คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เตรียมเสนอ ครม.ต่ออายุ “พ.ร.ก.ชายแดนใต้” ไปอีก 3 เดือน ยาวไปถึง 19 เม.ย.67 ชงยกเลิกเพิ่ม 2 อำเภอ “ปะนาเระ–รามัน” รวมงดใช้กฎหมายพิเศษยาแรง 15 อำเภอ เหลืออีก 18 อำเภอลุ้นต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ
ทั้งนี้ ที่ประชุม กบฉ.มีมติการปรับลดพื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา ออกจากพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้น และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งสอดคล้องกับแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทำให้ขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 18 อำเภอ จาก 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเลิกไปแล้ว 15 อำเภอ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 และสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายน 2567 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้งสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 16 มกราคม นี้ เพื่อให้พิจารณาอนุมัติต่อไป
สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเขตปกครองระดับอำเภอทั้งสิ้น 33 อำเภอ ปัจจุบันยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 15 อำเภอ (ตามที่ สมช.เสนอ รอผ่าน ครม.อังคารหน้า 2 อำเภอล่าสุด) และยังมีอำเภอที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่อีก 18 อำเภอ แยกตามรายจังหวัดดังนี้
จ.ปัตตานี มีทั้งหมด 12 อำเภอ ยกเลิกบังคับใช้ไปแล้ว 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ อ.แม่ลาน อ.ทุ่งยางแดง และ อ.ปะนาเระ (เพิ่งเสนอ) ส่วนอำเภอที่ยังบังคับใช้อยู่ 5 อำเภอ คือ อ.เมืองปัตตานี อ.โคกโพธิ์ อ.หนองจิก อ.สายบุรี และ อ.ยะรัง
จ.นราธิวาส มีทั้งหมด 13 อำเภอ ยกเลิกบังคับใช้ไปแล้ว 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน และ อ.ยี่งอ ส่วนอำเภอที่ยังบังคับใช้อยู่ 9 อำเภอ คือ อ.เมืองนราธิวาส อ.ตากใบ อ.บาเจาะ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.จะแนะ และ อ.เจาะไอร้อง
จ.ยะลา มีทั้งหมด 8 อำเภอ ยกเลิกบังคับใช้ไปแล้ว 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เบตง อ.กาบัง อ.กรงปินัง และ อ.รามัน (เพิ่งเสนอ) ส่วนอำเภอที่ยังบังคับใช้อยู่ 4 อำเภอ คือ อ.เมืองยะลา อ.บันนังสตา อ.ธารโต และ อ.ยะหา
@@ “ตันสรี ซุลกิฟลี”หารือรองนายกฯสมศักดิ์ วางกรอบพูดคุยสันติสุข
วันพุธที่ 10 ม.ค.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ พล.อ.ตันสรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหม่ ซึ่งมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช.เป็นหัวหน้าคณะ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การหารือกับ พล.อ.ตันสรี ซุลกิฟลี เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างภาคส่วนราชการของไทยและมาเลเซียเพื่อให้การทำงานลงตัว เหมือนการสร้างระเบียบเพื่อให้การทำงานราบรื่น จะใช้เวลาไม่นาน รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์ในการพูดคุยว่า จะพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร
“ส่วนการพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้น ยังไม่ทราบ เพราะวันนี้เป็นการพูดคุยเพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว เพื่อให้ไทยกับมาเลเซียจับมือกันพัฒนาเศรษฐกิจแข่งกับประเทศอื่นๆได้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น”
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางอำเภอ แล้วใช้กฎหมายความมั่นคงแทน ก็จะทำให้การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ง่ายขึ้น เราพยายามยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางอำเภอออกไป ขอยืนยันว่า ทั้งสองประเทศต้องทำหลักการให้ชัดเจนและดำเนินไปตามแนวทางที่วางร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายสันติสุขยั่งยืนและฟื้นเศรษฐกิจ
@@ “ฉัตรชัย” คาดได้ข้อตกลงสันติสุขสิ้นปีนี้
ขณะที่ นายฉัตรชัย บางชวด รักษาการเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การหารือกันในวันนี้เพื่อนำคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐทั้ง 2 ประเทศมาพูดคุยกัน และกำหนดแนวทางการทำงาน ตลอดจนขั้นตอนที่จะไปพูดคุยที่มาเลเซีย โดยยืนยันว่าจะมีการสานต่อการพูดคุยสันติสุขในแนวทางเดิม โดยใช้แผนสันติสุขแบบองค์รวม (ร่างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP) ที่ทำไว้กับคณะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่มีแกนนำบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้าคณะ
คาดการณ์ว่าจะมีการพิจาณาร่างข้อเสนอการสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ในเดือน มิ.ย.2567 โดยตัวแทนผู้อำนวยความสะดวกของไทย จะไปพูดคุยกับฝั่งมาเลเซีย อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการพูดคุยเจรจากันภายในเดือน ก.พ.2567
“ทั้งนี้ไทยมีเป้าหมายรับรองแผนฉบับดังกล่าวในเดือน เม.ย.2567 จะทำให้การขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้มากขึ้น โดยมีเรื่องการลดความรุนแรง ลดการเผชิญหน้า การเปิดเวทีสาธารณะ รวมไปถึงการแสวงหาทางออกทางการเมือง หวังว่าร่างฉบับนี้จะนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขั้นต้นคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงสันติสุขภายในเดือน ธ.ค.2567 หรือช่วงต้นปีหน้า”
“ยืนยันจะดำเนินการตามแผน JCPP ที่ทำกับบีอาร์เอ็นเอาไว้เดิม เพราะบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และคนในพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญ จึงจำเป็นต้องเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังปัญหา ซึ่งสุดท้ายต้องเป็นเรื่องของคนไทยด้วยกันเองที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจก็เป็นส่วนสำคัญ จึงจำเป็นต้องให้ทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมาหลายปีก็ได้สร้างความไว้วางใจให้ผู้เห็นต่างเชื่อมั่นว่า รัฐมีความจริงจังที่จะแก้ไขปัญหา”
@@ ปัดแทรกแซงดำเนินคดีนักกิจกรรม ย้ำไม่ได้ห้ามแต่งชุดมลายู
ต่อข้อถามถึงกรณีที่กองทัพภาพที่ 4 แจ้งความดำเนินคดีนักกิจกรรมชายแดนใต้ ที่จัดงานรวมพลแต่งชุดมลายู (กอ.รมน.ชี้แจงว่าไม่ได้ดำเนินคดีเรื่องแต่งชุดมลายู แต่ดำเนินคดีการปราศรัยและใช้ธงสัญลักษณ์เชิงยุยงปลุกปั่น) สวนทางกับกระบวนการพูดคุยฯ จะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลอย่างไรนั้น นายฉัตรชัย กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะรัฐบาลไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ นโยบายจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เรื่องอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ทุกส่วนสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการกระทำความผิดบางส่วนก็เป็นเรื่องของกองทัพภาค 4 ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ
“แต่ทั้งหมดต้องมีการพูดคุยกันภายในหาจุดลงตัวที่เหมาะสม มองว่าอาจมีบางส่วนเห็นต่างและสุ่มเสี่ยง ผมมองว่า ปล่อยให้กระบวนการดำเนินการไป ส่วนเรื่องการพูดคุยกันภาพใหญ่ก็จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ดำเนินการต่อ ซึ่งต้องดำเนินการคู่ขนานกันต่อไป” หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย ระบุ