ศาลทหารพิพากษาจำคุก 2-4 ปี จำเลย 8 คนในคดีร่วมกันทำร้าย “พลทหารวิเชียร” จนเสียชีวิต เหตุเกิดในค่ายทหารชายแดนใต้ เผยข้อหาหลักเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต ปิดฉากการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของครอบครัวที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 12 ปี
เมื่อเวลา 09.00 น.วันศุกร์ที่ 24 พ.ย.66 ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 นัดฟังคำพิพากษา ครั้งที่ 3 ในคดีการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2554
คดีนี้ศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ส.ค.66 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.66 โดยศาลได้ชี้แจงเหตุผลในทำนองว่า คดีนี้เป็นคดีที่ต้องมีการพิจารณาหลายประเด็นโดยละเอียด และนี้อยู่ในเขตพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก จึงตัองส่งให้หัวหน้ามณทลทหารบกพิจารณา จึงไม่สามารถทำคำพิพากษาให้แล้วเสร็จได้ทัน
ล่าสุด น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “สิ้นสุดการต่อสู้กับอำนาจ ยศ และเงิน เอาคนผิดทุกนายให้ออกจากราชการของกองทัพบก และได้รับโทษจำคุก ตลอดระยะเวลา 12 ปี 5 เดือนกว่าที่ลุกขึ้นสู้ไม่ถอยเพื่อตามหาความยุติธรรมในคดีพลทหารวิเชียร เผือกสม ตั้งแต่เพิ่งขึ้นปี 2 จนถึงตอนนี้ เมย์ผ่านเรื่องราวมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นข่มขู่ครอบครัว ถูกขู่ฆ่า คนมีอำนาจช่วยเหลือคนผิด ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม และการกลายเป็นผู้ต้องหาถูกจับกุมตัว
วันนี้เมย์ทำสำเร็จแล้วนะคะ เมย์พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ความถูกต้องและความยุติธรรมอยู่เหนืออำนาจและเงิน ถึงเป็นลูกนายพล มีทหารยศใหญ่ที่เลือกพวกพ้องมากกว่าความถูกต้องช่วยเหลือทุกขั้นตอน แต่ถ้าทำผิดก็ได้รับโทษทางกฎหมาย
วันนี้ 24 พ.ย.66 ที่ มณฑลทหารบกที่ 46 มีคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ร้อยโทลูกนายพล จำคุก 2 ปี (คนที่แจ้งความจนเมย์ถูกจับกุมตัวเป็นผู้ต้องหา และใช้เวลาต่อสู้ 3-4 ปี จนอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง)
จำเลยที่ 2 ร้อยตรี จำคุก 4 ปี
จำเลยที่ 3 จำคุก 3 ปี
จำเลยที่ 4-5, 7-9 จำคุก 2 ปี
จำเลยที่ 6 เสียชีวิต
จำเลยที่ 10 หลบหนีตามหมายจับศาลทหาร
ทั้งนี้ศาลทหารไม่มีอุทธรณ์และฎีกา สิ้นสุดแค่การตามหาความยุติธรรม แต่ไม่สิ้นสุดหน้าที่ความรับผิดชอบ สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ตามกองทัพบกเรื่องไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทน 7 ล้านบาทที่ใช้ภาษีประชาชนจ่ายให้กับครอบครัวเมย์ในคดีแพ่ง โดยกองทัพบกต้องตามไล่เบี้ยคืนจากจำเลยทั้ง 10 คนมาคืนให้กับเงินภาษีตามกฎหมายต่อไป”
คดีนี้สืบเนื่องจาก พลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเป็นพลทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 สังกัด ร.151 พัน.3 ถูกกระทำการละเมิดซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหารรวม 9 คน ณ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายจากการบาดเจ็บสาหัส ไตวายเฉียบพลัน และกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแร งในวันที่ 5 มิ.ย.2554 ขณะอายุเพียง 26 ปี โดยระบุการลงโทษมาจากสาเหตุหลบหนีทหาร
ต่อมาพนักงานอัยการศาลทหารเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทหารยศร้อยโทกับเจ้าหน้าที่ทหารรวม 9 คน เป็นจำเลยในคดีดำที่ 41 ก./ 2563 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา
สำหรับในการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ยื่นหนังสือขอเข้าสังเกตการณ์คดี เมื่อวันที่ 17 พ.ย 66 เพื่อขอเข้าฟังศาลมณฑลทหารบกที่ 46 อ่านคำพิพากษาในนัดดังกล่าว และศาลได้อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมฟังคำพิพากษาในครั้งนี้อีกด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังเผยแพร่ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ว่า...นับแต่ปี 2554 ก็เป็นเวลา 12 ปีเศษที่แม่และครอบครัวยังคงต่อสู้ เรียกร้อง และเฝ้ารอเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และนำผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษให้ได้ แต่แล้วเมื่อศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษา ครอบครัวของพลทหารวิเชียรและญาติสนิทได้เดินทางมาร่วมรับฟังคำพิพากษาก่อนหน้านี้ทั้ง 2 นัด ซึ่งได้เดินทางมาจากจังหวัดสงขลา ใช้ระยะเวลาเดินทางจากบ้านไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง ต้องเสียค่ารถ ค่าน้ำมัน และค่าอาหาร สำหรับการเดินทางมาฟังคำพิพากษาจำนวนมาก แต่กลับต้องได้รับฟังคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาทั้ง 2 ครั้ง (25 ส.ค.66, 26 ต.ค.66) ย่อมสร้างภาระ ความเสียใจให้กับครอบครัวของพลทหารวิเชียรมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
หากนับแต่วันสืบพยานเสร็จสิ้น วันที่ 24 มิ.ย 66 จนถึงวันที่ศาลพิพากษาตัดสิน วันที่ 24 พ.ย 66 เป็นเวลา 6 เดือน ที่ครอบครัวของพลทหารวิเชียรยังคงรอความเป็นธรรม
ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าการแจ้งเหตุการเลื่อนนัดก่อนถึงวันนัด สามารถกระทำได้หลากหลายวิธีการ ดังนั้นจึงขอให้ศาลทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเป็นสำคัญ หากมีแนวทางใดที่จะช่วยอำนวยประโยชน์ให้ครอบครัวของพลทหารวิเชียรได้ย่อมจะช่วยเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อีกทางหนึ่งด้วย