ยังคงตกเป็นหัวข้อวิจารณ์อย่างต่อเนื่องสำหรับคำแถลงของนายกฯเศรษฐา เมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการหาเงินมาใช้ในโครงการ “ดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท”
โดยเฉพาะการตัดสินใจ “ลุยไฟ” ด้วยการเสนอออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยเสนอเป็นพระราชบัญญัติ ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
เรื่องนี้ถูกแกนนำพรรคฝ่ายค้านและอีกบางฝ่ายมองว่าเป็นการ “หาทางลง” ให้กับโครงการที่ไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะสุดท้ายกฎหมายกู้เงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ โดยไม่มีเหตุผลชัดเจนมากพอ ไม่น่าจะผ่านสภาไปได้ หรือหากใช้เสียงข้างมากลากไปได้ ก็ไม่น่าจะผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญ
ในประเด็นข้อกฎหมาย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกูรูด้านกฎหมายการเงินการคลัง เขียนบทความแจกแจงเอาไว้อย่างชัดแจ้ง ว่าแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ และกฎหมายวินัยการเงินการคลังฯ ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นฐานอ้างอิงในการออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็น Fake Law เพื่อเลี่ยงทั้งกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ และรัฐธรรมนูญ
ที่สำคัญไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขของการออกกฎหมาย และสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะตีตกแน่นอน โดยรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วย!!!
บทความของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต ไล่เรียงเหตุผลเอาไว้แบบนี้...
การแจกเงินดิจิทัลโดยการกู้เงินตามมาตรา 53 กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ไม่อยู่ในข่ายจำเป็นเร่งด่วนและวิกฤติของประเทศ
ผมได้เคยทักท้วงว่า การแจกเงิน “ดิจิทัล” เป็นการจ่าย “เงินแผ่นดิน” ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 บัญญัติไว้ ดังนี้.....
“การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ....”
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สร้าง Fake News เพื่อใช้ Fake Law ขึ้นมาใหม่ โดยใช้การกู้เงินตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติไว้ในตอนท้ายของรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ที่อนุญาตให้จ่ายเงินแผ่นดินได้ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
มาตรา 53 บัญญัติเงื่อนไขไว้ในวรรคหนึ่ง ดังนี้
“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้โดยอาศัยกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีจำเป็นที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน......”
การแจกเงิน “ดิจิทัล” ไม่อยู่ในข่ายหลักเกณฑ์ตามมาตรานี้ คือ
1. “ต้องจำเป็นโดยเร่งด่วน” รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังมักจะอ้างอยู่เสมอว่าการจ่ายเงินในกรณีนี้นั้น มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ไม่เคยอธิบายถึงหลักเกณฑ์จำเป็นเร่งด่วนไว้เลย
ฉะนั้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาที่จะอ้างคำนี้ ผู้เขียนขอนำหลักเกณฑ์การจ่ายเงินและการก่อหนี้ผูกพันของสหรัฐที่ยู่ในข่ายจำเป็นเร่งด่วนมาเพื่อเป็นกรณีศึกษา ดังนี้
1.1 กรณีเหตุจำเป็นอย่างไม่มีทางเลี่ยง (Necessary)
1.2 กรณีเหตุการณ์กะทันหัน (Sudden)
1.3 กรณีเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที (Urgent)
1.4กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ (Unforeseen)
1.5 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว (Not Permanent)
2. ต้องเพื่อ “แก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ” หมายถึง ในสถานการณ์ที่ประเทศตกอยู่ในอันตรายล่อแหลม เช่น ในภาวะสงคราม การเกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง แต่กรณีแจกเงินดิจิทัลเป็นเพียงวิกฤติของรัฐบาลเศรษฐาที่สร้าง Fake News ขึ้นมา และในที่สุดก็ไม่อาจหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ได้เท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากวิกฤติของประเทศแต่อย่างไรเลย
การใช้มาตรา 53 ของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เป็นการกู้เงินที่ไม่มีเพดานจำกัด เป็นเงินนอกงบประมาณที่ไม่ต้องส่งเข้าเป็นเงินคงคลัง เป็นข้อยกเว้นนอกเหนือกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้และมีเพดานการกู้เงินไว้ชัดเจน
การจะใช้มาตรา 53 ที่นำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างผิดที่ผิดทาง และมีบทบัญญัติที่เป็นการทำลายวินัยการเงินการคลังเสียเอง อันขัดกับชื่อว่าเป็นกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
แม้จะใช้เสียงข้างมากในสภาผ่านไปได้ แต่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตกเป็นโมฆะได้ และรัฐบาลเศรษฐาจะต้องออกเพราะเหตุนี้ ครับ