ไฟใต้เดินทางมาใกล้ครบวาระ 20 ปี โดยนับหมุดหมายจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ 413 กระบอก จากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งหลายคนเรียกว่า “วันเสียงปืนแตก”
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถาม “ทีมความมั่นคง” ของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในภารกิจดับไฟใต้ ทั้งในบริบทของกองทัพ และโต๊ะพูดคุยเจรจา น่าตกใจที่ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีอะไรเปลี่ยน และไม่มีความหวังใดๆ”
“ทีมความมั่นคง” ของรัฐบาลเอง วิพากษ์การทำงานองรัฐบาลห้วง 3 เดือนแรกอย่างตรงไปตรงมา
1.การจัดวางตัวบุคคลผู้รับผิดชอบการแก้ปัญหา ไม่มีคนใหม่
2.กลไกราชการที่ใช้ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องไม้ ล้วนเป็นหน่วยงานเดิม หลักๆ คือ กอ.รมน. กองทัพ และ ศอ.บต.
3.ไม่มีการตรวจสอบ ปรับเปลี่ยน หรือ “รีเฟรช” หน่วยงานที่รับภารกิจดับไฟใต้ โดยเฉพาะ กอ.รมน. ซึ่งเปิดอัตรากำลังเยอะมาก และมีกำลังพลจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในส่วนกลาง ไม่ได้ลงไปในพื้นที่จริง แต่ได้รับผลประโยชน์เรื่องวันทวีคูณ และเบี้ยเสี่ยงภัยต่างๆ โดยอัตรากำลังกลุ่มนี้จำนวนหนึ่ง เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่
4.หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นข้าราชการ ซึ่งแม้จะมีประสบการณ์อยู่ในคณะพูดคุยฯมาหลายชุด แต่ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ในการพูดคุยเพื่อดับไฟใต้
5.หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นรองเลขาธิการ สมช. ซึ่งจนป่านนี้ ขึ้นปีงบประมาณใหม่มาเกือบ 3 เดือนแล้ว รัฐบาลก็ยังไม่มีเลขาธิการ สมช.ตัวจริง มีแต่รองฯ ทำหน้าที่รักษาการ และเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย
6.ไม่มีวิธีคิดใหม่ๆ ในการเอาชนะปัญหา คนวงในพูดเชิงส่งสัญญาณกันว่า “ทรงเดิม” แปลว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ และทำต่อไป”
7.ทีมของฝ่ายการเมืองในกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะทีมเลขานุการ รมว.กลาโหม นำโดย “บิ๊กเล็ก” พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ มีบทบาทสูงมากในการกำหนดทิศทางต่างๆ ของภารกิจ กอ.รมน.ในนามรัฐบาล ซึ่งมีนายกฯเศรษฐา เป็น ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง
8.การทำงานการเมืองของพรรคก้าวไกล พร้อมข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ โดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทำให้ฝ่ายผู้เห็นต่างฯ นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น มีความคึกคักในการสร้างพื้นที่สื่อสาร และข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งทำให้ประเมินสถานการณ์ในอนาคตยากขึ้น โดยเฉพาะหากการเมืองเปลี่ยนขั้วขึ้นมาจริงๆ
9.การแก้ปัญหาในวาระ 20 ปีไฟใต้ ยังอยู่ในวังวนเดิม คือ ตั้งคณะพูดคุย แม้แต่รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ก็ทำเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่จนถึงป่านนี้ยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนว่า หัวหน้าสูงสุดของกลุ่มขบวนการที่เรากำลังจะพูดคุยด้วยนั้น คือใครกันแน่ ฝ่ายเรารู้หรือยังว่าเป็นใคร
10.เมื่อทุกอย่างเหมือนเดิม คนเดิม-วิธีการเดิม-วิธีคิดเดิม-หน่วยงานผู้รับผิดชอบเดิม งบประมาณที่ใช้ย่อมเหมือนเดิม ที่ผ่านมาหมดไปกว่า 5 แสนล้านบาทแล้วยังไม่สงบ ยังไม่รู้ว่าหัวหน้ากลุ่มผู้เห็นต่างฯที่เราต้องการพูดคุยเพื่อจบปัญหา คือใครกันแน่
“ทีมความมั่นคง” ของรัฐบาล เสนอพร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่คิดใหม่ ด้วยการชะลอการดับไฟใต้ด้วยการเร่งรีบตั้ง “คณะพูดคุย” แต่มอบหมายให้แม่ทัพภาคที่ 4 จัดการและตัดสินใจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจาก…
-โครงสร้างปัจจุบัน แม่ทัพภาคที่ 4 คุมภารกิจและหน่วยที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ทั้งหมดอยู่แล้ว ทั้ง กอ.รมน. และศอ.บต. (มีคำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดให้ ศอ.บต.ขึ้นกับ กอ.รมน.)
-ฉะนั้นหากจะมีการพูดคุย ก็ให้แม่ทัพภาค 4 ดำเนินการไปเลย ไม่จำเป็นต้องไปตั้งคณะพูดคุยขึ้นมาใหม่
-การตั้งคณะพูดคุยเป็นการเฉพาะขึ้นมา เท่ากับยกสถานะบีอาร์เอ็นเป็นคู่เจรจาของตัวแทนรัฐบาลไทยหรือไม่
นี่คือตัวอย่างของข้อเสนอใหม่ๆ แต่รัฐบาลไม่ได้ขยับเขยื้อนใดๆ ทุกอย่างจึงไม่ต่างอะไรจากเดิม และรอนับวาระไฟใต้ปีที่ 21-22-23…ต่อไป โดยสถานการณ์ก็จะยังทรงๆ อยู่เช่นเดิม
และต้องไม่ลืม...งบประมาณเหมือนเดิม!