มีความคืบหน้าจากข่าวที่ “ศูนย์ข่าวอิศรา” รายงานเอาไว้ เรื่องกำหนดการของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เตรียมพบปะกับ นายกฯมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ 27 พ.ย.ที่จะถึงนี้
กำหนดการพบปะเป็นกำหนดการด่วน และมีการส่งสัญญาณในแนว “หารือลับดับไฟใต้” แสวงหาความร่วมมือ 2 ประเทศ เพื่อบีบพื้นที่ สกัดเสรีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ใช้พื้นที่ของทั้งสองประเทศในการก่อเหตุ หลบหนี และกบดาน
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบกับข้าราชการในพื้นที่ ทั้งจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และฝ่ายความมั่นคง ได้รับการยืนยันว่า จะมีการพบปะกันระหว่างนายกฯเศรษฐา กับนายกฯมาเลเซีย จริงตามที่เป็นข่าว
โดยแผนเดิม นายกฯเศรษฐาจะเดินทางลงพื้นที่ วันที่ 29 พ.ย. โดยจะไปที่ด่านศุลกากรสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งเป็นด่านชายแดนที่มีมูลค่าสินค้าส่งออกและนำเข้าสูงสุดด่านหนึ่งของประเทศ
วัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ คือมอบนโยบายเรื่องสินค้าฮาลาล และหารือเรื่องอาคารด่านศุลกากรที่ก่อสร้างใหม่ แต่ติดปัญหาความล่าช้าในการเปิดใช้บริการ โดยมีกำหนดการจะพบปะกับนายกฯมาเลเซียอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว
แต่ปรากฏว่า วันที่ 29 พ.ย. นายกฯอันวาร์ ติดภารกิจสำคัญ จึงขอเลื่อนและเปลี่ยนวันพบปะ เป็นวันที่ 27 พ.ย.แทน
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ยอมรับว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีหารือกันในประเด็นความมั่นคง เพื่อจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่ แต่ก็ได้ข่าวมาเช่นกัน และกังวลว่าหากมีการกวาดล้างหรือจับกุมกลุ่มที่หลบหนีไปอยู่ฝั่งมาเลเซียจริง เกรงว่าจะกระทบกับผู้ที่ไปทำมาหากิน เป็นแรงงานร้านต้มยำกุ้ง (ร้านอาหารไทยในมาเลเซีย) ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนชายแดนใต้ที่ข้ามไปทำงาน มีเงินส่งกลับมาดูแลครอบครัวได้มากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ส่วนพื้นที่ที่จะพบปะกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ ข่าวล่าสุดแจ้งว่าเปลี่ยนเป็นด่านศุลากากรสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อหารือกันเรื่องสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย แห่งที่ 2 ในพื้นที่สุไหงโก-ลก ซึ่งติดขัด และหยุดชะงักไปนาน ทั้งๆ ที่หากเดินหน้าก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว จะช่วยสร้างเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศได้มากมาย
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ให้ข้อมูลว่า หากมีความร่วมมือกันของสองประเทศเพื่อจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะระยะหลังการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ มีการส่งคนและส่งยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง มาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะฝั่ง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และพื้นที่ใกล้เคียง