แปลกแต่จริง...ที่การแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา กลับตามมาด้วยเสียงวิจารณ์เชิงลบ แทนที่จะสร้างความหวังสันติสุขให้เกิดขึ้นเหมือนชื่อคณะพูดคุย
ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็เชื่อว่า การพูดคุยเจรจา คือการหาทางออก “บนโต๊ะ” ที่มีโอกาสสำเร็จมากที่สุดในการยุติความขัดแย้ง โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเหมือนที่ผ่านๆ มา
แต่คณะพูดคุยฯชุดนี้ ตั้งแต่ตัวหัวหน้าคณะ และโครงสร้าง ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากผู้รู้และนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์มานาน
และนับเป็นครั้งหนึ่งที่ “คณะพูดคุยดับไฟใต้” ได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมากขนาดนี้
พูดถึงคณะพูดคุยดับไฟใต้ มาปรากฏเป็นข่าวช่วง 10 ปีหลังมานี้เอง เพราะเป็นการพูดคุยในรูปแบบ “เปิดเผย-บนโต๊ะ” และ “อย่างเป็นทางการ” ทำให้ต้องมีการตั้งคณะพูดคุยโดยรัฐบาล และมีการเผยแพร่รายชื่อ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ต่อสาธารณะ
ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือคู่เจรจา คู่สนทนาบนโต๊ะพูดคุย (แล้วแต่จะเรียก ว่าจะใช้คำว่า “เจรจา” หรือ “พูดคุย”) ก็ต้องเปิดเผยหน้าตา และชื่อเช่นเดียวกัน ชื่อจริงบ้าง ชื่อปลอมบ้าง ก็ว่ากันไป…
“ทีมข่าวอิศรา” ขอใช้คำว่า “คณะพูดคุยดับไฟใต้” เป็นคำกลาง เพราะชื่อของคณะพูดคุย เปลี่ยนไปตามความต้องการของแต่ละรัฐบาล บ้างก็ใช้ชื่อ คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ, แล้วก็เปลี่ยนเป็นคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และคณะพูดคุยสันติสุข ไม่มี “เพื่อ”
ก่อนตั้งรัฐบาลชุดนี้ พรรคประชาชาติเคยหาเสียงว่า ต้องเปลี่ยนชื่อคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่ใช้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อล้างคราบไคลทหาร ล้างภาพฝ่ายกองทัพควบคุมกระบวนการพูดคุยเจรจา โดยเสนอให้ใช้ “คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ” เหมือนในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทน (อ้างว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน)
แถมยังอ้างเหตุคำว่า “สันติภาพ” มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “สันติสุข” และต้องมี “สันติภาพ” เสียก่อน จึงจะเกิด “สันติสุข” ได้
แต่ไปๆ มาๆ รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ซึ่งมีพรรคประชาชาติร่วมอยู่ด้วย กลับใช้ชื่อคณะพูดคุยฯว่า คณะพูดคุยสันติสุขฯ มีส่วนคล้ายชื่อคณะพูดคุยฯยุค พล.อ.ประยุทธ์ ตัดแค่คำว่า “เพื่อ” ออก แต่ไม่ใช้คำว่า “สันติภาพ” ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด และไม่แน่ชัดว่าพรรคประชาชาติรู้สึกอย่างไร
“คณะพูดคุยดับไฟใต้” นับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งประเดิมการพูดคุยในรูปแบบ “เปิดเผย-บนโต๊ะ” เป็นครั้งแรกของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนับเป็นคณะพูดคุยชุดแรกนั้น เกิดขึ้นในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ นัดพบกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ คือ กลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 28 ก.พ.2556 นับถึงวันนี้ก็เกือบ 11 ปีแล้ว
แต่การพูดคุย เจรจา มีมาก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 20 ปี “ศูนย์ข่าวอิศรา” เคยบันทึกประวัติศาสตร์การพูดคุยเจรจาเพื่อดับไฟใต้เอาไว้ว่า มีขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2536 ที้่ประเทศซีเรีย โดยฝ่ายกองทัพเป็นหัวหน้าคณะ (อ่านประกอบ : เปิดแฟ้มหน่วยข่าว...ย้อนรอย 20 ปีเจรจาดับไฟใต้)
“การเจรจา” ระยะหลังมีการขอให้เลี่ยงใช้ โดยเสนอให้ใช้คำว่า “พูดคุย” แทน เพื่อไม่ให้มีผลผูกมัดทางกฎหมาย และพยายามรักษาภาพไม่ให้มีการต่อรองกันมากเกินไป เพราะมองอย่างอุดมคติว่า ทั้งสองฝ่ายก็เป็น “คนไทยด้วยกัน” น่าจะพูดคุยกันและจะจบปัญหาความขัดแย้งได้
ย้อนดูโครงสร้างคณะพูดคุยฯ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีมาแล้ว 4 ชุด (เฉพาะในรูปแบบ เปิดเผย - บนโต๊ะ) ประกอบด้วย
// ชุดแรก - รัฐบาลยิ่งลักษณ์ //
ชื่อ : คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
หัวหน้าคณะ : พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.
