กิจกรรมแถลงผลงานในโครงการ “ลบ-ล้างประวัติอาชญากรรม” สำหรับผู้ที่เคยมีชื่อติดแบล็กลิสต์ แต่ไม่ได้มีคดีอยู่จริง เช่น คดียกฟ้องไปแล้ว คดีขาดอายุความไปแล้ว ฯลฯ
เป็นกิจกรรมที่ “บิ๊กตำรวจ” นำโดย “บิ๊กต่อ” กับ “บิ๊กโจ๊ก” ร่วมแถลงกับ “บิ๊กวี” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พ.ย.66 นั้น
จริงๆ แล้วเป็นการดำเนินการในมิติ “ธุรการ” คือ อัพเดตข้อมูลของหน่วยงานเอง และลบชื่อที่ซ้ำซ้อนหรือข้อมูลผิดพลาดออกไปเท่านั้น ยังไม่ได้มีกฎหมายออกมารองรับการดำเนินการเพื่อจัดระบบข้อมูลประวัติอาชญากรอย่างมีหลักการ และเป็นมืออาชีพ ป้องกันการรั่วไหล หรือถูกนำไปเปิดเผย จนสร้างความเสียหายต่อตัวเจ้าของประวัติเอง
เรื่องนี้ กระทรวงยุติธรรมมีโครงการสานต่อ ด้วยการเสนอร่างกฎหมายที่ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม” เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ์ประชาชนแบบถาวร ยั่งยืน
หลักการและเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้คือ
1.แก้ปัญหาที่ทำให้ผู้พ้นโทษไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในสังคมได้ โดยเฉพาะการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานหรือสถานประกอบการที่ตรงกับความรู้ความสามารถของตนภายหลังการพ้นโทษมาแล้วได้
2.สาเหตุสำคัญคือการที่บุคคลเหล่านั้นมีประวัติอาชญากรรมติดตัว ยากแก่การที่สังคมหรือผู้คนรอบข้างจะวางใจรับเข้าทำงาน
3.ปัญหานี้กลายเป็นเหตุให้ผู้เคยต้องโทษ หรือเคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ
4.ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการประวัติการกระทำความผิด นับตั้งแต่การเปิดเผยและไม่เปิดเผยประวัติอาชญากรรม หรือการเปิดเผยประวัติอาชญากรรมโดยตลอด สำหรับคดีที่มีความสำคัญและกระทบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสังคม กับการให้โอกาสผู้กระทำความผิดในการกลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
@@ เงื่อนไขไหน “เปิด” หลักเกณฑ์ไหน “ต้องปิด”
สำหรับร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม มีจำนวนทั้งสิ้น 28 มาตรา สาระสำคัญคือ
1.กำหนดนิยามคำว่า “ประวัติอาชญากรรม” หมายความว่า ข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในคดีอาญา
จะสังเกตเห็นว่า จะมีการบันทึกประวัติอาชญากรรมเฉพาะคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดในทางอาญาแล้วเท่านั้น
2.กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรม มีรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
3.กำหนดห้ามเปิดเผยประวัติอาชญากรรมภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
-เจ้าของประวัติอาชญากรรมได้กระทำขึ้นในขณะเป็นเด็กหรือเยาวชน
-เจ้าของประวัติได้รับการล้างมลทินตามกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินแล้ว
-พ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่พ้นโทษตามคำพิพากษา
-กระทำความผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษ ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือความผิดอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
ที่สำคัญยังกำหนดให้เจ้าของประวัติมีสิทธิปฏิเสธถึงการมีอยู่ของประวัติอาชญากรรมของตนได้
4.การเปิดเผยข้อมูลประวัติอาชญากรรม จะทำได้เฉพาะบางกรณีที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เช่น
-เปิดเผยให้แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี
-เปิดเผยเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใดๆ รวมถึงการขึ้นทะเบียนหรือขอรับใบอนุญาตต่างๆ
การร้องขอให้เปิดเผยประวัติอาชญากรรม ต้องขอต่อนายทะเบียน
-กำหนดฐานความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงที่ต้องมีการเปิดเผยประวัติอาชญากรรมโดยตลอดและกำหนดพฤติการณ์ที่ต้องมีการเปิดเผยประวัติอาชญากรรมโดยตลอด
ฉะนั้้นเจ้าของประวัติกลุ่มนี้ แม้เจ้าของประวัติอาชญากรรมจะได้รับการล้างมลทิน หรือพ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่พ้นโทษตามคำพิพากษาแล้ว ก็ให้เปิดเผยประวัติอาชญากรรมได้
ยกตัวอย่าง กลุ่มที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง หรือกระทำผิดซ้ำ ตามกฎหมาย JSOC หรือ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565
5.กำหนดบทลงโทษสำหรับบุคคลที่นำข้อมูลประวัติอาชญากรไปเปิดเผย โดยขัดต่อเงื่อนไขกฎหมาย หรือโดยไม่มีอำนาจ
@@ “ทวี”ลงนามเสนอร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ
ช่วงนี้กระทรวงยุติธรรมเร่งเสนอกฎหมายดีๆ อีกหลายฉบับ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ... ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป
โดยร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ วิถีทางเพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือจิต สุขภาพ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้พ้นโทษ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่ออื่น การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง ความคิดเห็นอื่น อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้
ร่างกฎหมายฉบับนี้สอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนรัฐธรรมนูญของไทยเองฉบับปัจจุบัน โดยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. มีจำนวนทั้งหมด 48 มาตรา