USA Election 2024 : สหรัฐจะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.2024
1.ใครจะแข่งกับใคร?
ขณะนี้คู่ชิงยังเป็น Biden vs. Trump (จากการสำรวจประชามติส่วนใหญ่โดยหลายสถาบันก็ออกมาสูสีกัน)
Biden ได้รับเงินสนับสนุนจากประชาชนแล้ว $91M ขณะที่ Trump ได้ $60M
เงินทุนในการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อปี 2020 Biden ระดมเงินทุนหาเสียงได้ $1B vs. Trump $774M
Biden พูดเป็นการส่วนตัวว่า “ถ้าTrumpไม่ลงแข่งขัน ฉันเองก็คงไม่ลงเหมือนกัน” (อาจเป็นเพราะ Biden อายุ 81 ปีแล้ว)
ถึงแม้ Biden พูดอย่างนี้ แต่ตัวสำรองคนอื่นในพรรคเดโมแครตก็ต้องรักษามารยาทก่อน รอดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือน
2.การเมืองภายในพรรคเดโมแครต
ตัวเด่นสำรองของพรรคเดโมแครต คือ รองประธานาธิบดี Harris, ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย Newsome, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม Buttigieg และอีกหลายคนซึ่งอาจจะเงียบไว้ก่อน และจะเผยตัวทีหลัง
จะมีการซาวเสียงรอบแรกภายในพรรคเดโมแครต วันที่ 23 มกราคม 2024 และจะต้องสรุปชื่อว่าใครเป็นตัวแทนแน่นอนประมาณวันที่ 8 มิถุนายน 2024
3.การเมืองภายในพรรครีพับลิกัน
ส่วนด้านพรรครีพับลิกัน ตัวเก็งก็ยังเป็นอดีตประธานาธิบดี Trump ซึ่งมีคดีอาญาติดตัว 4 คดี รวม 91 กระทง หลายคนในพรรคอยากจะเลือกคนอื่น แต่กระแสการเมืองปัจจุบันนั้นทำให้ต้องระมัดระวังตัว กลัวการโจมตีและกดดันทางโซเชียลมีเดีย และชั้นเชิงทางการเมืองภายในพรรค
แต่ก็ต้องจับตามองดูผู้ท้าชิง ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดา DeSantis, ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาและทูตอเมริกันในสหประชาชาติ Haley, อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซี่ Christie และนักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนหนุ่ม Ramaswamy
อะไรก็เกิดขึ้นได้ในพรรครีพับลิกันเช่นกัน คอยสังเกตดูระหว่างการซาวเสียงรอบแรก จากวันที่ 15 มกราคม 2024 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2024 ซึ่งจะต้องตกลงเลือกจะเอาใครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
4.สภาผู้แทน (House) อาจพลิกเสียงข้างมาก
สภาผู้แทนสมัยที่ 118 ปัจจุบันพรรครีพับลิกันเสียงข้างมาก
แต่อาจพลิกผันได้เนื่องจาก...
-Republican มีที่นั่ง 221 ขณะที่ Democrat มีอยู่ 213
-เพิ่งมีข่าวว่าอดีตประธานสภาผู้แทน Kevin McCarthy ซึ่งเป็นรีพับลิกัน จะลาออกสิ้นปีนี้ จึงทำให้รีพับลิกันเหลืออยู่ 220 คน
-หากเปลี่ยนเพียงแค่ 4 ที่นั่ง เสียงข้างมากก็เปลี่ยน
5.วุฒิสภา (Senate) ก็เสี่ยงต่อการถูกพลิก
ส่วนวุฒิสภา ปัจจุบัน Democrat มี 51 ที่นั่ง ขณะที่ Republican มี 49 ที่นั่ง ทำให้ต้องจับตามองเช่นกัน
6.การเมืองโลกอาจจะเปลี่ยน หากอเมริกันเปลี่ยนผู้นำ
อีกเพียงแค่ 11 เดือน ภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงต่างๆ ของโลกอาจพลิกผันโดยผลการเลือกตั้งในสหรัฐ
พฤติกรรมของนักการเมืองทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายค้านกำลังถูกอิทธิพลของการเลือกตั้งเข้ามาครอบงำ นโยบายในช่วงนี้จะสะท้อนถึงผลแห่งคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
เช่น ราคาน้ำมัน ก็คาดเดาว่าจะอยู่คงที่ในระดับปัจจุบัน ทำเนียบขาวจะเข้าไปแทรกแซงกลไกการผลิต ขนส่ง และจำหน่ายของน้ำมันโลก เพื่อไม่ให้ประชาชนลงโทษในการเลือกตั้ง
อัตราดอกเบี้ย ถึงแม้จะเป็นเรื่องของธนาคารกลาง แต่ก็ต้องดูบรรยากาศของการเมืองด้วย จึงเข้าใจว่าดอกเบี้ยของสหรัฐน่าจะอยู่คงที่ จึงสังเกตเห็นดัชนีหุ้นในสหรัฐเพิ่มขึ้นทางบวก
7.ตัวแปรนอกประเทศ
เรื่องนอกประเทศที่อาจจะมากระทบกระเทือนกับการเมืองภายในประเทศสหรัฐนั้น อาจจะดูร้อนแรง แต่ก็เป็นการหาเสียงไปด้วย ในที่สุดเมื่อถึงเวลาต้องสรุป ทุกฝ่ายก็คงจะจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ
กรณียูเครน ซึ่งงบประมาณสนับสนุนจากสหรัฐจะหมดลงภายในสิ้นปีนี้ และไม่มีท่าทีว่ารัฐสภาจะหาทางออกได้ แม้ทำเนียบขาวจะร้องขอและเตือนให้รีบเร่งด่วน แต่เรื่องนี้ก็ถูกดึงไว้โดยฝ่ายรีพับลิกันซึ่งเป็นฝ่ายค้าน โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะพิจารณางบประมาณช่วยเหลือยูเครน (และอิสราเอล) ก็ต่อเมื่อฝ่ายบริหารคือทำเนียบขาวนั้น “จัดการมาตรการเรื่องชายแดนภาคใต้ของสหรัฐ ควบคุมการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายให้จริงจังและเฉียบพลัน”
