ผบ.ตร. พร้อมด้วย รมว.ยุติธรรม ร่วมเปิดงาน “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” ลุยลบ-ล้างประวัติอาชญากรรม คืนชีวิตใหม่ให้คนไทย ตะลึงข้อมูลอัพเดตหลังคัดแยกบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร พบโดนคดีจริงแค่ 3.7 ล้านคน จาก 13 ล้าน คืนสิทธิให้ประชาชนได้กว่า 9.3 ล้านรายทั่วประเทศ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร., พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกิจกรรม “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน”
โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 2 ปี เพราะปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบประวัติของบุคคลจำนวนมาก เพื่อคัดกรองบุคคลเข้าทำงาน โดยประชาชนต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงาน
ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เคยมีประวัติถูกดำเนินคดีอาญา แต่ศาลพิพากษายกฟ้องหรือ พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้ถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสกลับไปใช้ชีวิตใหม่ ทำให้ขาดรายได้ และอาจทำให้ต้องก่ออาชญากรรม หรือเข้าสู่วงจรอาชญากรรม
@@ ยึดหลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์”
โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็น ผบ.ตร. จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีรายการที่ยังไม่เคยมีการรายงานผลคดีถึงที่สุดในฐานข้อมูลกองทะเบียนประวัติอาชญากร จำนวนกว่า 13 ล้านรายการ ภายในระยะเวลา 1 ปีเศษ สามารถลบหรือคัดแยกประวัติอาชญากรรมให้แก่บุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ได้ จำนวนประมาณ 2 ล้านรายการ
ต่อมาได้มีการจัดทำหลักการใหม่ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ภายใต้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ หรือ Presumption Of Innocence กล่าวคือ ในคดีอาญาหากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
@@ แยก 3 ทะเบียน 11 กรณีถอนประวัติ
จากนั้นได้ปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่
1.ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา
2.ทะเบียนประวัติอาชญากร
3.ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร
และปรับปรุงหลักเกณฑ์การถอนประวัติออกจากฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร กล่าวคือ
-มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
-ยกฟ้อง
-มีกฎหมายยกเลิกความผิดนั้น
-ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีผลเป็นที่น่าพอใจ
-ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม
-มีกฎหมายล้างมลทิน
-ได้รับการอภัยโทษ
-ไม่มีการกระทำความผิดซ้ำภายใน 20 ปี
-ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน
-มีคำพิพากษาใหม่ว่ามิใช่ผู้กระทำความผิด
-คดีขาดอายุความ
@@ ฮือฮาอาชญากรโดนตีตราหายกว่า 9 ล้านราย
เมื่อได้ปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากรให้เป็นปัจจุบัน ผลการแบ่งทะเบียนในการจัดเก็บข้อมูล และหลักเกณฑ์การคัดแยกประวัติอาชญากรรมตามระเบียบนี้ ทำให้มีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรเพียง 3,729,173 ราย จากทั้งหมด 13,051,234 ราย สามารถคืนสิทธิให้กับประชาชนจากโครงการนี้จำนวนกว่า 9.3 ล้านคน
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพื่อจะไม่เสียสิทธิ เช่น โทษเมาแล้วขับ จะไม่ใช่อาชญากร แต่ในส่วนของบริษัทเอกชนแต่ละบริษัท มีหลักเกณฑ์มาตรฐานในการรับคนทำงานไม่เหมือนกัน แต่ยอมรับว่าโครงการนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100% แต่จะพยายามแก้ปัญหาให้คนได้รับสิทธิมากที่สุดในการกลับไปใช้ในชีวิตปกติในสังคม
@@ เปิดเว็บให้ประชาชนเช็คได้เอง
ขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับปรุงการให้บริการประชาชนในการตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นผู้ที่อยู่ในโครงการลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชนหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ www.crd-check.com เมื่อท่านมีชื่ออยู่ในโครงการ หมายความว่าประวัติอาชญากรรมของท่านได้ถูกทำการคัดแยก และถอนประวัติเรียบร้อยแล้ว
@@ “ทวี” ลุยต่อ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราพูดเสมอว่า เราจะธำรงไว้ซึ่งความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หรือความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ มนุษย์ทุกคนมีคุณค่า มีความสำคัญและมีศักดิ์ศรี
ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ย่อมได้รับการคุ้มครอง การบันทึกประวัติอาชญากรทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินแล้วเป็นอาชญากร ก็คือการกระทำโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
“โครงการที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำขึ้น สมควรได้รับรางวัลที่สุดในด้านสิทธิมนุษยชน เราควรผลักดันให้เป็นกฎหมาย และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มความเห็นของคนที่พ้นโทษ โดยกระทรวงยุติธรรมได้จัดทำพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นพระราชบัญญัติที่จะส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีการเสนอไป ครม.แล้ว”
@@ ยกย่อง ตร.สุดกล้าหาญ
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า หนึ่งในการขจัดการเลือกปฏิบัติ ก็คือเลือกปฏิบัติต่อผู้พ้นโทษ เมื่อวันนี้ได้พ้นโทษมาแล้ว แต่มีระเบียบ มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้พ้นโทษ ดังนั้นเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรม คือหลักที่กฎหมายเป็นใหญ่กว่าคน กฎหมายและกฏระเบียบจะต้องต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้นกฎระเบียบอะไรที่ไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้มีการพิจารณาด้วย
“ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้ปลดโซ่ตรวน ปลดความเป็นทาสของบุคคล ขอขอบคุณและขอชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กล้าหาญ เพราะไม่มีหน่วยงานไหนกล้าทำ” พ.ต.อ.ทวี ระบุ