีการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศอีกเลย
“ปัญหาการขาดแคลนแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดองเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์และอนุบาล เป็นอุปสรรคสำคัญในการเพาะและขยายพันธุ์ปูทะเลในประเทศไทย โดยปกติปูทะเลจะอาศัยบริเวณชายฝั่งป่าชายเลน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องปล่อยไข่ให้ออกไปอยู่นอกกระดอง ปูจะว่ายน้ำในช่วงที่ไข่ยังอยู่ในตัว เพื่อไปหาแหล่งที่เหมาะสมที่ระดับความลึกราว 30-50 เมตร บริเวณนอกชายฝั่ง”
“แต่เมื่อคณะนักวิจัย ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.ปัตตานี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบการกระตุ้นแม่พันธุ์ปูทะเลให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดอง ภายในศูนย์เพาะฟักลูกปู ทำให้เราสามารถก้าวข้ามเงื่อนไขอุปสรรคไปได้”
“ระบบและวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้แม่ปูที่มีไข่ในกระดองให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองและฟักออกมาเป็นลูกปู เพื่อนำไปอนุบาลได้ถึงร้อยละ 75-85 ปัจจุบันแม่ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองหรือลูกปูที่ผลิตได้จากโครงการวิจัยฯ ได้ถูกส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่สนใจ นำเอาลูกปูไปอนุบาลต่อเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและการเพิ่มปริมาณปูทะเลในแหล่งน้ำธรรมชาติ บนหลักการที่เชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองปูทะเลโลก” ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมฯ ม.อ.ปัตตานี ระบุ