แต่ฝ่ายบริหารก็อ้างว่าได้ทำพอสมควรแล้ว และไม่ต้องการให้ฝ่ายค้านตั้งเงื่อนไขเพื่อหาคะแนนทางการเมืองในประเทศ
ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่า การลงทุนกับยูเครนนั้น “คุ้มค่ากับความมั่นคงของประเทศพันธมิตรในยุโรปและกลุ่มสมาชิกนาโต้ ดีกว่าที่จะมาแก้ปัญหาทีหลัง หากรัสเซียยึดครองยูเครนได้”
จึงคาดว่าความช่วยเหลือด้านงบประมาณต่อยูเครนคงจะต่อไปอีก แม้จะทุลักทุเลบ้าง
ส่วนกรณีของอิสราเอลนั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังเห็นความสำคัญว่าอิสราเอลต้องอยู่ได้ด้วยความมั่นคง ซึ่งจะคุ้มค่าสำคัญในแง่ของทรัพยากรน้ำมัน และลดความเสี่ยงต่อสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกันชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับก็ได้เสียงสนับสนุนจากคนหนุ่มสาวโดยทั่วไป โดยเฉพาะการแสดงความเห็นและประท้วงประปรายในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งภาพลักษณ์ของการโจมตีฉนวนกาซาโดยกองทหารของอิสราเอลนั้น เพิ่มกระแสสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มากขึ้นทุกวัน
และหากทำเนียบขาวบริหารเรื่องการประชาสัมพันธ์ไม่รอบคอบพอ ก็อาจจะนำมาสู่คะแนนนิยมที่ลดลง และเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นตัวพลิกผลการเลือกตั้งในปีหน้าได้
คาดว่างบประมาณช่วยเหลืออิสราเอลคงจะผ่านรัฐสภาได้ในที่สุด
ส่วนกรณีของจีนนั้น ความรู้สึกทั่วไปของชาวอเมริกันก็ต่างจากเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว คือมองจีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวและไม่น่าไว้ใจ จึงทำให้การยกปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับจีนในทางลบมาเป็นเครื่องมือหาเสียงนั้น เป็นสิ่งที่ทำการแพร่หลายทั้งสองพรรคการเมือง
แต่อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันที่มีการศึกษาและมีประสบการณ์นอกประเทศ ก็จะร่วมกันใช้การสื่อสารทุกวิถีทาง รวมทั้งโซเชียลมีเดีย และการติดต่อโดยตรงกับนักการเมืองในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ได้รับจากความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมใน 4 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเป็นที่น่าทึ่ง
และประเด็นสำคัญคือชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังแยกออกระหว่าง “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” ซึ่งพวกเขาถือว่าลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และเป็นเผด็จการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน และมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างมากจากทางตะวันตก กับ “ชาวจีน” ซึ่งเป็นพลเมืองและประชากร ความหมายคือเพื่อนมนุษย์
ชาวจีนยังได้รับไมตรีและโอกาสในสหรัฐไม่แตกต่างมากจากเมื่อก่อน
เช่น จำนวนชาวจีนโพ้นทะเลในสหรัฐปัจจุบันมีจำนวนกว่า 5,200,000 คน (อินเดีย 4,500,000 คน) และหากรวมกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอื่นๆ แล้ว กลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก
การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้ว ปี ค.ศ. 2020 Biden ได้ 62% จากชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ต่อ Trump 34%
8.ตัวแปรม้ามืด
สงครามนิวเคลียร์ โรคระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ภัยธรรมชาติรุนแรง และอย่างอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เราต้องเตรียมพร้อมด้วยความไม่ประมาทและปรับตัวให้ได้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งในสหรัฐจะออกมาเป็นอย่างไร หรือมีตัวแปรม้ามืดตัวใดที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน
หมายเหตุ : บทความโดย กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ จากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
------------------------------
ขอบคุณภาพประกอบเรื่อง - https://th.usembassy.gov/th/summary-of-the-u-s-presidential-election-process-th/