ใกล้ครบ 20 ปีปล้นปืน 20 ปีไฟใต้เต็มที...
เรามี “overview ไฟใต้” หรือ “ภาพรวมความไม่สงบปลายด้ามขวาน” มาให้ได้พิจารณากัน
ข้อมูลนี้รวบรวมมาล่าสุด นับตั้งแต่ 4 ม.ค.47 ถึง 31 ส.ค.66
1.สถิติการสูญเสีย
เสียชีวิต รวม 4,577 ราย (นับเฉพาะสถานการณ์/เหตุความมั่นคง)
ประชาชนมากที่สุด 2,733 ราย
รองลงมาคือทหาร 623 นาย ตำรวจ 410 นาย
ปีที่สูญเสียมากที่สุด คือ 2550 - 723 ศพ / ต่ำสุด 2564 - 40 ศพ
บาดเจ็บ รวม 11,349 ราย (นับเฉพาะสถานการณ์/เหตุความมั่นคง)
ประชาชนมากที่สุด 6,182 ราย
รองลงมาคือทหาร 2,994 นาย ตำรวจ 1,712 นาย
2.รูปแบบความรุนแรง
รวมทุกเหตุการณ์ ทุกรูปแบบ 10,392 เหตุการณ์
ยิง มากที่สุด 4,468 เหตุการณ์
รองลงมาคือระเบิด 3,736 เหตุการณ์ วางเพลิง 1,527 เหตุการณ์
ปีที่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ที่สุด คือปี 2550 - 1,821 เหตุการณ์ / ต่ำสุด 2563 - 54 เหตุการณ์
ตัวเลขที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำมาเปิดเผยนี้ คือตัวเลขทางการ ไม่ใช่องค์กรใดนับกันเอง แต่เป็นตัวเลขที่พิสูจน์แล้วจากหน่วยงานรัฐ 3 ฝ่าย ลงมติร่วมกัน (ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง) ว่าเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ หรือที่เรียกว่า “เหตุความมั่นคง” จริงๆ ไม่มีเหตุส่วนตัว หรือล้างแค้น ทวงหนี้ ชู้สาว ฯลฯ
เพราะตัวเลขนี้ถูกนำไปโยงกับการจ่ายเงินเยียวยาตามกฎหมาย จึงค่อนข้างแม่นยำและเป็นทางการ แม้จะคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ก็ไม่มาก
ที่น่าตกใจคือ ตัวเลขเงินเยียวยาเหยื่อความรุนแรงทุกรูปแบบ จ่ายไปแล้ว 20 ปีงบประมาณ (2547-2566) รวม 4,278 ล้านบาทเศษ
นี่คือราคาของความขัดแย้งและความรุนแรงที่คนไทยทุกคนต้องจ่ายร่วมกัน ไม่นับความสูญเสียชีวิตและร่างกาย ที่ประเมินค่ามิได้จริงๆ
ในแง่ของการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “งบดับไฟใต้” ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2566 รวม 20 ปีงบประมาณนั้น
ใช้เม็ดเงินที่กำหนดอยู่ใน “แผนงานดับไฟใต้” เป็นการเฉพาะ และแผนงานอื่นที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน รวมทั้งสิ้น 492,451.43 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ 4.9 แสนล้านบาท หรือเกือบ “ครึ่งล้านล้าน” นั่นเอง
เมื่อแยกแยะงบประมาณที่ใช้จ่ายรายปีงบประมาณ จะมีตัวเลขดังนี้
ปีงบประมาณ 2547-2559 แผนงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี 2547 จำนวน 13,451 ล้านบาท
ปี 2548 จำนวน 13,675 ล้านบาท
ปี 2549 จำนวน 14,208 ล้านบาท
ปี 2550 จำนวน 17,527 ล้านบาท
ปี 2551 จำนวน 22,898 ล้านบาท
ปี 2552 จำนวน 20,991.60 ล้านบาท
ปี 2553 จำนวน 15,902 ล้านบาท
ปี 2554 จำนวน 19,387.80 ล้านบาท
ปี 2555 จำนวน 16,487.80 ล้านบาท
ปี 2556 จำนวน 21,124.90 ล้านบาท
ปี 2557 จำนวน 24,152.40 ล้านบาท
ปี 2558 จำนวน 25,686.50 ล้านบาท
ปี 2559 จำนวน 30,512.80 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2560-2566 แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี 2560 จำนวน 12,510.11 ล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 13,255.74 ล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 11,924.27 ล้านบาท
ปี 2563 จำนวน 10,641.91 ล้านบาท
ปี 2564 จำนวน 9,563.34 ล้านบาท
ปี 2565 จำนวน 6,912.07 ล้านบาท
ปี 2566 จำนวน 6,208.92 ล้านบาท
จากตัวเลขงบประมาณดับไฟใต้ตาม “แผนงานบูรณาการฯ” ในยุค คสช. ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า ตัวเลขงบประมาณแต่ละปีลดต่ำลงอย่างมาก เรียกว่าลดลงหลายเท่าตัว
แต่เมื่อไปเจาะหาตัวเลขงบประมาณที่ซ่อนอยู่ในแผนงานอื่น ทว่าอ้างอิงถึงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน กลับพบว่าในแต่ละปียังมีงบซุกซ่อนอยู่ในหน่วยงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมๆ แล้วอีกราวๆ 165,430.27 ล้านบาท
นี่คือราคาที่คนไทยทุกคนต้องจ่ายให้กับความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นกัน
@@ งบพูดคุยจิ๊บๆ ปีละ 20 ล้าน แต่มีพ่วง?
สำหรับงบประมาณเฉพาะกิจกรรม “พูดคุยดับไฟใต้” ตั้งไว้หลวมๆ ปีละ 20 ล้านบาท และตัวเลขที่แต่ละคณะใช้ จะไม่หนีไปจากนี้มากนัก ไม่นับการดึงงบจากหน่วยประจำ เช่น สมช. หรือ กอ.รมน. มาใช้ในภารกิจเฉพาะหน้าบ้าง
งบสำหรับ “พูดคุยดับไฟใต้” ดูตัวเลขแล้วไม่มาก แต่ “งบเกี่ยวเนื่อง” ที่เป็นผลประโยชน์ด้านเม็ดเงินงบประมาณที่บางหน่วยงาน และข้าราชการบางกลุ่มได้รับ ยังมีอีกจำนวนมาก เช่น โครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งหาตัวเลขรวมไม่ได้ว่าใช้งบเท่าใดแน่ และนำมาแจกแจงยาก เนื่องจากบางส่วนเป็น “งบลับ”
ที่สำคัญหากดูไส้ในของโครงการลักษณะนี้ จะพบผู้เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานเดิม และคนหน้าเดิม ซึ่งท่านๆ เหล่านั้นอาจจะรักและเป็นห่วงภาคใต้มาก อยากให้สงบเร็วๆ จึงทำโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังรายหนึ่ง บอกใบ้ไว้ในรายการโทรทัศน์ที่ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “กลุ่มคนมีสี” ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ไฟใต้ และกระบวนการพูดคุยมากที่สุด!
---------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกบางส่วนจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี