การประกาศลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเตรียมนอนพักค้างแรมช่วงปลายเดือน ก.พ.2567 ของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ต้องบอกว่าไม่ใช่นายกฯคนแรกที่ทำแบบนี้
เพราะนับตั้งแต่ไฟใต้ปะทุรุนแรงขึ้นมาหลังเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผู้นำประเทศทุกคนล้วนเคยลงพื้นที่หลังรับตำแหน่ง เพียงแต่ทอดเวลาสั้น-ยาวต่างกันเท่านั้น สะท้อนถึงการให้น้ำหนักและการจัดวางลำดับความสำคัญของปัญหา
“ทีมข่าวอิศรา” ย้อนอดีตผู้นำประเทศลงพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งผ่านมาแล้ว 9 รัฐบาล 7 นายกรัฐมนตรี (ไม่นับนายกฯเศรษฐา และรัฐบาลปัจจุบัน)
1.นายทักษิณ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 9 ก.พ.2544 ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง (4 ม.ค.2547) เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2547 หรือหลังเกิดเหตุปล้นปืน 3 เดือนเศษ และนอนค้างคืนที่วัดสำเภาเชย อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี (ก่อนเกิดเหตุการณ์กรือเซะ 14 วัน)
นอกจากนั้น วันที่ 6 ต.ค.2548 นายทักษิณยังลงพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ไปพูดคุยกับภรรยามะแซ อุเซ็ง ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนนำกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐไทย เจ้าของเอกสาร “บันได 7 ขั้นสู่การแยกดินแดน” โดยไปคุยที่บ้านนายมะแซ อุเซ็ง แต่เจ้าตัวหลบหนีหมายจับไปตั้งแต่ช่วงต้นของเหตุการณ์ไฟใต้ ขณะที่นายกฯทักษิณนอนค้างคืนที่วัดเจาะไอร้องธรรมาราม 1 คืน
วันที่ 10 ก.พ.2549 ลงพื้นที่ จ.ยะลา ค้างคืน 1 คืน ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.)
2.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1 ต.ค.2549 ลงพื้นที่ครั้งแรก 2 พ.ย.2549 หลังรับตำแหน่งเพียง 1 เดือน และยังได้กล่าวขอโทษแทนรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่ทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
3.นายสมัคร สุนทรเวช รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 29 ม.ค.2551 ลงพื้นที่ 10 พ.ค.2551 หรือหลังจากรับตำแหน่ง 3 เดือนเศษ
4.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 18 ก.ย.2551 ลงพื้นที่ 28 ต.ค.2551 หลังรับตำแหน่งเพียง 1 เดือนกับ 10 วัน
5. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 17 ธ.ค.2551 ลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรก 17 ม.ค.2552 หรือหลังรับตำแหน่งเพียง 1 เดือน
6.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 ส.ค.2554 ลงพื้นชายแดนใต้ครั้งแรก 29 เม.ย.2555 หลังรับตำแหน่งราวๆ 8 เดือน, ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ก.ย.2555 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 ธ.ค.2555
7. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 24 ส.ค.2557 ลงพื้นที่ชายแดนใต้ 12 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 9 ปี
ครั้งแรก 26 ธ.ค.2557 ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อ.ตากใบ นับเป็นครั้งแรกในการลงชายแดนใต้ หลังรับตำแหน่งนายกฯได้ราวๆ 4 เดือน
ครั้งที่ 2 วันที่ 25 ก.ค.2559 ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ติดตามการแก้ปัญหาชายแดนใต้
ครั้งที่ 3 วันที่ 6 ม.ค.2560 ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ประชุมงานความมั่นคง มอบถุงยังชีพผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อ.ระแงะ
ครั้งที่ 4 วันที่ 27 พ.ย.2560 ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ติดตามความก้าวหน้าโครงการ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ก่อนการประชุม ครม.นอกสถานที่ จ.สงขลา
ครั้งที่ 5 วันที่ 4 เม.ย.2561 เปิดงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้
ครั้งที่ 6 วันที่ 7 ส.ค.2562 ลงพื้นที่ จ.ยะลา เปิดศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.ใหม่ โรงแรมชางลี)
ครั้งที่ 7 วันที่ 20 ม.ค.2563 ครม.สัญจร จ.นราธิวาส
ครั้งที่ 8 วันที่ 15 ธ.ค.2564 ลงพื้นที่ จ.ยะลา และปัตตานี
ครั้งที่ 9 วันที่ 14 มี.ค.2565 เปิดสนามบินเบตง จ.ยะลา และร่วมบินไฟลต์ปฐมฤกษ์
ครั้งที่ 10 วันที่ 11 มี.ค.2566 พบปะผู้นำศาสนามัรกัสยะลา
ครั้่งที่ 11 วันที่ 8 พ.ค.2566 ลงพื้นที่หาเสียงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ครั้งที่ 12 วันที่ 4 ส.ค.2566 ก่อนพ้นจากตำแหน่งนายกฯเพียงไม่กี่วัน ลงพื้นที่เยี่ยมชาวมูโนะ หลังเหตุการณ์โกดังพลุระเบิด
สำหรับ นายกฯเศรษฐา เตรียมลงพื้นที่ปลายเดือนหน้า (ก.พ.2567)
จะเห็นได้ว่า ผู้นำประเทศทุกคนให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะอยู่ในตำแหน่งเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น อดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯเพียง 75 วัน และไม่เคยได้เข้าทำเนียบรัฐบาลเลย แต่ก็ยังลงใต้ 1 ครั้ง
โดยนายกฯ 7 คนที่ผ่านมา มีนายกฯที่นอนค้างคืนในพื้นที่ชายแดนใต้ 2 คน คือ
อดีตนายกฯทักษิณ นอนวัด 2 ครั้ง และอีก 1 ครั้ง นอนค้างคืนที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) จ.ยะลา
อดีตนายกฯประยุทธ์ นอนพื้นที่ 1 ครั้ง ตอนประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 20-21 ม.ค.2563 ครั้งนั้นค้างคืนในค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส
ขณะที่นายกฯเศรษฐา หลังรับตำแหน่งราวๆ 4 เดือนเศษ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566 ได้ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นครั้งแรก เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และกำลังจะลงพื้นที่อีกครั้ง ปลายเดือน ก.พ.2567 ซึ่งเป็นการค้างคืนในจังหวัดชายแดนใต้ครั้งแรกของนายกฯ เศรษฐา
ทั้งนี้ ไม่นับที่ไป จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 เพราะไม่ได้เข้าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปแค่ด่านสะเดา จ.สงขลา แม้จะพบกับนายกฯมาเลเซีย ด้วยก็ตาม
แต่น่าสังเกตว่า 7 นายกฯ 9 รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะลงพื้นที่กี่ครั้ง แต่ไฟใต้ก็ยังไม่ดับมอดลงเสียที