คณะพูดคุย :
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รอง ผอ.ศปป.5 กอ.รมน.
นายประมุข ลมุล ผู้ว่าฯ ปัตตานี
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการ
นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4
ข้อสังเกต : แกนหลักของคณะพูดคุยเกือบทั้งหมด เป็นข้าราชการประจำ และสังกัดหน่วยงานความมั่นคง
// ชุดที่ 2 - รัฐบาลลุงตู่ 1 //
ชื่อ : คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
หัวหน้าคณะ : พล.อ.อักษรา เกิดผล
คณะพูดคุย : ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ
-สภาความมั่นคงแห่งชาติ
-กระทรวงยุติธรรม
-กระทรวงต่างประเทศ
-กอ.รมน.
-กองทัพบก
-กองทัพภาคที่ 4
-สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
-ผู้ทรงคุณวุฒิ
-นักวิชาการ
ข้อสังเกต : โครงสร้างคณะพูดคุยฯ เต็มไปด้วยข้าราชการประจำเช่นกัน โดย พล.อ.อักษรา ขณะทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ยังรับราชการทหารในตำแหน่ง ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก
// ชุดที่ 3 - ปลายรัฐบาลลุงตู่ 1 ปี 61-62 //
ชื่อ : เหมือนคณะก่อนหน้า (คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้)
หัวหน้าคณะ : พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หรือ “บิ๊กเมา” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
คณะพูดคุย : ใช้โครงสร้างเดิมชุด พล.อ.อักษรา
ข้อสังเกต : “บิ๊กเมา” ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุย เกษียณอายุราชการแล้ว แต่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
// ชุดที่ 4 - รัฐบาลลุงตู่ 2 //
ชื่อ : คณะพูดคุย “เพื่อ” สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
หัวหน้าคณะ : พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช.
คณะพูดคุย : ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
-กองทัพภาค 4
-กอ.รมน.
-สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
-สันติบาล
-กระทรวงยุติธรรม
-สภาความมั่นคงแห่งชาติ
ข้อสังเกต : โครงสร้างคณะพูดคุยฯ ยังเต็มไปด้วยข้าราชการ แต่หัวหน้าคณะ คือ พล.อ.วัลลภ ขณะรับตำแหน่ง เกษียณจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.พอดี
// ข้อสังเกตเพิ่มเติม //
1.หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ตั้งแต่คนแรก ถึงคนที่ 4 มียศทหารนำหน้าทั้งหมด แม้บางคนจะไม่ได้มาจากกองทัพโดยตรง แต่ก็เป็นอดีตทหาร บางคนอยู่ในราชการ บางคนเกษียณแล้ว
สะท้อนว่ามุมมองของรัฐไทย รัฐบาลไทยทุกชุด ให้น้ำหนักงานพูดคุยเจรจาดับไฟใต้เป็นงานความมั่นคง และให้ทหารเป็นหน่วยนำ
2.หน่วยงานที่มีบทบาท “ซอฟต์พาวเวอร์” ในพื้นที่ อย่าง ศอ.บต. ปรากฏว่าตัวเลขาธิการ ศอ.บต. เคยเป็นแกนนำคณะพูดคุยในชุดแรก ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้น คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
จากนั้นอีก 3 ชุดในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โครงสร้างของคณะพูดคุยไม่มีตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.อยู่เลย หากมีก็เป็นระดับ “คณะกรรมการอำนวยการ” หรือ “คณะกรรมการระดับชาติ” ไม่ใช่ระดับที่ไปเปิดโต๊ะพูดคุยโดยตรง
กระทั่งมาถึงคณะพูดคุยชุดล่าสุด ที่มี นายฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะ ที่มีการใส่ชื่อเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นหนึ่งในคณะพูดคุย และได้ลดผู้แทนจากฝ่ายทหารลง เหลือเพียงผู้แทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 เพียงแค่หน่วยงานเดียว
3.ดูเหมือนกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ของไทยจะอยู่ในวังวนของการตั้งชื่อ และเปลี่ยนตัวบุคคลตามการเปลี่ยนรัฐบาล แต่ยังไม่เคยเห็นผลงานการพูดคุยที่ใกล้เคียงกับคำว่าสำเร็จ หรือได้รับชัยชนะ หรือสถาปนาสันติภาพ สันติสุข ให้เกิดขึ้นได้เลย
---------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกบางส่วนจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี