งงเอกสารคดีตากใบสูญหาย...ผ่านมา 19 ปีเพิ่งมาบอก
ชาวบ้าน 78 รายตายขาดอากาศหายใจ เกิดขึ้นภายใต้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ต้องฟ้องผู้เกี่ยวข้องในการขนย้าย
คดีนี้เป็นที่สนใจของนานาชาติ
ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือ “ใจความสำคัญ” จากคำสัมภาษณ์ของ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ
อังคณา ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.66 ซึ่งมีวาระพิจารณากรณีการดำเนินคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเป็นจุดเริ่มต้นของข้อมูล “สำนวนคดีตากใบหาย”
“มีผู้ร้องขอให้ กมธ.สอบสวนผลความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 โดยมีผู้เสียชีวิตหน้า สภ.ตากใบ 5 คน ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตากใบ 2 คน เสียชีวิตที่ค่ายอิงยุทธบริหาร 78 คน และสูญหาย 7 คน”
อังคณาเริ่มเล่าที่มาของวาระการประชุมเรื่องตากใบ ก่อนจะได้ข้อเท็จจริงที่ตนเองก็ไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเหมือนกัน...
“ผู้มาให้ข้อมูลที่เป็นผู้แทน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) บอกว่าเมื่อปี 2555 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเยียวยา โดยทาง ศอ.บต.รับผิดชอบดำเนินการเรื่องการเยียวยาด้วยตัวเงิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ จนถึงผู้ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัว จนครอบครัวและผู้เสียหายพึงพอใจ”
“ส่วนทางตำรวจ ทั้ง สภ.ตากใบ ที่รับผิดชอบการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 7 คนหน้า สภ.ตากใบ ที่ภายหลังการสอบสวนไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด จึงมีมติงดการสอบสวน และ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ทำสำนวนไต่สวนการเสียชีวิตของประชาชน 78 คน ที่ค่ายอิงยุทธบริหาร และเสนอต่ออัยการจังหวัดปัตตานี เพื่อพิจารณาส่งศาล ต่อมามีการโอนคดีไปที่ศาลจังหวัดสงขลานั้น ได้ชี้แจงว่า เพิ่งย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ทราบการดำเนินการของคดี แต่ได้พยายามค้นหาสำนวนการไต่สวนการชันสูตรศพ พบว่าสำนวนสูญหาย จึงไม่สามารถดำเนินการต่อได้”
“ส่วนทางอัยการภาค 9 ได้ดำเนินการในคดีตากใบ 3 คดี ฟ้องผู้ชุมนุม รวมถึงไต่สวนการตาย สุดท้ายประนีประนอมกัน รัฐถอนฟ้อง ไม่ติดใจเอาความ แล้วจะมีคดีที่ชาวบ้านฟ้องเรียกค่าเสียหาย สุดท้ายกองทัพบกก็ยินยอมชดใช้ให้ สมานฉันท์ ส่วนกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 78 คน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ ต่อมามีการโอนคดีไปที่ศาลจังหวัดสงขลา ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค.52 อย่างที่รู้ว่า ผู้ตายจากไปด้วยสาเหตุขาดอากาศหายใจ ภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่”
อดีตกรรมการสิทธิฯหญิง ซึ่งได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ขมวดประเด็นที่กลายเป็น “ดราม่าตากใบ” ล่าสุด
“เมื่อตำรวจบอกว่า พอดีศาลไม่ได้ชี้ว่าใครทำให้ขาดอากาศหายใจ และไม่ทราบว่ามีการดำเนินการอะไรต่อ แต่จริงๆ แล้วตามกฎหมาย ศาลบอกว่าตายภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งศาลไม่ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่ทำถูกหรือทำผิด เพราะฉะนั้นจะต้องทำสำนวนส่งศาลใหม่ เพื่อดำเนินคดีและฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายผู้ชุมนุมทั้งหมด ทั้งแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 โดยมีรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระเป็นหลักฐาน”
