โค้งสุดท้ายก่อนการประชุมสรรหาของกรรมการอิสลาม 40 จังหวัด 816 คน เพื่อให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนใหม่ คนที่ 19
กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้วันที่ 22 พ.ย.2566 เป็นวันจัดประชุม
นับถึงขณะนี้ยังคงมีแคนดิเดตจำนวน 3 คนตามที่ “ทีมข่าวอิศรา” เคยเปิดข้อมูลไป ประกอบด้วย
นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี
ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
จากการลงพื้นที่สำรวจเสียงประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในประเทศ มีจำนวนมัสยิดมากที่สุดในเมืองไทย โดยถามมุมมองว่าอยากได้จุฬาราชมนตรีแบบไหน
คำตอบจากคนส่วนใหญ่ที่ไปสอบถามก็คือ อยากได้จุฬาราชมนตรี คนที่ 19 เป็น “สายกลาง” มีบทบาทการเจรจาในมิติต่างๆ ที่สำคัญ, เคร่งครัดและนำพาประชาชาติอิสลามไปในทางที่หลักศาสนาบัญญัติ และมีบทบาทร่วมแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
รุสดี บาเกาะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า จุฬาราชมนตรีต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นจุฬาราชมนตรี ขั้นแรกเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอยู่แล้ว แค้สำหรับในพื้นที่สามจังหวัด จะทำอย่างไรให้จุฬาราชมนตรีมีบทบาทแก้ปัญหาทั้งด้านศาสนาและด้านความมั่นคงด้วย คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนจะต้องตระหนักและต้องสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัตินี้ให้ได้
“จริงๆ แล้วคนสามจังหวัดต้องการจุฬาราชมนตรีที่มาจากคนในพื้นที่นี้เอง เพราะมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทย 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเราสามารถสรรหาคนจากพื้นที่ เราก็จะได้จุฬาฯที่รู้ปัญหามากที่สุดและรู้ความต้องที่แท้จริงของคนพื้นที่”
“ต้องยอมรับว่าคนพื้นที่สามจังหวัดมีความเคร่งครัดเรื่องศาสนามากกว่าคนพื้นที่อื่น แต่ด้วยสถานการณ์ ความเร่งรีบในการจัดประชุม จึงจำเป็นที่ต้องหาคนนอกพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องอยู่ในสายกลาง ไม่เอียงทางใดทางหนึ่ง ยึดหลักการ เช่น การออกอีดหรือรายอที่ไม่ตรง ต้องไม่ทำ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก ต้องคุยกับคนส่วนมาก ต้องยืดหยุ่น รับฟัง เพราะแข็งเกินไปก็เป็นปัญหา อ่อนเกินก็จะยิ่งเป็นปัญหากว่า ต้องยึดหยุ่นและคุยในบางประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อหาทางออกให้ได้จริง” รุสดี กล่าว
ขณะที่ อับดุลเราะหมาน สาแม คอเต็บ หรือผู้แสดงธรรมประจำมัสยิดสะเตง จ.ยะลา กล่าวว่า จุฬาราชมนตรีต้องเป็นแบบอย่างให้คนทั่วประเทศไทย ซึ่งหาไม่ยาก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีหลายคนที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกประการตามที่อัลกุรอานกล่าวไว้
ส่วน ปรัชญา อิจิ นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การเลือกจุฬาราชมนตรี หากมองจากปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ก็ต้องเป็นคนสายกลาง ไม่สร้างความขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“อยากได้แบบจุฬาฯคนเก่า ที่ทำมาให้เห็น มีความสำเร็จ และทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ที่สำคัญจุฬาราชมนตรีต้องมีบทบาทเรื่องการเมือง ต้องยอมรับว่าบางทีต้องมี เป็นตัวประสานในมิติต่างๆ ได้ เช่น ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความไม่สงบที่เกิดขึ้น จุฬาราชมนตรีก็ต้องมีบทบาทด้วย ส่วนเรื่องหลักศาสนาก็แน่นอนอยู่แล้วต้องมี”
เมื่อถามถึงแคนดิเดตที่เปิดชื่อมา 3 คน นายปรัชญา บอกว่า ส่วนตัวมองว่า ดร.วิสุทธิ์ มีความสามารถ มีศักยภาพพร้อม ก็เห็นด้วยหากจะได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี
“เราต้องการคนที่มีแผนงานการทำงานที่ชัดเจน มีงานเป็นรูปธรรม ตอนนี้หลายมัสยิดก็ได้นำแนวทางของ ดร.วิสุทธิ์ ที่ทำเป็นตัวอย่างไปต่อยอดและประสบความสำเร็จ”
อิสมะแอ ดอเลาะ ชาวปัตตานี กล่าวว่า จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 อยากได้ที่เป็นสายกลาง เก่ง และเคร่งครัดศาสนาที่ถูกต้องตามหลัก สามารถนำประชาชาติอิสลามดำเนินชีวิตไปตามหลักศาสนบัญญัติ
“จริงๆ ถ้าจะให้ดีควรเลือกหลังจากที่ได้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่ทั้งหมด แล้วค่อยมาเลือกจุฬาฯ แต่ก็มีอะไรที่ทำให้ต้องเร่งรีบ เพราะการเมืองบ้านเราก็เป็นอย่างที่หลายคนรู้ๆ อยู่” เขาตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย