ตามที่มีการแชร์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นข้อความ “จดหมายเปิดผนึกถึง เลขาธิการองค์การสหประชาติและประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” เรื่องขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนต้นของข้อความในจดหมาย ลงวันที่ 6 มกราคม 2566 แต่กลับอ้างถึงเหตุการณ์ที่ีเกิดขึ้นวันที่ 5 มกราคม 2567 นั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามไปยัง น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ หนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งกลุ่มด้วยใจได้ร่วมลงชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกที่ว่านี้ด้วย โดย น.ส.อัญชนา ยืนยันว่า จดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการองค์การสหประชาติ และประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นการยื่นเรื่องจากภาคประชาสังคมในพื้นที่จริง
@@ กางจดหมายเปิดผนึกถึงยูเอ็น
เนื้อหาในจดหมาย อ้างว่า “พวกเราเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอจังหวัดสงขลา ขอเรียกร้องให้หน่วยงานของท่านตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มค. 2567 มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านวัฒนธรรม สื่อมวลชน จำนวน 9 คน ได้รับหมายเรียกเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีความมั่นคงอย่างน้อยสองข้อหา ข้อหายุยงปลุกปั่นมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้กิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมแต่งกายชุดมลายูทุกปีตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาติดต่อกันสี่ปี นักกิจกรรมทั้ง 9 คนมีกำหนดไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ม.ค. 2567 ที่ สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี
ในวาระที่รัฐบาลไทยประกาศเมื่อเดือนกันยายน 2566 ว่าประเทศไทยจะลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ.2025-2027 รัฐบาลได้แสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตย ทั้งยังพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานขององค์การสหประชาชาติ
การดำเนินคดีอาญาข้อหาความมั่นคงปิดกั้นการรวมกลุ่ม (freedom of assembly) ต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ความขัดแย้งในลักษณะกลั่นแกล้งให้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา การดำเนินการของรัฐบาลไทยขัดแย้งกับแนวทางการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาติและบทบาทหน้าที่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง ขอให้ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงตรวจสอบว่าการดำเนินคดีอาญานักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
อีกทั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 มีนักกิจกรรมจำนวนไม่น้อยกว่า 40 คน ถูกออกหมายเรียก บางคนรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญาแล้ว บางคดีสิ้นสุดการพิจารณา และในบางคดีมีการตั้งข้อหาหนักถึงขั้นยุยงปลุกปั่น และข้อหาอาญาด้านความมั่นคงอั้งยี่ซ่องโจร
การดำเนินคดีอาญาต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ตลอดมา สร้างให้เกิดความหวาดกลัว ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็น ปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและการสร้างสันติภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างภาระให้กับนักกิจกรรมท้องถิ่นในฐานะผู้ต้องหา จำเลยในคดีอาญา มีภาระในการหาเงินประกันตัวที่มีจำนวนสูง และการช่วยเหลือทางกฎหมายที่ขาดแคลน
ในบางคดีผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายทหาร เช่น กรณีแม่ทัพภาคที่สี่ ที่แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และส่งผลให้คดีเหล่านี้เป็นคดีที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองให้ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เป็นต้น
ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2566 พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตกเป็นพื้นที่อุทกภัยใหญ่ ขณะนี้อยู่ในระยะเวลาการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ ผู้ได้รับผลกระทบมีทั้งผู้สูงอายุ เด็กและสตรี กลุ่มเยาวชนและนักกิจกรรมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนเต็มศักยภาพในภาวะภัยพิบัติ