“ขณะที่ศาลก็มีคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพว่า เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ต้องดำเนินคดีต่อ”
“แต่เนื่องจากกรณีตากใบ ระยะเวลาผ่านมาเกือบ 20 ปี พนักงานอัยการได้ค้นหาสำนวนคดี ได้สอบถามพนักงานสอบสวน ปรากฏว่าไม่พบสำนวนการสอบสวน เนื่องจากสูญหาย ทำให้ผู้ที่มาชี้แจง ทั้งตำรวจและอัยการ ได้เสนอแนะให้ กมธ. เชิญ ผบ.ตร. และอัยการสูงสุดมาชี้แจงและให้ข้อมูลเพิ่มเติม”
อังคณา บอกด้วยว่า ในส่วนของผู้ชี้แจง (ตำรวจและอัยการ) จะตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีสำนวนหายร่วมกัน ส่วน กมธ.ก็มีมติให้ตำรวจและอัยการแจ้งความคืบหน้ากรณีสำนวนสูญหายให้คณะ กมธ.ทราบภายใน 1 เดือนนับจากนี้
“คือผ่านมา 19 ปีแล้ว เพิ่งมาบอกว่าสำนวนหาย” อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าวอย่างอธิบายยาก
อังคณา ย้ำความสำคัญของเรื่องนี้ว่า เอกสารเกี่ยวกับคดี กรรมการสิทธิฯ ผู้สังเกตการณ์คดี และทนายความที่ทำคดีได้เก็บรักษาไว้ เพราะคดีตากใบเป็นที่สนใจของสหประชาชาติ รวมถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี
@@ คดีตากใบยังไม่จบ
มีประเด็นที่ “สำนักข่าวอิศรา” นำเสนอบทสรุปของคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ 4 คดี โดยเฉพาะคดีเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต 78 ราย มีข้อมูลว่า “คดีถึงที่สุดแล้ว” พนักงานสอบสวนเสนอความเห็นไม่ฟ้อง อัยการสั่งไม่ฟ้อง และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นพ้องด้วยนั้น
อ่านประกอบ คดีตากใบ...สำนวนหาย หาไม่เจอ หรือคดีถึงที่สุดไปแล้ว?
อังคณา อธิบายแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนนี้ว่า
1. คดีการเสียชีวิต 78 คน ยังไม่ยุติ แม้ทายาทหรือครอบครัวจะได้รับเงินเยียวยา 7,500,000 บาทไปแล้ว เพราะกรณีผู้สูญเสียที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แตกต่างจากกรณีการเยียวยา “คนเสื้อแดง” กล่าวคือ ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีการทำข้อตกลงว่าจะไม่ติดใจฟ้องทั้งแพ่งและอาญาต่อไป ฉะนั้นคดีจึงยังฟ้องอาญาได้หากยังอยู่ในอายุความ
2.หลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตาย (สำนวนไต่สวนชันสูตรศพ) เมื่อเดือน พ.ค.2552 ตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนส่งอัยการเพื่อฟ้องผู้ทำให้เสียชีวิต หรือญาติอาจฟ้องเองก็ได้ เหมือนคดีอื่นๆ ที่เป็นการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่า ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือเสียชีวิตในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
เช่น คดีน้องฟลุก (ตำรวจยิงปะทะขณะติดตามจับยาเสพติด ย่านสะพานขาว ใกล้แยกมหานาค กรุงเทพฯ) หรือ คดีเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง (คดีแขวนคอวัยรุ่นกาฬสินธุ์ ในยุคประกาศสงครามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน)
3.คดีตากใบ น่าจะยังจบไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับคดีอื่นๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คดีอิหม่ามยะผา (คดีซ้อมทรมาน นายยะผา กาเซ็ง อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตเมื่อเดือน มี.ค.51) เมื่อไต่สวนการตายเสร็จ ตำรวจได้ทำสำนวนส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
ต่อมา ป.ป.ช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่ว่า มีความผิดทั้งวินัยและอาญา คดีอาญาจึงเริ่มเดินหน้า คิดว่าคดีตากใบก็ควรเดินในแนวทางนี้ แต่ข้อเท็จจริงกลับแตกต่างกัน ถือว่าดำเนินการไม่ตรงไปตรงมาหรือไม่