มีมุมวิเคราะห์จาก รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา
ข้อมูลของอาจารย์ฐิติวุฒิ ลงลึกในรายละเอียดจุดยืนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน่าสนใจ และอาจทำให้มุมมองที่มีต่อสถานการณ์ในเมียนมา แตกต่างจากสื่อตะวันตก และผู้เชี่ยวชาญฝั่งตะวันตกมอง
ประเด็นแรก ความพร่ามัวของปฏิบัติการ 1027 ทำให้คนทั่วไปเข้าใจไขว้เขวว่า กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ได้แก่ กลุ่มโกกั้ง, กลุ่มอาระกัน และกลุ่มตะอ้าง จับมือเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่นกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็น “รัฐบาลเงา”
จริงๆ แล้วทั้ง 3 กลุ่มมีจุดยืนคนละอย่าง
กลุ่มโกกั้ง - ต้องการเขตพื้นที่ทางเศรษฐกิจคืน นับตั้งแต่สูญเสียไปให้กับฝ่ายที่เป็นพันธมิตรของกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนด้านที่ติดกับจีน ของรัฐฉานตอนเหนือ
นี่คือความทับซ้อนระหว่างความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ กับปัจจัยแทรกเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับ “ทุนสีเทา” ที่เข้ามาจากจีน หรือแม้กระทั่งการแบ่งเขตพื้นที่เพื่อทำธุรกิจผิดกฎหมาย
กลุ่มตะอ้าง - เป็นการเปิดฉากสงครามนอกเหนือจากการสู้รบกับกองทัพเมียนมาที่ทางกลุ่มถูกรุกไล่ทางเขตภาคใต้ของรัฐฉาน
กลุ่มอาระกัน - มีเป้าหมายต้องการการปกครองแบบสมาพันธรัฐ และเป็นยุทธวิธีการขยายแนวรบนอกเขตรัฐอาระกัน หรือ รัฐยะไข่ ไปสู่รัฐฉานตอนเหนือ
ประเด็นที่ 2 จุดหักเหของสงคราม เกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายกองทัพรัฐบาลทหารเปิดแนวรบหลายสมรภูมิเกินไป ได้แก่
- ในเขตรัฐอาระกัน
- ในเขตรัฐคะฉิ่น
- ในเขตรัฐชิน
ทั้ง 3 พื้นที่อยู่ในภูมิภาคตะวันตกของประเทศ
และยังเปิดแนวรบในภาคตะวันออก คือ
- รัฐคะยา
- กะเหรี่ยง
ทั้งหมดทำให้พันธมิตรทางภาคเหนือ (พันธมิตรสามภราดรภาพ) มองเห็นความอ่อนแอของกองทัพเมียนมา จึงสบช่องในการเปิดปฏิบัติการในเขตรัฐฉานตอนเหนือ และไปสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของจีนที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของตนในพื้นที่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ทั้งในรัฐฉานตอนเหนือ ในเขตอิทธิพลของกลุ่มว้า และใน สปป.ลาว
จากสภาพการณ์ดังกล่าว กลายเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ราชสีห์ติดจั่น” ที่สะท้อนการถูกปิดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (เปิดแนวรบหลายสมรภูมิ สุดท้ายกลายเป็นพื้นที่สู้รบปิดล้อมตัวเอง) และเป็นการคำนวณกลยุทธ์ที่ผิดพลาดทั้งกระดาน
ส่งผลให้กองทัพเมียนมาไม่สามารถขยับหรือทุ่มเทสรรพกำลังในการรบทั้งประเทศได้เหมือนในอดีต หรืออาจจะกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์การเจรจากับหนึ่งกลุ่มเพื่อไปรบกับอีกหนึ่งกลุ่ม ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารได้ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง
@@ เมียนมาแตก-ไม่แตก?
ประเด็นที่ 3 เป็นประเด็นที่กำลังวิจารณ์กันมาก คือ การเพลี่ยงพล้ำของกองทัพเมียนมา ถูกตั้งคำถามว่าเมียนมาจะแตกหรือไม่
ประเด็นนี้ อาจารย์ฐิติวุฒิ บอกว่า ไม่ใช่คำถามเกินจริงแต่อย่างใด แต่จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆควบคู่กันไปด้วย ดังต่อไปนี้
1.จำนวนการวางอาวุธของทหารเมียนมา ซึ่งในปัจจุบันพบว่ากำลังใจของทหารเมียนมาในการรุกรบมีความถดถอยเป็นอย่างยิ่ง หากกองกำลังฝ่ายต่อต้านและกลุ่มชาติพันธุ์เปิดโอกาสให้มีการวางอาวุธ และใช้กฎการปะทะอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติกับทหารเมียนมาที่วางอาวุธ (ไม่โจมตีซ้ำ) จะยิ่งทำให้ทหารเมียนมาหันมาให้ความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น
2.หากกองทัพเมียนมายังไม่สามารถเรียนรู้วิธีการเจรจา และการยุติสงครามกลางเมืองครั้งใหม่นี้ได้ จะยิ่งทำให้กองทัพถดถอยและหลังชนกำแพงในที่สุด
โดยเฉพาะการมุ่งตราหน้ากลุ่มต่อต้านว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และปิดประตูการเจรจาทุกทาง เพราะสถานะของสงครามไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แม้กองทัพรัฐบาลจะได้เปรียบในแง่กำลังคนและอาวุธ แต่การสนับสนุนของประชาชน กลยุทธ์ และการใช้เทคโนโลยี ปรากฏว่าฝ่ายต่อต้านเหนือกว่ามาก ส่งผลให้ในภาพรวมของสงคราม กองทัพรัฐบาลตกเป็นรอง
ฉะนั้นหากกองทัพเมียนมายังยืนยันใช้กำลังปราบปรามต่อไป โอกาสเพลี่ยงพล้ำยิ่งมีสูง เหตุนี้เองการเจรจาทางการเมืองอาจเป็นการหาทางลงที่ดีที่สุดสำหรับผู้นำรัฐบาลทหาร
@@ จับตาหา “คนกลาง” เปิดเจรจานอกประเทศ
แต่สิ่งที่ต้องตระหนัก ก็คือ การเจรจาน่าจะต้องเกิดภายนอกประเทศ และต้องมี “คนกลาง” ในการเจรจา ซึ่งในอดีตกองทัพเมียนมาปฏิเสธกลไก 2 เรื่องนี้มาโดยตลอด
ฉะนั้นระยะเวลานับจากนี้ไป จึงท้าทายอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้นำรัฐบาลทหาร เพราะเกือบ 3 ปีของสงครามภายในประเทศ กองทัพมีแต่ความถดถอย
อย่างไรก็ดี อาจารย์ฐิติวุฒิ ประเมินว่า เมียนมาจะไม่แตกภายในระยะเวลาอันใกล้ ในความหมายของการแตกเป็นรัฐย่อยๆ เพราะการแตกเป็นประเทศจะต้องได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย
แต่ในระดับพื้นที่จะมีการแบ่งเขตการปกครองในระดับกลุ่มชาติพันธุ์ซ้อนทับกันไปมา และหากกองทัพเมียนมายังตัดสินใจใช้วิธีการปราบปรามแบบเดิม กลางปีหน้าอาจจะได้เห็นพัฒนาการของสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
อาจเข้าขั้นเป็นรัฐล้มเหลวโดยสมบูรณ์!
----------------------
หมายเหตุ : ภาพธงสัญลักษณ์ของ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ พันธมิตรสามภราดรภาพ (จากซ้าย) โกกั้ง, ตะอ้าง, อาระกัน