การที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ อัยการ ศาล ดำเนินคดีให้นักกิจกรรมเหล่านี้มีภาระทางคดี ทั้งที่พวกเราเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับนโยบายหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐตลอดมา พวกเราเชื่อว่าหน่วยงานความมั่นคงไม่มีเหตุผลทางกฎหมายของการดำเนินคดีอาญาลักษณะนี้ และคดีเหล่านี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งขัดขวางกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนิน ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและเป็นแนวทางของสภาผู้แทนราษฎร
รายชื่อนักกิจกรรมที่ต้องไปรายงานตัววันที่ 9 มกราคม 2567 ที่สภ.สายบุรี ปัตตานี
1. “บง อาลาดี” หรือ มูฮัมหมัดอาลาดี (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม พิธีกรรายการวิเคราะห์การเมือง
2. “Budu Little” หรือ ซูกิปลี หรือ ลีบูดู (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม ศิลปินขับร้องบทเพลงมลายู
3. สอบูรี (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม พิธีกรงานการกุศล
4. มะยุ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ศึกษากระบวนการสันติภาพ) ทำงานช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะเด็กกำพร้าเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี
5. อุสตาส ฮาซัน นักบรรยายประวัติศาสตร์ชื่อดัง
6. มาหมูด (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม
7. ซอลาฮูดิน (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม
8. ซับรี (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม
9. อานัส (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม
นอกจากนี้ ยังมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา นักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม “กลุ่มพ่อบ้านใจกล้า” เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยในหมายเรียกดังกล่าวระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 ม.ค.2567 ที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษชายแดนภาคใต้ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ อ.เมือง จ.ปัตตานี และอีกหลาย ๆ กรณีดังเอกสารแนบท้าย
ข้อเรียกร้องเร่งด่วน
1. ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการฟ้องการดำเนินคดีในลักษณะปิดปาก (SLAPP) ในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และมาตรา 27 ว่าด้วยประเด็นวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา ของชนกลุ่มน้อยในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
2. ขอให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ทวงถามความมุ่งมั่นทางการเมืองของรัฐบาลไทยที่ให้คำมั่นในการลงสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในปีนี้ว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการปิดกั้นการรวมกลุ่มของประชาชนหรือไม่
รายชื่อองค์กรร่วมลงนาม
1. สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CIVIL SOCIETY ASSEMBLY FOR PEACE) หรือ CAP
2. สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา
3. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม-MAC
4. เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมุสลิม - SPAN
5. องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี - HAP
6. กลุ่มด้วยใจ
7. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
8. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ- JASAD
9. สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ PERWANI
10. มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
11. กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม
12. เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ
13. สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานี เพื่อสุขภาวะชุมชน
14. เครือข่ายสตรีปกป้องสิทธิมนุษยชนปาตานี
15. เครือข่ายเยาวชนพิทักษ์สิทธิเพื่อการพัฒนา
16. สถาบันครูเพื่อการวิจัยระบบการศึกษานูซันตรอ
17. เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม
18. องค์กรจิตอาสาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาสังคม
19. เครือข่ายเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต
20. อัดดีนการแพทย์และสาธารณสุข – AD-DIN
21. เครือข่ายคนหนุ่มสาวเพื่อการเปลี่ยนแปลง YouthNet
22. เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี
23. เครือข่ายส่งเสริมจริยธรรมอิสลาม
24. Jaringan Guru Sekolah Melayu/Tadika
25. Pencinta Sejarah Patani
26. เครือข่ายปัญญาชนปาตานี - INSOUTH
27. ศูนย์บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมชน YICE
28. ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา – PUKIS
29. ชมรมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม PICSEB
30. ศูนย์วัฒนธรรมมลายูปาตานี BUMI
31. กลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา
32. The Patani
@@ อ้างข้อมูล 8 กรณี นักกิจกรรมโดนคดี
นอกจากนั้นยังมีเอกสารแนบ เป็นรายชื่อนักกิจกรรมและนักศึกษาที่ถูกใช้กฎหมายปิดปาก หรือ SLAPP (ทีมข่าวอิศรานำเสนอเฉพาะกรณี ไม่ระบุชื่อผู้ต้องหา)
กรณีที่ 1 ปี 2566 : ผู้ต้องหาคดีขัดขวางการปฏิบัติการเจ้าหน้า 138 กรณีขุดศพ นายยัฮรี ดือเลาะ
กรณีที่ 2 ปี 2566 : ผู้ต้องหาคดีขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แย่งศพนักรบ กรณีปะทะที่ศรีสาคร
กรณีที่ 3 ปี 2566 : ผู้ต้องหาข่มขืนใจเจ้าพนักงานและขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรณีปะทะที่ธารโต กรณีไลฟ์สดติดตามสถานการณ์ (กลุ่มสื่อ Wartani)
กรณีที่ 4 ปี 2566 : ผู้ต้องหาคดีให้ที่พักพิงผู้ถูกหมายเรียกคดีความมั่นคง
กรณีที่ 5 ปี 2566 : ผู้ต้องหาคดีขัดขวางการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ กรณีติดตามทำสื่อ ประชาชนแย่งศพนักรบ ที่โรงพยาบาลปัตตานี
กรณีที่ 6 ปี 2566 : ผู้ต้องหาคดีผิดอาญา 116 กรณีเวทีวิชาการและกิจกรรมประชามติ (จำลอง) เอกราช ของ Pelajar Bangsa
กรณีที่ 7 2566 : หมายเรียกพยานในข้อหานำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีเปิดเพจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ชื่อเพจพ่อบ้านใจกล้า
กรณีที่ 8 ปี 2567 : หมายเรียกพยาน (ว่าที่ผู้ต้องหา) เหตุเกิดปี 2565 : กิจกรรมชุมนุมชุดรายอ
@@ จี้ถอนฟ้อง - นั่งโต๊ะคุยกันดีกว่า
น.ส.อัญชนา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมาย ไม่ควรมีการฟ้องนักกิจกรรมเหล่านี้ตั้งแต่แรก และเป็นเรื่องที่สามารถชวนคุยกัน แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันได้ จึงคิดว่าควรจะถอนฟ้องให้หมด และนั่งคุยกัน เพราะเรื่องนี้เป็นการทำลายกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นว่าการเจรจามีความจริงใจหรือไม่
“เรื่องนี้เป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชน เอ็นจีโอ กับรัฐ ทั้งที่ควรจะร่วมมือกันในการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพ” แกนนำกลุ่มด้วยใจ สรุป
@@ ทัวร์ลง “กัณวีร์” โพสต์โวยหมายเรียกนักกิจกรรม
มีความเคลื่อนไหวอีกด้านที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ซึ่งแสดงบทบาทเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ได้โพสต์ข้อความและภาพหมายเรียกนักกิจกรรมในแอปพลิเคชั่น X (ทวิตเตอร์) กรณีเดียวกับที่มีการอ้างเป็นข้อมูลในจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการยูเอ็น
โดยนายกัณวีร์เขียนข้อความให้เข้าใจทำนองว่า แค่แต่งชุดมลายู แต่โดนหมายศาล คดี 116 ยุยงปลุกปั่น
แต่หลังจากโพสต์ของนายกัณวีร์เผยแพร่ออกไป ได้มีผู้ใช้งาน X เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ตำหนิว่า นายกัณวีร์ต่างหากที่พยายามยุยงปลุกปั่นเรื่องนี้ให้สังคมเข้าใจผิด และดูร้ายแรงเกินจริง เพราะ
1.หมายที่นำมาโพสต์ ไม่ใช่หมายศาล แต่เป็นหมายเรียกของตำรวจเท่านั้น
2.ข้อหาที่ออกหมายเรียก เป็นข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก็จริง แต่ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดในหมายเรียกที่อ้างอิงว่าเกี่ยวข้องกับการแต่งชุดมลายู ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย
แต่การออกหมายเรียกน่าจะเป็นการเรียกแกนนำผู้จัดการชุมนุมกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนชายแดนใต้ไปให้ปากคำ เนื่องจากมีการใช้ถ้อยคำ และชูป้ายข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายหรือไม่ โดยกิจกรรมการรวมตัวชุมนุมดังกล่าว เป็นการนัดแนะกันให้แต่งชุดอัตลักษณ์มลายู
ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่การห้ามแต่งชุดมลายู แต่เป็นการออกหมายเรียกแกนนำที่จัดกิจกรรมรวมตัวชุมนุม ซึ่งอาจมีพฤติกรรมบางอย่างหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย และการออกหมายเรียกในชั้นนี้ ก็ยังเป็นชั้นพนักงานสอบสวนเท่านั้น ยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอีกหลายขั้นตอน
@@ เจ้าตัวโร่แจง - รับผิดเรื่องหมาย แต่ยันไม่ควรมีใครโดนคดี
ต่อมาหลังจากโดนทัวร์ลง นายกัณวีร์ได้เข้ามาโพสต์ชี้แจง และไล่ตอบข้อความของคนที่เข้ามาวิจารณ์อีกหลายข้อความ โดยคำชี้แจงของนายกัณวีร์ ยอมรับว่าผิดพลาดจริงๆ ที่โพสต์ข้อความว่าหมายเรียกนี้ คือหมายศาล ทั้งๆ ที่เป็นหมายเรียกของพนักงานสอบสวน แต่เจ้าตัวก็อ้างว่าไม่ควรมีการออกหมายใดๆ กับนักกิจกรรม เพราะถือว่าเป็นการดำเนินคดีเพื่อปิดปาก หรือ SLAPP
นอกจากนั้น นายกัณวีร์ยังตั้งข้อสังเกตเชิงสันนิษฐานว่า การออกหมายเรียกนักกิจกรรมกลุ่มนี้ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการแต่งชุดมลายูแน่นอน