จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องเผชิญฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน เฝ้าระวังปัตตานีทุกอำเภอเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ยะลาชาวสะเตงนอกได้รับผลกระทบ 678 ครัวเรือน เขื่อนบางลางปรับแผนระบายน้ำรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ขณะที่ตลาดสดเบตง ผักสดราคาพุ่งเท่าตัว เหตุสภาพอากาศแปรปรวน
วันศุกร์ที่ 24 พ.ย.66 กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศฉบับที่ 2 (299/2566) แจ้งว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน โดยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ทำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ไปยังแจ้ง 10 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 24-30 พ.ย.66 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
@@ เฝ้าระวังปัตตานี เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันทุกอำเภอ
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีดังนี้
1.พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงระหว่างวันที่ 24–30 พ.ย. ได้แก่ จ.สงขลา (อ.เมืองสงขลา อ.กระแสสินธุ์ อ.ระโนด อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร), จ.ปัตตานี (ทุกอำเภอ), จ.ยะลา (อ.เมืองยะลา อ.รามัน), จ.นราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส อ.จะแนะ อ.เจาะไอร้อง อ.ตากใบ อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงปาดี) และ จ.สตูล (อ.ท่าแพ อ.มะนัง อ.ละงู)
2.พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ในช่วงระหว่างวันที่ 24–27 พ.ย.66 ได้แก่ จ.สงขลา (อ.เมืองสงขลา อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.จะนะ อ.เทพา), จ.ปัตตานี (อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น) และ จ.นราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส อ.ตากใบ)
@@ เขื่อนบางลางปรับแผนระบายน้ำ
นายสุรศักดิ์ ดาราสุริยงค์ หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง วันที่ 22 พ.ย. เห็นชอบปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลางจาก 8 ล้านลูกบาศก์เมตร (92.59 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) เป็น 6 ล้านลูกบาศก์เมตร (69.44 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที)
ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. และในช่วงวันที่ 24-27 พ.ย.66 ให้ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลางลดลงเป็น 4 ล้านลูกบาศก์เมตร (46.30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) เพื่อรองรับน้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 25-29 พ.ย.
ส่วนในช่วงวันที่ 2-30 พ.ย. ให้ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลางเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านลูกบาศก์เมตร (69.44 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที)
ทั้งนี้ หากปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ท้ายน้ำ ช่วงวันที่ 24-25 พ.ย. ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีประสานงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนบางลาง จะปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลางเป็น 2 ล้านลูกบาศก์เมตร (23.15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) โดยจะได้ทำการแจ้งไปยังคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง และประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างเพื่อรับทราบต่อไป
@@ น้ำท่วมยะลา ชาวสะเตงนอกเดือดร้อน 678 ครัวเรือน
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดยะลา ได้รายงานพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย.ที่ผ่านมา พื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา อ.รามัน และ อ.บันนังสตา 4 ตำบล 15 หมู่บ้าน หลายพื้นที่ขณะนี้เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากปริมาณฝนลดลง
ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ รอการระบาย ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะเตงนอกได้รับผลกระทบกว่า 678 ครัวเรือน 2,711 คน ซึ่งทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ได้ส่งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งบริเวณหมู่ 6 ต.สะเตงนอก เพื่อเร่งสูบน้ำระบายลงพื้นที่ท้ายน้ำ
ขณะที่ทางจังหวัดยะลาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้พิจารณาขุดถนนของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 2 เส้น เพื่อเปิดเส้นทางน้ำ วางท่อขนาดใหญ่ เร่งระบายน้ำลงพื้นที่ีท้ายน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
สถานการณ์ภาพรวมทั้งจังหวัดขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะฝนในพื้นที่ลดลง ขอให้ประชาชนติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ยังได้ฝากไปยังผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด กรณีลงเล่นน้ำ อย่าให้คลาดสาดตา เพื่อลดความสูญเสีย
@@ อากาศแปรปรวน ทำผักสดราคาพุ่งเท่าตัว
ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจราคาผักสดตามแผงผักต่างๆ พบว่ามีการปรับราคาขึ้นเกือบทุกชนิด อาทิ ผักขึ้นฉ่าย ก่อนหน้านี้ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท ผักกวางตุ้ง เดิมราคากิโลกรัมละ 30 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท กะเพราเดิมกิโลกรัมละ 60 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 100 บาท
กะหล่ำดอกม่วง หรือกะหล่ำลาว เดิมกิโลกรัมละ 50 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท กะหล่ำปลีเดิมกิโลกรัมละ 35 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ผักบุ้งเดิมกิโลกรัมละ 35 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 70 บาท ต้นหอมเดิมกิโลกรัมละ 100 บาทป รับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 150 บาท คะน้าเดิมราคากิโลกรัมละ 35 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท พริกสดเดิมกิโลกรัมละ 70 บาท ปรับขึ้นเป็น 150 บาท
พ่อค้าผักรายหนึ่ง กล่าวว่า ราคาผักสดในตลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังปกติ แต่พออากาศเริ่มหนาวขึ้น และมีฝนตกบางพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ราคาผักสดปรับขึ้นอย่างน่าตกใจ ทำให้ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อผักไปทำอาหารต่างบ่นตามๆ กันว่าราคาผักสดช่วงนี้แพงมาก
“ส่วนสาเหตุที่ผักสดส่วนใหญ่ปรับขึ้นราคา เพราะสวนผักต่างๆ ที่มีการเพาะปลูกผักเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ กำลังประสบกับปัญหาเรื่องอากาศหนาวเย็น ทำให้มีน้ำค้างแรงในช่วงกลางคืน ผักที่ปลูกจึงชะลอการเจริญเติบโต เพราะเจอสภาพอากาศแปรปรวน และในบางพื้นที่เกิดฝนตกหนักติดต่อกันมาหลายวัน แปลงปลูกผักของเกษตรกรบางรายประสบปัญหาผักเน่าตายคาต้น และเป็นโรคต่างๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคกลับเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลทำให้ราคาผักพุ่งสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีกในสัปดาห์หน้า” พ่อค้าผัก ตลาดสดเบตง กล่าว